ประเพณีสารทเดือนสิบ

เทศกาลในประเทศไทย

ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นช่วงที่พืชพันธุ์ธัญญาหารกำลังออกดอกออกผล

ประเพณีสารทเดือนสิบ
การทำบุญบรรพบุรุษ ณ วัดทุ่งหลวง
ชื่อทางการวันสารทไทย
จัดขึ้นโดยประเทศไทย โดยเฉพาะ ภาคใต้ของประเทศไทย
ประเภทตอนแรกเป็นเทศกาลเก็บเกี่ยวของวิญญาณนิยม ภายหลังได้ร่วมกับธรรมเนียมศาสนาพุทธ
การถือปฏิบัติจัดงานเทศกาลกลางปี; ทำบุญแก่บรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับ
วันที่เดือนดับในเดือน 10 ของปฏิทินจันทรคติไทย
ส่วนเกี่ยวข้องPchum Ben (กัมพูชา)
บุญข้าวประดับดิน (ลาว)
Mataka dānēs (ศรีลังกา)
วันสารทจีน (จีน)
Tết Trung Nguyên (เวียดนาม)
เทศกาลบง (ญี่ปุ่น)
Baekjung (เกาหลี)

ที่มา

แก้

พิธีสารทมีต้นกำเนิดมาจากพิธีของพราหมณ์ เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลผลิตแรก จะนำมาทำเป็นข้าวมธุปายาสและสาคูเพื่อเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา และเพื่อเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป ต่อมาเมื่อคนเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา จึงนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติด้วย

พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือนสิบนี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเองและที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะเชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหล่นลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น

ประเพณีแต่ละท้องที่

แก้

ภาคใต้

แก้

งานบุญประเพณีของคนภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ มีจุดประสงค์เพื่อให้มาขอส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

ความเชื่อของคนโบราณในแถบภูมิภาคนี้ ถือว่าเป็นเวลาที่วิญญาณกลับจากนรก ญาติพี่น้องจึงควรทำบุญ เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปให้ ถ้าผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญได้อิ่มท้องก็จะให้พร ถ้าไม่มีใครทำบุญไปให้ก็จะเสียใจบางทีอาจโกรธและสาปแช่ง จนถือเป็นวันรวมญาติ วันบูชาบรรพบุรุษ ใครไม่ร่วมจะโดนดูถูกว่าอกตัญญู

การจัดหฺมฺรับ

แก้

เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า "วันหลองหฺมฺรับ"แต่ละครอบครัวจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดเป็นหฺมฺรับ การจัดหฺมฺรับนั้น ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน จะจัดเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ลำดับการจัดของลงหฺมฺรับจะเหมือน ๆ กัน คือ เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาดหรือกะละมังมาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร ตามด้วยกระเทียม พริก เกลือ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม ผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน เช่น ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น ลางสาด เงาะ ลองกอง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม-ด้าย และเครื่องเชี่ยนหมาก สุดท้ายใส่สิ่งที่สำคัญที่สุดของหฺมฺรับ คือ ขนม 5 อย่าง ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายที่แต่งต่างกันได้แก่ ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่ม ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ ...แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น ในกรณีที่มีขนม 6 อย่าง จะเพิ่มขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน

การยกหฺมฺรับ

แก้

ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นวันยกหมฺรับ ต่างก็จะนำหมฺรับพร้อมภัตตาหารไปวัด โดยแต่ละคนจะแต่งตัวอย่างสะอาดและสวยงาม เพราะถือเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ วัดที่ไปมักจะเป็นวัดใกล้บ้านหรือการยกหฺมฺรับไปวัดอาจต่างครอบครัวต่างไปหรืออาจจัดเป็นขบวนแห่ ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุก วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวด หฺมฺรับในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นจะจัดให้มีขบวนแห่หมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาในงานเดือนสิบของทุกปี โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างส่งหฺมฺรับของตนเข้าร่วมขบวนแห่และร่วมการประกวด ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชมากยิ่งขึ้น

เมื่อขบวนแห่หฺมฺรับมาถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน "ตั้งเปรต" เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน "หลาเปรต" หรือร้านเปรต โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนม 5 อย่างหรือ 6 อย่างดังกล่าวข้างต้น รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพชนชื่นชอบ เมื่อตั้งเปรตเสร็จพระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน "ชิงเปรต" โดยการแย่งชิงอาหารบนหลาเปรต ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

ประเพณีชิงเปรต

แก้

ชิงเปรต เป็นประเพณีของภาคใต้ที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือ วันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้นคือวัน " ส่งเปรต " กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่[1]

