นิราศหนองคาย
นิราศหนองคาย เป็นวรรณกรรมประเภทนิราศ แต่งเป็นกลอนแปดสุภาพ[1] หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) แต่งในคราวติดตามเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ไปปราบฮ่อที่หลวงพระบาง ประเทศราชไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะนั้นหลวงพัฒนพงศ์ภักดีอายุสิบแปดปี
ประวัติ
แก้เนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์และสงคราม บรรยายลักษณะกระบวนทัพและการทหารในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นิราศหนองคายพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2421 ที่โรงพิมพ์หมอสมิธ บางคอแหลม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไม่พอใจอย่างยิ่งอ้างว่ามีเนื้อหาพาดพิงถึงท่านอย่างรุนแรง เมื่อไต่สวน หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ถูกตัดสินลงโทษเฆี่ยน 50 ที จำคุกอยู่ 8 เดือน และให้ทำลายหนังสือนิราศหนองคายฉบับพิมพ์ทั้งหมด
ต่อมาหลวงพัฒนพงศ์ภักดีได้เขียนนิราศหนองคายขึ้นใหม่ น่าจะแต่งเสร็จไม่เกิน พ.ศ. 2458 ซึ่งเป็นปีที่ท่านถึงแก่กรรม โดยเพิ่มเติมข้อความลงไปเพราะมีส่วนที่กล่าวถึงโทษโบยที่ตนได้รับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงขอคัดลอกนิราศหนองคายจากกวีลงในสมุดไทยเพื่อเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ ต้นฉบับนิราศหนองคายฉบับสมุดไทยนี้จัดเก็บเป็นเอกสารลับของกรมศิลปากรและห้ามเผยแพร่โดยเด็ดขาดในสมัยนั้น
นิราศหนองคายฉบับสมุดฝรั่งคัดลอกโดยนายสวัสดิ์จั่นเล็ก เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร หลังจากที่ได้คัดลอกฉบับสมุดไทยดำเล่มที่ 1 เล่มที่ 2 และบางส่วนของเล่มที่ 3 เสร็จสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 จากนั้นนายหรีด เรืองฤทธิ์ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรก็ได้คัดลอกส่วนที่เหลือลงในสมุดฝรั่งจนจบเรื่อง เมื่อ พ.ศ. 2496 นิราศหนองคายฉบับสมุดฝรั่งนี้เก็บรักษาอยู่ที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร
เมื่อ พ.ศ. 2494 บุตรชายของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี ได้ขออนุญาตตีพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) แต่กรมศิลปากรไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าเนื้อหาบางส่วนอาจกระทบกระเทือนถึงผู้อื่น กรมศิลปากรมอบหมายให้นายหรีด เรืองฤทธิ์ แก้ไขตัดทอนเนื้อความที่พาดพิงผู้อื่นและบางส่วนที่ตลกขบขันออกไป
นิราศหนองคายฉบับแก้ไขตัดทอนได้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์โท ขุนสัดทัดวุฒิวิถี (สวนสันทัดวุฒิ) เมื่อ พ.ศ. 2498[2]
ฉบับ
แก้- นิราศหนองคาย ฉบับต้นร่าง และ ฉบับพิมพ์พุทธศักราช 2421 เป็นฉบับที่นายทิม (ขุนพิพิธภักดี) แต่งแล้วส่งไปเป็นต้นฉบับยังโรงพิมพ์หมอสมิธ บางคอแหลม ต้นฉบับร่างถูกทำลายไปพร้อมกับฉบับที่ตีพิมพ์
- นิราศหนองคาย ฉบับหอพระสมุดสำหรับพระนคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีรับสั่งให้คัดลอกต้นฉบับนิราศหนองคายเก็บไว้สำหรับหอพระสมุด 1 จบ ประกอบด้วยสมุดไทยดำ 4 เล่ม สันนิษฐานว่าฉบับนี้น่าจะคัดลอกจากต้นฉบับเดิมซึ่งผู้ประพันธ์เก็บรักษาไว้ แสดงให้เห็นว่านิราศหนองคายไม่ได้ถูกทำลายทั้งหมดเมื่อพุทธศักราช 2421 หอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาฉบับนี้โดยสงวนต้นฉบับ และเก็บไว้ในประเภทเอกสารลับ ไม่ให้ยืมตรวจค้น
- นิราศหนองคาย ฉบับคัดลอก พุทธศักราช 2494 พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) บุตรชายคนโตของหลวงพัฒนพงศ์ภักดีถึงแก่กรรมลง ทายาทขออนุญาตจัดพิมพ์นิราศหนองคายเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ แต่กรมศิลปากรไม่อนุญาต โดยในการขออนุญาตจัดพิมพ์ นายสวัสดิ์ จั่นเล็ก เจ้าหน้าที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ได้คัดลอกนิราศหนองคายจากสมุดไทยดำ เล่ม 1 เล่ม 2 และเล่ม 3 (ตอนต้น) ต้นฉบับคัดลอกดังกล่าวเย็บรวมอยู่ในแฟ้มเอกสารของกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ต่อมา พ.ศ. 2496 นายหรีด เรืองฤทธิ์ คัดลอกตรวจสอบชำระสมุดไทย เล่ม 3 และเล่ม 4 แล้วเย็บแฟ้มรวมเล่มต่อจากที่นายสวัสดิ์ จั่นเล็ก ที่คัดลอกไว้เมื่อ พ.ศ. 2494
- นิราศหนองคาย ฉบับพิมพ์พุทธศักราช 2498 หอสมุดแห่งชาติได้ชำระ โดยได้ตัดส่วนที่สร้างความเสียหายให้ผู้อื่นออก ต่อมามีสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ขออนุญาตกรมศิลปากรจัดพิมพ์นิราศหนองคายฉบับนี้จำหน่ายเรื่อยมา[3]
- นิราศหนองคาย ฉบับพิมพ์พุทธศักราช 2559 ประกอบด้วยส่วนที่คัดลอกจากสมุดไทย เล่ม 1 เล่ม 2 และเล่ม 3 (ตอนต้น) ซึ่งนายสวัสดิ์ จั่นเล็ก เป็นผู้คัดลอก และส่วนที่คัดลอกจากสมุดไทยดำ เล่ม 3 (ตอนปลาย) และ เล่ม 4 ซึ่งนาย หรีด เรืองฤทธิ์เป็นผู้คัดลอก
อ้างอิง
แก้- ↑ "นิราศหนองคาย". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
- ↑ "นิราศหนองคายฉบับสมุดฝรั่ง: ประเด็นวิพากษ์บุคคลและเหตุการณ์ที่ไม่ปรากฏใน ฉบับพิมพ์" (PDF). ดำรงวิชาการ.
- ↑ "คำชี้แจงการตรวจสอบต้นฉบับ นิราศหนองคาย". วัชรญาณ.