ปลาหมอแคระฟิลาเมนโตซัส
ปลาหมอแคระฟิลาเมนโตซัส | |
---|---|
ปลาตัวผู้ (♂) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
วงศ์: | Cichlidae |
วงศ์ย่อย: | Geophaginae |
สกุล: | Dicrossus |
สปีชีส์: | D. filamentosus |
ชื่อทวินาม | |
Dicrossus filamentosus (Ladiges, 1958) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาหมอแคระฟิลาเมนโตซัส (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dicrossus filamentosus) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง จำพวกปลาหมอแคระ ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)
จัดอยู่ในสกุลไดครอสซัส หรือปลาหมอแคระลายตารางหมากรุก มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอแคระลายตารางหมากรุกชนิดอื่น ๆ คือ ลำตัวเรียวยาว ปากแหลมเล็ก พื้นลำตัวมีสีขาวหรือเทา มีจุดสีเข้มรูปสี่เหลี่ยมสองแถวตามแนวยาวลำตัวแลดูคล้ายตารางหมากรุก มีความยาวไม่เกิน 2-4 นิ้ว แต่ปลาหมอฟิลาเมนโตซัสมีรูปร่างที่เล็กและเพรียวกว่าปลาชนิดอื่น ๆ ร่วมสกุล ปลาตัวผู้เมื่อโตเต็มที่แล้วจะเป็นสีส้มและสีม่วงช่วงกลางลำตัว แผ่นปิดเหงือกและครีบต่าง ๆ มีความแวววาวเป็นมันเลื่อม มีหางเปียยาวยื่นออกมาทั้งขอบบนและขอบล่าง ซึ่งลักษณะหางเช่นนี้จะไม่ปรากฏในปลาชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน
จัดเป็นปลาหมอแคระลายตารางหมากรุก ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากที่สุด พบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ เช่น แอมะซอน, เนโกร, ทาปาโฆส หรือโอริโนโค
ในการนำเข้าสู่ตลาดปลาสวยงาม มักจะเป็นปลาที่ถูกจับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติคราวละเป็นจำนวนมาก ทำให้มีราคาซื้อขายที่ไม่แพง และมีเพียงพอต่อความต้องการสม่ำเสมอ สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในที่เลี้ยง แต่ก็เป็นไปโดยยากโดยเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ผู้เลี้ยงต้องกระตุ้นให้ปลาเกิดการเพาะขยายพันธุ์เอง เช่น ทำให้น้ำที่ใช้เลี้ยงเกิดเป็นน้ำวนมีออกซิเจนเพิ่ม หรือใช้น้ำที่ีมีความกระด้างต่ำมาก หรือปรับสภาพให้มีความเป็นกรดสูง เป็นต้น เมื่อปลาวางไข่และฟักเป็นตัวแล้ว แม่ปลามักย้ายลูกปลาที่ยังมีถุงไข่แดงติดกับตัวไปไว้ที่อื่น โดยมากจะเป็นขอนไม้หรือใบไม้ที่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่ที่เดิมกับที่เป็นที่วางไข่ เมื่อลูกปลาว่ายน้ำได้แล้ว จึงสามารถให้อาหารขนาดเล็ก เช่น ไรทะเลแรกเกิดได้[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ หน้า 84-91, ไดครอสซัส ปลาหมอลายตารางหมากรุก. "Dwarf Cichilds" โดย วรุฒน์ โกศลพันธุ์. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 40 ปีที่ 4: ตุลาคม 2013
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Dicrossus filamentosus ที่วิกิสปีชีส์