ประเพณีการชิงเปรตนั้น หลังจากที่ได้วางเครื่องเซ่นให้แก่เปรตแล้ว โดยเชื่อว่าหลังจากเปรตอิ่มหน่ำจากเครื่องเซ่นที่วางไว้ให้แล้ว ก็จะทำพิธีเสสัง ลาเครื่องเซ่นไหว้เปรต ผู้ร่วมงานก็จะแย่งชิงเครื่องเซ่นไหว้กัน โดยเชื่อว่าเป็นของเดนชาน เมื่อกินแล้วเชื่อว่าเป็นมงคล อีกทั้งเป็นการช่วยให้เปรตได้ทำบุญทำทานอีกต่อ จากเครื่องเซ่นเหล่านี้ที่เปรตได้กินแล้ว ให้เป็นบุญแก่ผู้ยังมีชีวิตอยู่อีกต่อหนึ่งด้วย และเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้ ถ้าทิ้งไว้ก็เน่าเสียไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด

มีหลายคนไม่เข้าใจคิดว่าประเพณีชิงเปรตคือการแย่งเปรตกิน จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนยืนยันว่า การชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการได้บุญ เพราะเชื่อกันว่าหากลูกหลานของเปรตใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนั้น[2]

ภาคเหนือ

แก้

ภาคเหนือเรียกว่าประเพณีตานก๋วยสลาก หรือประเพณีทานสลากภัต เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์โดยการจัดเตรียมก๋วย (หรือชะลอมขนาดเล็ก) ที่สานด้วยไม้ไผ่บรรจุอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน เครื่องใช้ที่จำเป็น [3]

ภาคกลาง

แก้

การทำบุญเดือน 10 ของภาคกลาง เรียกว่าวันสารทไทย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ประมาณปลายเดือนกันยายน–ตุลาคม มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือของนางนพมาศเนื่องจากศาสนาพราหมณ์เผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ โดยภาคกลางจะมีขนม 4 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับประเพณีวันสารท คือ ขนมข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส ขนมข้าวทิพย์ และขนมกระยาสารท ซึ่งเป็นขนมที่นิยมทำบุญในวันสารทมาแต่โบราณ

1.ขนมข้าวยาคู หรือขนมข้าวกระยาคู เป็นขนมที่นำต้นข้าวที่เพิ่งตั้งท้องมาโม่คั้นน้ำเพื่อมาทำขนมที่หอมกลิ่นต้นข้าว มาจากความเชื่อตามตำนานพุทธศาสนาที่อดีตชาติพระอัญญาโกญฑัญญะนำข้าวที่เพิ่งตั้งท้องออกรวงข้าวมาถวายพระพุทธเจ้าจึงได้เป็นสาวกรูปแรก ซึ่งคนโบราณจะทำขวัญบูชาแม่โพสพเมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง และจะทำพิธีขอต้นข้าวที่เพิ่งเริ่มตั้งท้องใหม่ๆนั้น ไปทำขนมข้าวยาคูเพื่อถวายพระ เชื่อว่าจะทำให้ได้ผลผลิตดี

2.ข้าวมธุปายาส เป็นข้าวที่ต้มโดยผสมกับน้ำนมและน้ำผึ้ง ตามตำนานในพุทธประวัติที่นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้าก่อนที่จะทรงตรัสรู้

3.ขนมข้าวทิพย์ เป็นขนมที่เกิดจากการพยายามจะทำข้าวมธุปายาสหรือมีข้าวมธุปายาสเป็นแรงบันดาลใจ แต่ขนมข้าวทิพย์จะใส่วัตถุดิบหลายอย่างนอกจากข้าว นม และน้ำผึ้ง เช่น มะพร้าว งา ถั่ว ข้าวตอก เป็นต้น ในปัจจุบันอาจใช้นมข้นหวานและน้ำตาล แทนนมและน้ำผึ้ง ซึ่งแต่ล่ะท้องถิ่นจะมีสูตรในการใส่วัตถุดิบของขนมข้าวทิพย์ที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น ในภาคอีสาน บางท้องถิ่นอาจจะมีผสมเครื่องเทศที่เป็นสมุนไพรมีประโยชน์ด้วย ซึ่งการทำขนมข้าวทิพย์ ในภายหลังกลายประเพณีในราชพิธีหลวง ในช่วงวันสารทเดือนสิบ ที่จะใช้กะทะใบใหญ่ในการกวนขนม โดยจะต้องทำพิธีเหมือนขนมข้าวยาคูที่ต้องบูชาแม่โพสพใช้ข้าวมาเป็นวัตถุดิบร่วมด้วย ไฟที่ใช้จุดเตาต้องใช้ไฟจากดวงอาทิตย์ด้วยแว่นขยาย โดยจุดเตรียมไว้ก่อนที่เทียนหรือตะเกียง ฟืนใช้ต้นไม้ชื่อมงคลที่นิยมคือต้นพุทราที่มีคุณลักษณะให้ควันน้อย ก่อนกวนต้องกล่าวสัคเคเพื่ออัญเชิญเทวดาตามความเชื่อ ใช้ผู้หญิงพรหมจารีย์เป็นคนกวนขนม คนกวนขนมต้องแต่งชุดขาวถือศีลแปดก่อน ขณะเริ่มกวน จะต้องให้พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ไปด้วย เมื่อพระสงฆ์เจริญพุทธมนต์จบ จึงเปลี่ยนให้คนช่วยสาวพรหมจารีย์กวนขนมได้ เพราะขนมข้าวทิพย์ต้องใช้เวลากวนนานมาก เป็นงานประเพณีที่ต้องใช้คนช่วยกันเป็นจำนวนมาก จึงเป็นประเพณีที่ต้องใช้ความสามัคคีอย่างมาก

