ท้าวภัณฑสารนุรักษ์ (เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5)

ท้าวภัณฑสารนุรักษ์ หรือ เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5 สกุลรัตนทัศนีย ตำแหน่งผู้ช่วยราชการพระคลังข้างในและเป็นกวีหญิงแห่งราชสำนักและเป็นผู้สร้างวัดเสมียนนารี ต่อจากมารดาของท่านคือท่านขำ ท่านเป็นธิดาขุนสมุทรสาคร(ยอด) และท่านขำ เสมียนพระคลังใน ท่านขำเป็นธิดาพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองสงขลา คนที่ 3 (เถี้ยนจ๋ง ณ สงขลา พ.ศ. ๒๓๕๕๘-๒๓๖๐ สายสกุล "โรจนะหัสดิน")

ท้าว

ภัณฑสารนุรักษ์ (เพิ่ม)

เกิดเพิ่ม รัตนทัศนีย์
พ.ศ. 2400
สยาม
เสียชีวิต14 เมษายน พ.ศ. 2494 (94 ปี)
ไทย
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุพการีขุนสมุทรสาคร(ยอด)
คุณขำ

เจ้าจอมเพิ่ม เกิดเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 เมื่ออายุ ๕ ขวบ ได้เข้าถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้อยู่ในละครสำรับเล็ก ได้เป็นศิษย์ของคุณโต(แย้ม อิเหนา) ถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่ออายุ 17 ปี ทรงพระกรุณายกขึ้นเป็นเจ้าจอมอยู่งาน ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง และได้รับพระราชทานเงินกลางปีอีก 5 ชั่ง ต่อมาได้รับพระราชทานหีบหมากกะไหล่ทอง และหีบหมากตราจุลจอมเกล้า ต่อมาในวันที่ 15 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 130 ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็น ท้าวภัณฑสารนุรักษ์ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการพระคลังข้างใน ถือศักดินา 800 [1]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเล็งเห็นอุปนิสัยและความสามารถเฉพาะตัวของเจ้าจอมเพิ่ม ว่าเป็นคนใฝ่ความรู้ จึงโปรดให้พระยาศรีสุนทรโวหารเป็นครูสอนหนังสือ ตลอดจนสอนกาพย์กลอนโคลงฉันท์ให้ท่าน เปิดการสอนที่มุขกระสัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เรียนกันแบบติวเตอร์ ตัวต่อตัวตั้งแต่ ๑๐.๐๐ -๑๓.๐๐ น. ทุกวัน

วันหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จมาขณะที่คุณจอมกำลังเรียนลิลิตและกาพย์กลอนโคลงฉันท์อยู่ ทรงเห็นว่ามีฝีมือในเชิงกวีของท่านไม่เลวเลย พระยาศรีสุนทรโวหารก็กราบบังคมทูลว่าเจ้าจอมเพิ่มมี "หัว" ทางนี้ น่าจะเป็นกวีหญิงแห่งราชสำนักได้ จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก เพราะพระองค์เองมีพระราชประสงค์จะมีคู่โต้เชิงกวี จึงพระราชทานเงิน ๓ ชั่งและหีบหมากกะไหล่ทองให้ เมื่อเรียนจนจบวิชาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้เจ้าจอมเพิ่มได้ตามเสด็จไปตามที่ต่างๆ ได้มีโอกาสชมภูมิประเทศที่สวยงามเพื่อจะ " ฟัก" เป็นบทกวีในมันสมอง จึงโปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จพระราชดำเนินทุกแห่ง ไม่ว่าใกล้หรือไกล เช่นคราวหนึ่งเสด็จอ่างศิลาและเขาสามมุก พระเจ้าอยู่หัวทรงม้า คุณจอมก็นั่งเกวียนตามเสด็จ

เจ้าจอมเพิ่ม ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 14 เมษายา พ.ศ. 2494 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สิริอายุได้ 94 ปี ท่านมีอายุยืนนานมากถึง 6 แผ่นดิน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. พระราชทานสัญญาบัตรฝ่ายใน
  2. "เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2019-12-13.
  3. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบัน ฝ่ายใน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-02. สืบค้นเมื่อ 2019-12-13.
  4. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน (หน้า ๒๓๘๐)