ท้าวขาก่าน หรือ เจ้าหลวงขาก่าน [1] ทรงเป็น เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 22 (ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา) ปกครองเมืองน่าน ระหว่างปี พ.ศ. 2019 - พ.ศ. 2023 ต่อมาได้ย้ายไปครองเมืองเชียงราย

ท้าวขาก่าน
เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 22
(ภายใต้การปกครองของล้านนา)
ครองราชย์พ.ศ. 2019 - พ.ศ. 2023
รัชกาล4 ปี
ก่อนหน้าหมื่นคำ
ถัดไปท้าวอ้ายยวม
ประสูติณ เมืองเชียงใหม่
พิราลัยณ เมืองเชียงราย

พระประวัติ แก้

หลังจากที่พระเจ้าติโลกราช เข้ายึดครองเมืองน่านได้สำเร็จ พระองค์ได้จัดการปกครองบ้านเมืองใหม่ และมอบอำนาจให้ทหารเอกคู่ใจ พระนาม ท้าวขาก่าน หรือ พระญาขาก่าน เป็นผู้ปกครองดูแลเมืองน่าน ในปี พ.ศ. 2019 อันตัว พระญาขาก่านท่านนี้ มีความรู้ ความสามารถในการจับช้าง เลี้ยงช้างและฝึกสอนช้าง จนไม่มีใครเสมอเหมือน และเมืองน่านในขณะนั้น จากดินแดนอันกว้างใหญ่ไปถึงหลวงพระบาง มีช้างป่าจำนวนมาก ช้างเหล่านั้น ล้วนเป็นช้างงา หมาะแก่การนำไปฝึกเป็นช้างศึก พระญาขาก่าน สามารถจับช้างได้ปีละหลายร้อยเชือก จนเป็นประโยชน์แก่กองทัพเมืองน่านและเชียงใหม่ในการรบเพื่อป้องกันอาณาจักรและขยายอาณาจักร เป็นอย่างยิ่ง

กรณียกิจ แก้

  • พ.ศ. 2019 ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองฝาง เชียงใหม่ ได้มาครองเมืองน่าน (สมัยนั้นเมืองน่านขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยุคพระเจ้าติโลกราช) ท้าวขาก่านได้ตำนานเรื่องราวของพระธาตุเจดีย์ดอยภูเพียงแช่แห้ง จากพระมหาเถรเจ้าตนหนึ่ง ชื่อ วชิรโพธิ ท้าวขาก่าน พร้อมด้วยสังฆเจ้าทั้งหลาย จึงได้ร่วมกันค้นหาพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ซึ่งตอนนั้นปกคลุมด้วยป่าไม้ไผ่ และเถาวัลย์ จะเห็นเพียงแนวจอมปลวกเท่านั้น ท้าวขาก่านจึงได้ให้คนแผ้วถาง ทำการสักการบูชาด้วยช่อตุง เทียน ฯลฯ แต่ก็มองไม่เห็นพระธาตุเจ้า ในระหว่างการแผ้วถางนั้น ยามค่ำคืน พระธาตุก็ได้เปล่งปาฏิหาริย์ จนสว่างสุกใส ท้าวขาก่านได้เห็น ก็พากันขุดคูในจอมปลวก ลึก 1 วา ก็ได้ก้อนผามา 1 ลูกกลมใหญ่กลมเกลี้ยง ท้าวขาก่านจึงทุบให้แตกเห็นข้างใน เป็นต้นปูนใส่ทองเทศใหญ่ มีฝาปิดสนิท จึงให้ปะขาวเชียงโคม ที่อยู่ด้วยนั้น เปิดดูก็เห็นพระธาตุเจ้า 7 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ พระพิมพ์คำ 20 องค์

ซึ่งก็เป็นพระธาตุที่พระยาการเมืองเอามาจากพระยาสุโขทัย และมาบรรจุไว้ในที่ดังกล่าว เมื่อได้ พระธาตุ ท้าวขาก่านก็เอาไปไว้ในหอพระไตรปิฏก ริมข่วงหลวง นานได้เดือนหนึ่ง แล้วไปเรียนให้พระเจ้า ติโลกราชทราบ พระเจ้าติโลกราช จึงได้มีพระกรุณาว่า พบที่ใด ให้นำไปไว้ที่นั่น เมื่อท้าวขาก่านได้ยิน ดังนั้น ก็เอาพระธาตุ ไปบรรจุไว้ที่ดอยภูเพียงที่เก่า และก็ได้ก่อเจดีย์สูง 6 วา ครอบไว้[2]

  • พ.ศ. 2023 พวกแกว(ญวน) ยกรี้พลมาตีเมืองน่าน พระเจ้าติโลกราช ได้มีอาญาให้ ท้าวขาก่าน ยกเอารี้พล 40,000 คนออกสู้รบ ทำศึกกับพวกแกว ท้าวขาก่านจึงมีชัยชนะฆ่าแกวได้มากมาย ยึดเอาช้างเอาม้า ครอบครัวแกวมาถวายพระยาติโลกราช แต่พระเจ้าติโลกราชไม่ทรงพอใจ กล่าวว่า “ แกวก๋าน (พ่ายแพ้) ก็ดีแล้ว แต่เอาครอบครัวแกวมามากมายอย่างนี้ ไม่ดี ไม่ควรเอาแกวมาอยู่ให้มากอย่างนี้” ว่าดังนั้น ก็ได้ให้ท้าวขาก่านไปอยู่เชียงราย ท้าวขาก่านจึงได้ครองเมืองน่านเป็นลำดับองค์ที่ 22[3]

อ้างอิง แก้

  1. ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน (ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช), หน้า 128
  2. หอมรดกไทย เมืองเก่าของไทย
  3. "ตำนานพระธาตุแช่แห้ง...พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดน่าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-31. สืบค้นเมื่อ 2019-12-09.
ก่อนหน้า ท้าวขาก่าน ถัดไป
เจ้าหลวงคำ
เจ้าเมืองน่าน
องค์ที่ 21
  เจ้าเมืองน่าน
องค์ที่ 22

(พ.ศ. 2019 - 2023)
  เจ้าหลวงอ้ายยวม
เจ้าเมืองน่าน
องค์ที่ 23