4.ขนมกระยาสารท เป็นขนมที่ทำจากข้าวคั่ว ถั่ว งา และน้ำตาล เชื่อว่าเกิดขึ้นจากการที่ลองนำของที่ใช้ในการทำขนมข้าวทิพย์มาทำ โดยชื่อก็เชื่อว่ามาจากคำว่า ข้าวกระยาคู กับสารท เป็นกระยาสารท ขนมกระยาสารทเป็นขนมที่นิยมกินคู่กับกล้วยไข่[4]

คนไทยเชื้อสายลาว

แก้

ประเพณีสารทของคนไทยเชื้อสายลาว จะทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 การทำบุญในวันนี้จะเรียกว่า ทำบุญวันสารทลาว ซึ่งเป็นวันแรกที่พระยายม เปิดขุมนรกให้ดวงวิญญาณจากนรกได้กลับมายังมนุษย์โลก จนถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดวงวิญญาณเหล่านั้นก็จะกลับไปนรกอีกครั้งนึงการทำบุญให้ดวงวิญญาณในวันสุดท้ายนี้จะเรียกว่าทำบุญข้าวสาก บางท้องถิ่นจะจัดให้มีการถวายสลากภัตร เพื่อเป็นอุทิศส่วนบุญไปให้เหล่าปวงญาติที่ตายไปแล้ว นอกจากนี้ยังจัดให้มีการฟังเทศน์ตลอดทั้งวัน เป็นเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น เช่นเรื่องมโหสถ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ เรื่องท้าวกำกาดำเป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง ประเพณีคนเชื้อสายลาวจะมีประเพณีทำบุญให้บรรพบุรุษอีกประเพณีหนึ่ง คือ ประเพณีข้าวประดับดิน ในวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 ซึ่งการทำบุญข้าวประดับดินจะเป็นการวางเครื่องเซ่นในกระทงหรือใบตองให้กับดวงวิญญาณ บนพื้นดินหรือห้อยไว้ เช่นบริเวณทางสามแพร่งหรือป่าช้าในเวลากลางคืน ให้กับวิญญาณสัมพะเวสีที่เกิดเป็นอสุรกายที่เชื่อว่ากินอาหารประเภทเครื่องเซ่นได้ตามความเชื่อเดิม ส่วนทำบุญข้าวสากจะทำให้กับพระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณที่รับบุญกุศลได้เช่นเปรต [5]

คนไทยเชื้อสายเขมร

แก้

ประเพณีสารทเดือนสิบของคนไทยเชื้อสายเขมร หรือเรียกว่า แซนโฎนตา ประกอบพิธีกรรมจะตรงกับวันแรม 14-15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี

อ้างอิง

แก้
  1. ประเพณีชิงเปรต วันสารท สารสนเทศห้องสมุด สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดตรัง
  2. ประเพณี ตรังโซน:ชุมชนคนตรังออนไลน์
  3. อรทัย ทรงศรีสกุล, การวิจัยตรวจสอบยุทธศาสตร์กระบวนการมีส่วนร่วมสืบทอดประเพณีตานก๋วยสลากเพื่อความยั่งยืน : กรณีศึกษา ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง, 2551, หน้า 42–43.
  4. สิริวิภา ขุนเอม, "วันสารทไทย", วัฒนธรรมไทย, ปีที่ 48 ฉบับที่ 9 (กันยายน 2552) : 6–7.
  5. พระอธิการชัยรัตน์ ญาณวีโร (สิทธิศักดิ์), ศึกษาความเชื่อเรื่องเปรตที่ปรากฏในประเพณีการทำบุญของชาวอีสาน : กรณีศึกษาประเพณีการทำบุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสาก,วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต,บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2553,หน้า 56–57.