นกกินแมลงหัวสีคล้ำ

นกกินแมลงหัวสีคล้ำ
Malacopteron affine ()
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Pellorneidae
สกุล: Malacopteron
สปีชีส์: M.  affine
ชื่อทวินาม
Malacopteron affine
(Blyth, 1842)
ชื่อพ้อง
  • Trichastoma affine [2]
  • Alcippe Cantori
  • Malacopterum melanocephalum
  • Malacopterum affine

นกกินแมลงหัวสีคล้ำ (อังกฤษ: Sooty-capped Babbler; ชื่อวิทยาศาสตร์: Malacopteron affine) เป็นนกในวงศ์นกมุ่นรก (Pellorneidae) ขนาดเล็กสีน้ำตาลเทา และมีเสียงร้องที่ไพเราะกังวาน[3][4] เป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทยที่หายากที่สุดในในสกุล Malacopteron[5] เนื่องจากป่าดิบที่ราบต่ำซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย ได้ผ่านการทำไม้และเป็นสวนปาล์มน้ำมัน ยางพารา หรือชุมชนเมือง[4]

อนุกรมวิธาน

แก้

นกกินแมลงหัวสีคล้ำ (Malacopteron affine) แบ่งได้เป็น 3 ชนิดย่อยคือ

  • Malacopteron affine affine ― พบในประเทศไทยและคาบสมุทรมลายู เป็นชนิดย่อยหลัก และต่างจากชนิดย่อย M. a. phoeniceum ตรงที่มีกระหม่อมสีอ่อนกว่าและอมเทาน้อยกว่ามาก นกรุ่นมีกระหม่อมสีอ่อนกว่าตัวเต็มวัย นอกจากนี้ยังมีจะงอยปากล่างเป็นสีเนื้อต่างจากตัวเต็มวัยที่มีจะงอยปากล่างสีเทา[6][7][4]
  • Malacopteron affine phoeniceum ― ที่เป็นนกเฉพาะถิ่นของเกาะบอร์เนียว[8]
  • Malacopteron affine notatum ― พบเฉพาะที่หมู่เกาะปันจัก จังหวัดอาเจะห์ [9]

นกชนิดนี้มีชื่อในภาษามาเลย์ ว่า rimba tinjau belukar และภาษาอินโดนีเซีย Asi Topi-jelaga[6]

ลักษณะทางชีววิทยาและพฤติกรรม

แก้

นกกินแมลงหัวสีคล้ำ มีลำตัวตั้งแต่ใต้คางถึงท้องเป็นสีเทาอ่อน ขาวหม่น หรือเทาเขม่า (sooty) ขนที่คออาจมีริ้วสีเทาแซม ขนหัวด้านบนเป็นสีเทาเข้มออกน้ำตาล ขนรอบตาสีเทา ตาแดง ปีกและหางสีน้ำตาลเทาออกแดงเรียบ ปลายปีกและหางมีสีเข้มกว่าเล็กน้อย จะงอยปากยาวตรงสีดำ ปลายแหลมงุ้มเล็กน้อย ตีนสีเทา

มักหากินเป็นคู่หรือฝูงขนาดย่อม อาหารหลักคือแมลงขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายกับชนิดที่หาดูง่ายกว่ามากของนกในสกุล Malacopteron อย่างนกกินแมลงหัวสีน้ำตาล (Moustached Babbler) โดยเฉพาะนกรุ่นซึ่งจะไม่มีแถบเคราสีดำแบบตัวเต็มวัยทำให้ดูคล้ายนกกินแมลงหัวสีคล้ำมาก และมีเสียงร้องของพวกมันคล้ายกัน[4]

ถิ่นที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์

แก้

ในอดีตเคยมีรายงานการพบจากหลายจังหวัดทางภาคใต้ ตั้งแต่ชุมพร ลงมาจนถึงยะลาและนราธิวาส แต่ปัจจุบันไม่มีรายงานยืนยันในประเทศไทยหลายปีแล้ว ประชากรนกกินแมลงหัวสีคล้ำในคาบสมุทรมลายูระบุว่าเกือบเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์ และในสิงคโปร์ซึ่งเป็นแห่งแรกที่นกกินแมลงหัวสีคล้ำถูกเก็บตัวอย่างไว้ได้มีสถานภาพสูญพันธุ์แล้ว[4]

ชนิดย่อย M. a. phoeniceum ยังคงพบได้ง่ายในป่าบางแห่งเกาะบอร์เนียวของมาเลเซียตะวันออก[4] และอินโดนีเซีย

นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์

แก้

นกกินแมลงหัวสีคล้ำถูกคุกคามจากการสูญเสียที่อยู่อาศัย

อ้างอิง

แก้
  1. BirdLife International (2012). "Malacopteron affine". IUCN Red List of Threatened Species. 2012. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2556.
  2. Sooty-capped Babbler. Avibase, สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2564.
  3. eBird. นกกินแมลงหัวสีคล้ำ. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2564.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 นกกินแมลงหัวสีคล้ำ (Sooty-capped Babbler; Malacopteron affine). เก็บถาวร 2021-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน OKNation. พฤศจิกายน 2560.
  5. นกกินแมลงหัวสีคล้ำ (Sooty-capped Babbler). Bird Conservation Society of Thailand (BCST). 20 ตุลาคม 2560.
  6. 6.0 6.1 Sooty-capped Babbler. Avibase. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2564.
  7. Sooty-capped Babbler (nominate). Avibase. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2564.
  8. Sooty-capped Babbler (phoeniceum). Avibase. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2564.
  9. Sooty-capped Babbler (notatum). Avibase. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2564.