ปลาค้าวดำใต้
ปลาค้าวดำใต้ที่ถูกจับได้
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Siluridae
สกุล: Wallagonia
สปีชีส์: W.  leerii
ชื่อทวินาม
Wallagonia leerii
(Bleeker, 1851)
ชื่อพ้อง[1]
  • Wallago leerii Bleeker, 1851
  • Wallago nebulosus Vaillant, 1902
  • Wallago tweediei Hora & Misra, 1941

ปลาค้าวดำใต้ หรือ ปลาเค้าดำใต้ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Wallagonia leerii) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae) จัดเป็นปลาที่อยู่ในอันดับปลาหนัง (Siluriformes)

ปลาค้าวดำใต้มีรูปร่างลำตัวยาวแต่ค่อนข้างป้อม ลำตัวที่อยู่ค่อนไปทางหางมีลักษณะแบนข้างมาก พื้นลำตัวสีเทาถึงดำสนิท ส่วนหัวมีขนาดใหญ่และแบน ปากกว้าง ภายในมีฟันซี่เล็ก ๆ อยู่ในขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง มีหนวด 2 คู่ โดยคู่ที่อยู่มุมปากมีลักษณะเรียวยาว ส่วนคู่ที่ใต้คางจะสั้นและเล็กมาก มีครีบทั้งหมด 7 ครีบ ครีบก้นใหญ่และยาวจรดครีบหาง ขอบปลายหางด้านบนจะใหญ่กว่าด้านล่าง ส่วนท้องป่องออก ส่วนหลังยกสูงขึ้นกว่าปลาค้าวขาว (Wallago attu) ซึ่งเป็นปลาที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่จัดอยู่ในคนละสกุล

มีขนาดลำตัวยาวได้ถึง 1 เมตร น้ำหนักกว่า 50 กิโลกรัม โดยอาจยาวได้ถึงกว่า 2 เมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม

ปลาค้าวดำใต้พบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ เช่น แม่น้ำตาปี จนถึงคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียวในประเทศอินโดนีเซีย[1]

เป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์มาก แต่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้โดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใน ค.ศ. 1990 โดยได้มีการปล่อยลูกปลาที่เพาะได้กลับคืนถิ่นธรรมชาติ[2]

เดิมที จัดให้เป็นชนิดเดียวกันกับปลาค้าวดำเหนือหรือปลาอีทุก (W. micropogon) แต่ได้ถูกจัดแยกออกเป็นชนิดต่างหากเมื่อ ค.ศ. 2004 จากการศึกษาที่มากขึ้น โดยปลาค้าวดำใต้มีฐานครีบอกที่สั้นกว่า หัวงอนน้อยกว่า ดวงตามีขนาดโตกว่า และหนวดไม่ยาวถึงฐานครีบท้อง[1]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 Roberts, T.R. (2014): Wallago Bleeker, 1851 and Wallagonia Myers, 1938 (Ostariophysi, Siluridae), Distinct Genera of Tropical Asian Catfishes, with Description of †Wallago maemohensis from the Miocene of Thailand. Bulletin of the Peabody Museum of Natural History, 55 (1): 35-47.
  2. "ค้าวดำปลาหายากในทะเลสาบสงขลา แหล่งที่มาจากสุราษฎร์ธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-17. สืบค้นเมื่อ 2009-10-10.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้