ปีงบประมาณ หรือ ปีงบการเงิน (อังกฤษ: fiscal year, financial year หรือ budget year) เป็นช่วงเวลาที่ใช้สำหรับคำนวณงบการเงินประจำปีในธุรกิจและองค์กรอื่น ๆ ในหลายเขตอำนาจตามกฎหมาย กฎข้อบังคับเกี่ยวกับการบัญชีและการเก็บภาษี จะต้องอาศัยรายงานเหล่านี้อย่างน้อยครั้งหนึ่งต่อสิบสองเดือน แต่ไม่จำเป็นว่าช่วงเวลาที่รายงานนี้จะต้องตรงกับปีตามปฏิทิน คือเดือนมกราคมถึงธันวาคม ปีงบประมาณอาจแตกต่างกันไปในธุรกิจและประเทศต่าง ๆ ปีงบประมาณยังหมายถึงปีที่ใช้สำหรับรายงานภาษีเงินได้

ปีงบประมาณของราชการไทย

แก้

ในสมัยก่อน ปีงบประมาณเริ่มต้นในเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่ของไทยในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ก็ได้เปลี่ยนวันเริ่มต้นปีงบประมาณมาเป็นเดือนตุลาคมแทน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ให้เหตุผลหนึ่งว่า เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีวันหยุดราชการมาก ดังนั้นกว่าที่จังหวัดต่าง ๆ จะได้รับงบประมาณก็เลยไปถึงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนที่เริ่มฤดูฝนแล้ว ทำให้ทำงานต่าง ๆ ได้ลำบาก อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม 2484 และเปลี่ยนวันเริ่มต้นปีงบประมาณเป็นเดือนมกราคมด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. 2502 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502[1] เปลี่ยนวันที่เริ่มต้นปีงบประมาณกลับมาเป็นเดือนตุลาคมดังเดิม โดยให้วันที่ 1 ตุลาคมขอปีหนึ่งถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไปเป็น "ปีงบประมาณ" โดยใช้ปี พ.ศ. ที่ถัดไปนั้นเป็นชื่อสำหรับปีงบประมาณ ปัจจุบัน ยังได้ยึดถือปฏิบัติใช้ตามนี้อยู่

ไตรมาสในปีงบประมาณของราชการไทย จึงต่างจากไตรมาสของปีปฏิทิน ดังนี้

  • ไตรมาสที่ 1 หมายถึงช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม
  • ไตรมาสที่ 2 หมายถึงช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม
  • ไตรมาสที่ 3 หมายถึงช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
  • ไตรมาสที่ 4 หมายถึงช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน

อ้างอิง

แก้