ปกรณ์วิเสส เป็นคัมภีร์หรือหนังสือที่พิเศษ หรือแตกต่างไปจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาทั้งหลายที่มีอยู่เดิม ที่ไม่ได้แต่งอธิบายธรรมะตามคัมภีร์ใดคัมภีร์หนึ่งโดยเฉพาะอย่างอรรถกถา ฎีกาและอนุฎีกา หรือโยชนา แต่เป็นคัมภีร์หรือหนังสือที่พระคันถรจนาจารย์ได้รจนาขึ้น เพื่อแสดงความคิดเห็นอันเป็นภูมิรู้หรือภูมิธรรมของท่าน โดยศึกษาค้นคว้าและรวบรวมจากคัมภีร์ต่างๆ [1]

นอกจากนี้ ท่านผู้รจนายังกำหนดประเด็นหรือเนื้อหาได้ตามความประสงค์ของตนเอง โดยมีจุดประสงค์ต่างๆ กันไป อาทิเช่น เพื่อบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบโดยย่นย่อหรือรวบยอดให้ผู้ศึกษาสามารถจดจำได้ง่ายขึ้น, เพื่อสรรเสริญและชมเชยคุณพระรัตนตรัยในรูปของร้อยกรองภาษาบาลี, เพื่อเสนอหลักการและวิธีการในการอธิบายขยายความพระไตรปิฎก, แสดงความรู้เรื่องโลกและจักรวาล [2]

โดยสังเขป คัมภีร์ปกรณ์วิเสสเป็นคัมภีร์ที่เป็นดุจสะพาน ที่ทอดสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เชื่อมโยงไปถึงประชาชนชาวบ้านได้ศึกษาและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง [3]

ประเภท แก้

ปกรณ์วิเสสมีเนื้อหาและจุดประสงค์แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้ คือ

ธรรมวินัยสังเขป แก้

เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความบาลีในพระไตรปิฎกอย่างย่นย่อหรืออธิบายแบบรวบยอดแทนการอธิบายเป็นปิฎกๆ อย่างอรรถกถา เมื่อกำหนดชั้นแล้วคงเป็นอรรถกถานั่นเอง เช่น

  1. มิลินทปัญหา ของพระจุฬาภยมหาเถระ
  2. วิมุตติมรรค ของพระอุปติสสเถระ
  3. วิสุทธิมรรค ของพระพุทธโฆสาจารย์ [4]

ธรรมวิภังค์ แก้

เป็นคัมภีร์ที่แสดงหลักและวิธีวิเคราะห์แจกแจง พระธรรมและพระวินัย เช่น

  1. เนตติปกรณ์ พระมหากัจจายนะแต่ง
  2. เนตติอรรถกถา พระธรรมปาละเถระแต่ง
  3. เนตติวิภาวินี แต่งโดยพระสัทธธรรมปาลมหาธรรมราชคุรุ ชาวพม่า [5]

ธรรมวินัยสดุดี แก้

หรือพุทธาทิภิถุติ เป็นคัมภีร์ประเภทบทอศิรวาท ในปัจจุบันว่าด้วยการสรรเสริญพระรัตนตรัย คือพระพุทธคุณ ได้แก่ พระมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ อนุพยัญชนะ 32 ประการ ได้แก่

  1. ปัชชมธุ พระพุทธัปปิยเถระแต่งขับสดุดีพระรัตนตรัย เป็นบทร้อยกรอง ๑๐๔ บท ทำนองศตกะทางสันสกฤต
  2. นมัสการปาฐะ พระโปราณาจารย์แต่ง
  3. ชินาลังการ พระพุทธรักขิตเถระแต่งเป็นร้อยกรอง ๒๗๑ บท พรรณนาประวัติของพระพุทธเจ้า ตั้งประสูติไปจนถึงปรินิพพาน
  4. ชินจริต พระเมธังกรหรือนวรัตนเมธังกรแต่งเป็นร้อยกรอง พรรณนาประวัติของพระพุทธเจ้าคล้ายกับคัมภีร์พุทธจริตของสันสกฤต [6]


วังสปกรณ์ แก้

เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงตำนาน ประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคล เป็นต้น เช่น

  1. มหาวงศ์ พงศาวดารลังกา แต่งโดยพระมหานามเถระ
  2. ทาฐาวงศ์ หรือทันตวงศ์ แต่งโดยพระธรรมกิตติแห่งประเทศศรีลังกา ว่าด้วยประวัติพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าที่มาประดิษฐานในประเทศศรีลังกา
  3. สาสนวังสัปปทีปิกาหรือศาสนวงศ์ ว่าด้วยประวัติศาสตร์พุทธศาสนา แต่งโดยพระปัญญาสามี ชาวพม่าแต่ง [7]

โลกศาสตร์ แก้

เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงกำเนิดโลก ดวงดาวและจักรวาล ได้แก่

  1. จักกวาฬทีปนี แต่งโดยพระสิริมังคลาจารย์
  2. โลกัปปทีปกสาร แต่งโดยพระเมธังกรณ์ [8]

สังขยาปกรณ์ แก้

เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงการนับ ชั่ง ตวง วัด ได้แก่

  1. สังขยาปกาสกะ แต่งโดยพระญาณวิลาส
  2. สังขยาปกาสกฎีกา แต่งโดยพระสิริมังคลาจารย์ [9]

อ้างอิง แก้

  1. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 117
  2. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 118
  3. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 119
  4. จำเนียร แก้วภู่. (2538). หน้า 6
  5. จำเนียร แก้วภู่. (2538). หน้า 6
  6. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 119 - 120
  7. จำเนียร แก้วภู่. (2538). หน้า 7
  8. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 120
  9. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). หน้า 120

บรรณานุกรม แก้

  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • จำเนียร แก้วภู่. (2538). คัมภีร์สัทศาสตร์บาลี-สํสกฤต : ประวัติและความเป็นมาเน้นคัมภีร์ไวยากรณ์. กรุงเทพมหานคร. โอเดียนสโตร์.