บ่อน้ำมันดิน
บ่อน้ำมันดิน หรือ หลุมน้ำมันดิน หรือ บ่อยางมะตอยธรรมชาติ หรือ บ่อทาร์ เป็นผลมาจากการซึมของปิโตรเลียมประเภทน้ำมันดิน (Bitumen) ใต้พื้นดินรั่วซึมสู่พื้นผิวดินทำให้เกิด แอสฟัลท์ หรือ ยางมะตอยธรรมชาติ (Natural Asphalt หรือ Bitumen) เป็นบริเวณกว้าง [1] ยางมะตอยที่เหนียวข้นเกิดขึ้นหลังจากที่ส่วนประกอบที่เบากว่าบางส่วนของน้ำมันดินที่ซึมถึงพื้นผิว ได้ระเหยกลายเป็นไอและเหลือเพียงส่วนที่เหนียวหนักคือ ยางมะตอย[2]
บ่อน้ำมันดินที่มีชื่อเสียง
แก้บ่อน้ำมันดินที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลสาบยางมะตอย Binagadi, บ่อน้ำมันดินลาเบรอา (La Brea Tar Pits)[3], บ่อน้ำมันดินคาร์พินเทอเรีย (Carpinteria Tar Pits), บ่อน้ำมันดินแมคคิททริค (McKittrick Tar Pits), ทะเลสาบพิตช์ (Pitch Lake) และทะเลสาบเบอร์มิวเดซ (Lake Bermudez)
ความสำคัญทางบรรพชีวินวิทยา
แก้โดยมากสัตว์ที่ตกลงในบ่อน้ำมันดินมักจะไม่สามารถหนีออกจากความเหนียวของยางมะตอยได้ จมลงสู่ก้นหลุม หลุมเหล่านี้เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการคงสภาพบางส่วนของกระดูกของสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และกลายเป็นแหล่งโบราณคดีทางบรรพชีวินวิทยาที่สำคัญ
บ่อน้ำมันดินกลายเป็นกับดักจับสัตว์โดยธรรมชาติ เนื่องจากน้ำมันดินที่ซึมขึ้นมาจากใต้ดินก่อตัวเป็นบ่อยางมะตอยที่หนา กว้าง และมักปกคลุมด้วยน้ำ ฝุ่นดิน หรือใบไม้ ซึ่งสัตว์ต่าง ๆ ที่เดินเข้ามามองไม่ออก ติดกับดักและตาย ซึ่งในบางครั้งแม้แต่แมมมอธก็อาจไม่สามารถดิ้นหลุดได้หากเป็นบ่อยางมะตอยที่หนาพอ และสัตว์เหล่านี้จะตายด้วยความอดอยาก ความอ่อนเพลียจากการพยายามหลบหนี หรือสภาวะขาดน้ำจากความร้อนของดวงอาทิตย์ และสัตว์ที่ติดอยู่นี้อาจกลายสภาพเป็นกับดักสัตว์นักล่า โดยดึงดูดให้สัตว์กินเนื้อเข้าไปกินสัตว์ที่ติดอยู่และจะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน (ติดอยู่ในบ่อน้ำมันดินเดียวกัน) ในขณะที่เนื้อที่เน่าเปื่อยเหลือเพียงกระดูกของสัตว์ที่ตายแล้ว ยางมะตอยธรรมชาติจะซึมเข้าไปทำให้กลายเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ส่วนที่เบากว่าของปิโตรเลียมจะระเหยออกจากยางมะตอยทำให้เหลือสารที่แข็งกว่าซึ่งจะห่อหุ้มกระดูกไว้
ไม่เพียงซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ได้ถูกอนุรักษ์สภาพจากน้ำมันดิน แต่ยังรักษาไมโครฟอสซิลไว้ด้วย เช่น เศษไม้และซากพืช กระดูกหนู แมลง หอย ฝุ่น เมล็ดพืช ใบไม้ และแม้แต่ละอองเรณู จนถึงปัจจุบันพบฟอสซิลมากกว่าล้านชิ้นในบ่อน้ำมันดินทั่วโลก [2]
ทั้งนี้หลุมน้ำมันดินมักเป็นตัวอย่างที่ดีของแหล่งนิเวศวิทยาบรรพกาลแบบ Lagerstätten (การสะสมของตะกอนที่มีฟอสซิลที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี)
บ่อน้ำมันดินลาเบรอา
แก้ลาเบรอาเป็นกลุ่มของบ่อน้ำมันดิน ในเมืองลอสแองเจลิส (เบรอา ในภาษาสเปนหมายถึง น้ำมันดิน) เป็นแหล่งบรรพชีวินวิทยาของสัตว์ดึกดำบรรพ์ยุคน้ำแข็งที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่เกิดจากการซึมของยางมะตอยธรรมชาติขึ้นมาจากพื้นดินในบริเวณนี้เป็นเวลาหลายหมื่นปีก่อน ยางมะตอยธรรมชาติได้รักษากระดูกของสัตว์ที่ติดอยู่ ซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่า 3,500,000 ชิ้น และยังมีอีกมากที่ยังไม่ขุดค้น ตัวอย่างบางส่วนแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์จอร์จซี. เพจ (George C. Page Museum) ซึ่งการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีของไม้และกระดูกในบ่อน้ำมันดินลาเบรอาที่พบมีอายุถึง 38,000 ปี เก่าแก่ที่สุดจากแหล่งโบราณคดีนี้
ปัจจุบันกลุ่มบ่อน้ำมันดินลาเบรอายังคงมีการขยายตัวและดักจับสิ่งมีชีวิต ดังนั้นบ่อน้ำมันดินส่วนใหญ่จึงมีรั้วเพื่อปกป้องมนุษย์และสัตว์
สิ่งมีชีวิตในบ่อน้ำมันดิน
แก้พบแบคทีเรียที่มีชีวิตในบ่อน้ำมันดินลาเบรอา ซึ่งถูกระบุว่าเป็นสายพันธุ์ของแบคทีเรียที่ยังไม่ถูกค้นพบมาก่อน แบคทีเรียเหล่านี้สามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำน้อยและออกซิเจนต่ำหรือแทบไม่มีเลย การค้นพบแบคทีเรียเหล่านี้ของนักวิทยาศาสตร์เริ่มเมื่อพวกเขาสังเกตเห็นฟองมีเทน ผุดออกมาจากบ่อน้ำมันดิน [4]
มีการค้นพบจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในหยดน้ำขนาดไมโครลิตรที่กู้คืนจากทะเลสาบพิตช์ ในประเทศตรินิแดด รวมถึงแบคทีเรียจากอันดับ Burkholderiales และ Enterobacteriales
แมลงวันปิโตรเลียม (Helaeomyia petrolei) ใช้ชีวิตในระยะตัวหนอนภายในหลุมน้ำมันดิน
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "A gravity investigation of the Pitch Lake of Trinidad and Tobago". Geological Society of Trinidad and Tobago. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 31, 2010. สืบค้นเมื่อ August 28, 2010.
- ↑ 2.0 2.1 Perkins, Sid. "South America's sticky tar pits". Science News For Kids. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-09. สืบค้นเมื่อ May 5, 2012. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "Perkins" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน - ↑ เอ็กซ์พีเดีย การเข้าชมบ่อน้ำมันดินลาเบรอา สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2563.
- ↑ "Bubble, bubble, oil and...bacteria!". Science Buzz. May 31, 2007. สืบค้นเมื่อ May 4, 2012.