อูบะเป (U ba pe) เป็นนักชาตินิยมรุ่นแรกของพม่าที่ต่อสู้เพื่อให้พม่ามีสิทธิปกครองตนเองและแยกพม่าออกมาจากอินเดีย บทบาททางการเมืองของเขาลดลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ประวัติ แก้

อูบะเปเกิดเมื่อ พ.ศ. 2428 สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกัลกัตตาในอินเดีย หลังจากนั้นได้มาเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาได้ร่วมมือกับอูเมฮาวจัดตั้งยุวพุทธิกสมาคมใน พ.ศ.2449 เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาและวัฒนธรรมพม่าที่เสื่อมโทรมไป สมาคมนี้มีบทบาทในการรณรงค์ให้ชาวต่างชาติถอดรองเท้าเมื่อเข้าไปในวัดทางพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ. 2460 ซึ่งกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ชาวพม่า ในปี พ.ศ. 2460 นี้เอง อูบะเปและอูเมฮาวเป็นตัวแทนพม่าไปเจรจากับอังกฤษ เรียกร้องให้มีการปกครองตนเองและแยกออกมาจากอินเดีย มีสถานะเทียบเท่าอินเดียในจักรวรรดิอังกฤษ แต่เซอร์เรจินัลด์ แครดด็อกได้ร่างแผนขึ้นมาใน พ.ศ. 2461 ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครองในพม่า ควรให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นไปก่อน กลุ่มสายกลางในยุวพุทธิกสมาคมยอมรับหลักการนี้แต่กลุ่มคนหนุ่มรวมทั้งอูบะเปไม่เห็นด้วย พวกเขาจึงเดินทางไปอังกฤษเพื่อคัดค้านแผนการของแครดด็อกใน พ.ศ. 2462 และ พ.ศ. 2463 จนอังกฤษยอมให้พม่าปกครองในแบบรัฐบาลคู่เช่นเดียวกับอินเดีย

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2463 ยุวพุทธิกสมาคมได้สนับสนุนให้นักศึกษาประท้วงพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งมีข้อบังคับที่เข้มงวดเกินไปสำหรับการเข้าศึกษาของนักศึกษาพม่า พร้อมกันนั้น ยุวพุทธิกสมาคมได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาร่วมของสมาคมชาวพม่าเพื่อดึงความร่วมมือจากชาวพม่าที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ในที่สุดการประท้วงพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้ลุกลามเป็นการประท้วงการปกครองของอังกฤษ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2465 มีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในพม่าเป็นครั้งแรก สมาชิกสภาร่วมของสมาคมชาวพม่าส่วนใหญ่ต่อต้านโดยไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง พระสงฆ์ออกมาคัดค้านการเลือกตั้งเช่นกัน แต่สมาชิกของสภาร่วมของสมาคมชาวพม่า 21 คนรวมทั้งอูบะเปตัดสินใจลงรับเลือกตั้ง สมาชิกกลุ่มนี้จึงเป็นที่รู้จักในนามพรรคชาตินิยมที่ได้ 28 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 พ.ศ. 2468 พรรคที่ได้รบการเลือกตั้งมีพรรคการปกครองตนเองของอู ปู พรรคชาตินิยมของอูบะเป พรรคสวราชของอู ปอทุน และ ดร.บะมอ ต่อมาทั้งสามพรรคได้รวมกันเป็นพรรคประชาชน อูบะเปได้เป็นประธานสภา พรรคนี้เรียกร้องให้ยกเลิกภาษีรายหัว ยกเลิกหนี้สินที่พม่ามีต่ออินเดีย และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่ชาวพม่า

ใน พ.ศ. 2472 รัฐบาลอังกฤษส่งเซอร์จอห์น ไซมอนมาประเมินผลการปกครองแบบรัฐบาลคู่เพื่อหาทางปรับปรุงการปกครองในพม่า นักชาตินิยมในพม่าแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายของอูบะเปต้องการแยกพม่าออกมาจากอินเดีย ส่วนสภาร่วมของสมาคมชาวพม่า พรรคอีก 2 พรรคและพระสงฆ์คัดค้านการแยกพม่าออกมาจากอินเดีย ต่อมา สภานิติบัญญัติได้ลงมติแยกพม่าออกจากอินเดียเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2473 อูบะเปได้เป็นตัวแทนพม่าเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมอินเดียในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2473 และการประชุมโต๊ะกลมพม่า พ.ศ. 2474 ซึ่งอูบะเปยืนยันที่จะให้พม่ามีสถานะเป็นอาณาจักรเทียบเท่าอินเดียอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษแต่การประชุมทั้งสองครั้งก็ไม่มีมติใด ๆ ออกมา ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ผลปรากฏว่านักการเมืองฝ่ายที่จ่อต้านการแยกพม่าออกจากอินเดียได้คะแนนมากกว่าฝ่ายที่ต้องการแยก แต่ไม่มีฝ่ายใดได้เสียงข้างมาก สุดท้ายทั้งสองผ่ายยอมรับข้อเสนอเพื่อการประนีประนอมของรามรี อู เมาเมาที่ให้พม่าอยู่กับอินเดียไปพลางก่อน แต่มีสิทธิแยกตัวออกมาได้เมื่อต้องการ อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมหลักการในการร่างรัฐธรรมนูญ ดร.บะมอกลับถอนตัวและเสนอให้พม่ารวมกับอินเดียต่อไปแบบไม่มีเงื่อนไข ทำให้ที่ประชุมไม่สามารถลงมติได้ ในที่สุด รัฐสภาอังกฤษตัดสินในวันที่ 11ธันวาคม พ.ศ. 2477 ให้แยกพม่าออกมาจากอินเดีย หลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการปกครองพม่า พ.ศ. 2478 ท่าทีของอูบะเปในการต่อต้านอังกฤษจึงลดลง และยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ.2479 เขาได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านและได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของอูปูใน พ.ศ. 2482 แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งจึงถูกปลดออกในพ.ศ. 2483 ต่อมาเมื่ออูซอขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล อูบะเปถูกจับในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2484 เขาได้รับอิสรภาพอีกครั้งเมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองพม่า แต่เขาก็ไม่ได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นจนสิ้นสุดสงคราม

เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองพม่าอีกครั้ง อูบะเปร่วมอยู่ในคณะของอองซานในการเจรจาเพื่อเรียกร้องเอกราชของพม่า แต่ในที่สุดก็มีความขัดแย้งกับฝ่ายสังคมนิยมในสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์จนต้องลาออกจากสภาบริหารในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2490 หลังจากที่พม่าได้รับเอกราชและมีการเลือกตั้ง อูบะเปจัดตั้งสันนิบาตสหภาพพม่าเข้าร่วมการเลือกตั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาถูกจับกุมใน พ.ศ. 2497 และถูกปล่อยตัวเมื่อรัฐบาลทหารของเนวินเข้ามาบริหารประเทศใน พ.ศ. 2501 อูบะเปลงสมัครรับเลือกตั้งใน พ.ศ. 2503 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นจึงวางมือทางการเมืองไป

อ้างอิง แก้

วิไลเลขา ถาวรธนสาร. อูบาปี ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 386 - 392