ประวัติศาสตร์รัฐอัสสัม

ดินแดนที่เป็นรัฐอัสสัม ประเทศอินเดียในปัจจุบันนี้ ในมหาภารตะกล่าวว่าเป็นดินแดนของแคว้นกามรูป ซึ่งปกครองบริเวณลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ภูฏาน และเบงกอลตะวันออก ในบันทึกของพระถังซำจั๋ง กล่าวถึงกษัตริย์ที่ปกครองดินแดนนี้ว่านับถือศาสนาฮินดู มีศิลาและแผ่นจารึกแสดงให้เห็นว่ามีราชวงศ์ต่าง ๆ ปกครองดินแดนในบริเวณนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-17

ภาพปั้นแสดงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เตซปูร์

ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ไทอาหมซึ่งเป็นชาวไทใหญ่เผ่าหนึ่ง ได้เข้ามารุกรานอัสสัมใน พ.ศ. 1771 สามารถรบชนะชาวเขาในบริเวณนี้ และกลุ่มชนที่นับถือศาสนาฮินดูและตั้งอาณาจักรอาหม คำว่าอาหมนี้เป็นที่มาของคำว่าอัสสัม ในพุทธศตวรรษที่ 21–22 ชาวไทอาหมต้องต่อสู้กับราชวงศ์โมกุลที่ขยายอำนาจมาจากแคว้นเบงกอล ไทอาหมเอาชนะโมกุลได้เด็ดขาดใน พ.ศ. 2225 สามารถรวมบริเวณลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรให้เป็นปึกแผ่น อาณาจักรอาหมเจริญสูงสุดในสมัยของพระเจ้ารุทระ สิงห์ ที่เริ่มให้บันทึกอาหมบุราณจี เริ่มติดต่อค้าขายกับทิเบต

ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา มีความพยายามที่จะลดอิทธิพลของราชวงศ์ โดยส่งเสริมลัทธิไวศณพแทน ทำให้เกิดการต่อต้านชาวไทอาหมโดยเฉพาะทางเหนือ ใน พ.ศ. 2329 พระเจ้าโควินาถ สิงห์ได้ขอความช่วยเหลือจากข้าหลวงใหญ่อังกฤษแห่งอินเดียให้มาช่วยปราบ อังกฤษส่งทหารมาช่วยรักษาความสงบในอัสสัม ต่อมาใน พ.ศ. 2360 พม่าเข้ามาแทรกแซงโดยอ้างว่าได้รับการขอร้องจากพาทันจันทร์ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านกษัตริย์อาหม จนเกิดสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่หนึ่ง เมื่อสงครามสิ้นสุดได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพยันดาโบ ทำให้อัสสัมกลายเป็นดินแดนของอังกฤษ

ใน พ.ศ. 2381 อังกฤษรวมอัสสัมเข้ากับเบงกอลของอังกฤษ และใน พ.ศ. 2382 อัสสัมทั้งหมดอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และได้แยกตัวออกมาเป็นมณฑลต่างหากจากเบงกอลใน พ.ศ. 2467 ในช่วงที่อังกฤษปกครองได้พยายามลดอำนาจของชาวไทอาหม ให้ใช้ภาษาเบงกอลเป็นภาษาราชการและให้ชาวเบงกอลดำรงตำแหน่งทางการบริหารและสนับสนุนให้มุสลิมเบงกอลเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องชนเผ่าในระยะยาว ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อัสสัมเป็นเส้นทางลำเลียงที่สำคัญไปยังพม่าและเป็นยุทธภูมิสำคัญใน พ.ศ. 2487

หลังจากอินเดียได้รับเอกราช อัสสัมมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 การแบ่งเขตของอัสสัมออกเป็นรัฐต่างๆทำให้ชาวอัสสัมไม่พอใจเพราะถือเป็นการแบ่งแยกดินแดนของตน เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในปากีสถานเมื่อ พ.ศ. 2514 มีชาวมุสลิมเบงกอลจากปากีสถานตะวันออกจำนวนมากอพยพเข้าไปในอัสสัมโดยการสนับสนุนของรัฐบาลอินเดีย ทำให้ชาวอัสสัมเกรงว่าชาวเบงกอลจะเข้ามามีบทบาทในรัฐอัสสัมมากเกินไป และหลังจากนั้นก็มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอัสสัมกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิของตน

อ้างอิง แก้

  • สาคร ช่วยประสิทธิ์. อัสสัม ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539.หน้า 262-264