ท้าวเวปจิตติ
ตามความเชื่อในศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู ท้าวเวปจิตติ[1] (บาลี: Vepacitti) หรือท้าววิประจิตติ (สันสกฤต: विप्रचित्ति) เป็นราชาของพวกอสูร จึงมีสมัญญาว่าอสุรราช[2]
ศาสนาพุทธแก้ไข
ท้าวเวปจิตติ มีนามเดิมว่า ท้าวสมพร เป็นจอมอสูร คราวหนึ่งเกิดสงครามระหว่างเทพกับอสูร เมื่ออสูรพ่ายแพ้แล้ว มักไปทำลายอาศรมพวกฤๅษีเพราะโกรธแค้นว่าฤๅษีมักถวายคำปรึกษาแก่ท้าวสักกะจอมเทพ พวกฤๅษีจึงพากันไปเข้าเฝ้าท้าวสมพรเพื่อขอประทานความปลอดภัย แต่ท้าวสมพรปฏิเสธ พวกฤๅษีจึงสาปแช่งว่าฤๅษีต้องการความปลอดภัยเท่านั้น เมื่อไม่ประทาน ก็ให้ภัยเป็นของท้าวสมพรเอง แล้วหายตัวกลับอาศรม[3] ในคืนนั้นท้าวสมพรตกใจตื่นร้องด้วยความกลัวถึงสามครั้ง จึงได้สมัญญาว่า เวปจิตติ (ผู้มีใจหวั่นไหว)[4]
ท้าวเวปจิตติมีธิดาอยู่องค์หนึ่งคือพระแม่สุชาดา ต่อมากลายเป็นชายาเอกของท้าวสักกะ ลูกเขยพ่อตาคู่นี้บางครั้งก็ทะเลาะกัน บางครั้งก็เที่ยวไปด้วยกัน[5]
ศาสนาฮินดูแก้ไข
ตำนานในศาสนาฮินดูระบุว่า ท้าววิประจิตติเป็นบุตรที่ทรงฤทธิ์ที่สุดของพระกัศยปะกับนางทนุ[6] จึงถือเป็นพวกทานพ ท้าววิประจิตติได้เป็นพระราชาปกครองพวกทานพแทนท้าวปุโลมัน พระเชษฐาที่ถูกพระอินทร์สังหารไป คัมภีร์ปัทมปุราณะระบุว่าท้าววิประจิตติมีบุตรคือพระราหู นอกจากนี้ ในมหาภารตะยังกล่าวว่าท้าววิประจิตติได้มากำเนิดเป็นท้าวชราสันธ์อีกด้วย
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ เวปจิตติสูตร, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
- ↑ เปลื้อง ณ นคร, อสุรราช, พจนานุกรม
- ↑ ๑๐. สมุททกสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
- ↑ อรรถกถาสมุททกสูตรที่ ๑๐
- ↑ ๙. อารัญญกสุตตวัณณนา
- ↑ The Origin of Deities Demons and Serpents