นิสัย 4
นิสสัย 4 คือ เครื่องอาศัยของบรรพชิต หรือ สิ่งที่บรรพชิตพึงปฏิบัติ เพื่อการยังชีพ ประกอบด้วย
1. เที่ยวบิณฑบาต คือ ให้ภิกษุเลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาต โดยอาศัยชาวบ้านเป็นอยู่ โดยปัจจัยที่ได้จากการบิณฑบาตนั้นถือว่าเป็นปัจจัยที่บริสุทธิ์
2. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล คือ การนุ่งห่มผ้าที่หาเจ้าของมิได้ เช่นผ้าตามกองขยะที่ชาวบ้านทิ้ง หรือ ผ้าห่อศพ ภิกษุในสมัยพุทธกาลจะเก็บมาย้อมเย็บเป็น จีวร สบง ไว้นุ่งห่ม
3. อยู่โคนไม้ เนื่องจาก ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิต เมื่อทิ้งบ้านเรือนมาออกบวชก็มักจะอาศัยอยู่ในป่า แม้แต่พระพุทธองค์ก็มิได้ยกเว้น ต่อมาภายหลังจึงมีผู้ศรัทธาสร้างกุฏิถวาย
4. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คือ การฉันยารักษาโรคด้วยยาดองน้ำมูตร(ปัสสาวะ) น้ำมูตร มาจาก คำในภาษาบาลีว่า ปูติมุตตะ น้ำมูตร คือ น้ำปัสสาวะ ของคน ใจความในพระไตรปิฎก ตอนหนึ่ง ระบุว่า ใช้ปัสสาวะของวัว ก็ได้ (ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอิติวุตตกะ หน้า 504 (จตุกกนิปาตวัณณนา) และ ปปัญจสูทนี ภาค 2 อรรถกถามัชฌิมนิกาย หน้า 625 (มหาธัมมสมาทานสุตตวัณณนา)) การฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธออาพาธไม่สบาย จงทำยาดองด้วยลูกมะขามป้อมและลูกสมอ โดยพวกเธอนำลูกมะขามป้อมและลูกสมอมาทุบให้แตกแล้วใส่ลงในภาชนะและถ่ายปัสสาวะลงไปในภาชนะนั้น แช่ไว้ประมาณ 7 วัน แล้วก็เอามาฉัน อาพาธของเธอก็จะหาย” ;ทำไมต้องมะขามป้อม มะขามป้อม รสฝาดเปรี้ยว แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอดี แก้ไข้ สมอไทยอ่อน รสเปรี้ยว แก้โลหิตในท้อง แก้น้ำดี แก้เสมหะ ระบายอุจจาระ สมอไทยแก่ รสเปรี้ยวฝาดขม แก้ไข้เพื่อลม แก้เสมหะ แก้ไข้เพื่อเสมหะ
ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ปัสสาวะ ประกอบไปด้วย น้ำบริสุทธิ์ 95% ยูเรีย 2.5% และอื่นๆ อีก 2.5% แม้จะไม่มีโทษร้ายแรง แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์