ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ค.ศ. 1315–1317

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ค.ศ. 1315–1317 (บางครั้งเป็นปี ค.ศ. 1315–1322) เป็นเหตุการณ์แรกในชุดวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทวีปยุโรปต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ทุพภิกขภัยครั้งนี้กระทบหลายพื้นที่ในยุโรป โดยทางตะวันออกไปจนถึงรัสเซียและทางใต้ไปถึงอิตาลี[1] ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากตลอดหลายปี และเป็นจุดสิ้นสุดของช่วงเวลาเติบโตและรุ่งเรืองนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11–13[2]

ภาพประกอบใน บิเบลียเพาเพรุม ที่เมืองแอร์ฟวร์ทช่วงที่เกิดทุพภิกขภัย มีความตายขี่หลังมันติคอร์ที่ปลายหางยาวเป็นลูกไฟแทนนรก และมีทุพภิกขภัย (fames) ชี้ปากที่หิวโหย

ทุพภิกขภัยครั้งนี้เริ่มจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1315 ทำให้พืชผลเสียหายตลอดปี ค.ศ. 1316 ก่อนจะสิ้นสุดลงเมื่อมีเก็บเกี่ยวช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1317 แต่กระนั้นยุโรปก็ไม่อาจฟื้นตัวอย่างเต็มที่จนถึงปี ค.ศ. 1322 ทุพภิกขภัยร่วมกับปัญหาโรคปศุสัตว์ทำให้จำนวนสัตว์ลดลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังเพิ่มระดับการเกิดอาชญากรรม การเสียชีวิตหมู่ โรคภัย การกินพวกเดียวกันเอง และการฆ่าทารกให้สูงขึ้นอย่างมาก ทุพภิกขภัยครั้งนี้ส่งผลต่อคริสตจักรโรมันคาทอลิก สังคมยุโรป และภัยพิบัติที่ตามมาในคริสต์ศตวรรษที่ 14

การศึกษาพบว่าทุพภิกขภัยครั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการปะทุของภูเขาไฟ[3] โดยเฉพาะภูเขาไฟตาราเวราในนิวซีแลนด์ที่ปะทุในปี ค.ศ. 1315[4][5]

เหตุการณ์

แก้

ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1315 เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ในยุโรปและตกต่อเนื่องตลอดฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน ทำให้อากาศเย็นจนไม่สามารถเก็บเกี่ยวและไม่มีหญ้าแห้งสำหรับปศุสัตว์ พื้นที่ต่ำในยอร์กเชอร์และนอตทิงแฮมในอังกฤษเผชิญกับน้ำท่วม ทำให้สระเลี้ยงปลาใกล้อาราม (stew pond) เสียหาย[6] ราคาอาหารจึงเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาอาหารในอังกฤษเพิ่มเป็นสองเท่าช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงกลางฤดูร้อน เกลือซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ใช้ถนอมอาหารหาได้ยากเนื่องจากน้ำเกลือระเหยได้ไม่ดีในสภาพอากาศชื้น ราคาเกลือจึงเพิ่มขึ้นจาก 30 ชิลลิงเป็น 40 ชิลลิง[7] ในโลทริงเงิน ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นถึง 320 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ชาวนาไม่สามารถซื้อหาขนมปังได้ ชนชั้นสูง ขุนนาง พ่อค้าที่ร่ำรวยและนักบวชเริ่มกักตุนเมล็ดพืช ภาวะขาดแคลนอาหารร่วมกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น บังคับให้ผู้คนเริ่มหาพืชผลจากในป่า[7]

มีบันทึกหลายแห่งบรรยายถึงทุพภิกขภัยครั้งนี้ เช่น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษหยุดพักที่เมืองเซนต์ออลบันส์ในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1315 และประสบปัญหาไม่มีขนมปังสำหรับพระองค์และผู้ติดตาม ถือเป็นช่วงเวลาไม่กี่ครั้งที่กษัตริย์แห่งอังกฤษไม่มีอาหารเสวย[8] ขณะที่บันทึกของเมืองบริสตอลระบุว่าในปี ค.ศ. 1315 เกิด "ทุพภิกขภัยที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก จนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่พอฝังร่างผู้เสียชีวิต มีการกินเนื้อม้าและสุนัข บางส่วนก็กินเนื้อลูกหลานตนเอง รวมถึงเนื้อพวกโจรในคุก"[9]

ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1316 ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและประชาชนทุกชนชั้นได้รับผลกระทบจากอาหารกักตุนที่กำลังจะหมด โดยเฉพาะชาวนาที่คิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดและไม่มีอาหารสำรอง[10] มีความพยายามหลายอย่างในการบรรเทาปัญหา เช่น ฆ่าสัตว์ที่ใช้ลากจูง กินเมล็ดพืช ทอดทิ้งเด็ก ๆ เพื่อไม่ให้ตนเองอดตาย หรือคนชราปฏิเสธอาหารเพื่อให้คนหนุ่มสาวได้กิน[10] ทุพภิกขภัยถึงจุดสูงสุดเมื่ออากาศยังคงชื้นในปี ค.ศ. 1317 ก่อนจะกลับมาเป็นปกติในช่วงฤดูร้อนปีนั้น ผู้คนต่างเหนื่อยล้าจากโรคภัยและการขาดแคลนอาหารอย่างหนักจนต้องล่วงเข้าปี ค.ศ. 1325 ที่สถานการณ์กลับมาเป็นปกติและระดับประชากรเพิ่มขึ้นอีกครั้ง นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงถึงยอดผู้เสียชีวิต แต่มีการประมาณว่ามีประชากร 10–25 เปอร์เซ็นต์ตามเมืองต่าง ๆ เสียชีวิต[11]

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

แก้

ทุพภิกขภัยครั้งนี้ส่งผลต่อยุโรปเหนือ รวมถึงบริติชไอลส์ ฝรั่งเศสตอนเหนือ กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ สแกนดิเนเวีย เยอรมนี และทางตะวันตกของโปแลนด์[12] นอกจากนี้ยังกระทบบางส่วนของรัฐบอลติก (ยกเว้นรัฐบอลติกทางตะวันออกไกลที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม)[12] แถบเทือกเขาแอลป์ และเทือกเขาพิรินี

อ้างอิง

แก้
  1. Lucas, Henry S. (October 1930). "The great European Famine of 1315, 1316, 1317". Speculum. 5 (4): 343–377. doi:10.2307/2848143. JSTOR 2848143.
  2. W. Mark Ormrod (2008). "England: Edward II and Edward III". ใน Michael Jones (บ.ก.). The New Cambridge Medieval History. Vol. 6. Cambridge University Press. p. 273.
  3. Cantor, Norman L. (2001). In the wake of the plague: the Black Death and the world it made. New York: Free Press. p. 74. ISBN 978-0-684-85735-0.
  4. Nairn I. A.; Shane P. R.; Cole J. W.; Leonard G. J.; Self S.; Pearson N. (2004). "Rhyolite magma processes of the ~AD 1315 Kaharoa eruption episode, Tarawera volcano, New Zealand". Journal of Volcanology and Geothermal Research. 131 (3–4): 265–94. Bibcode:2004JVGR..131..265N. doi:10.1016/S0377-0273(03)00381-0.
  5. Hodgson K. A.; Nairn I. A. (September 2005). "The c. AD 1315 syn-eruption and AD 1904 post-eruption breakout floods from Lake Tarawera, Haroharo caldera, North Island, New Zealand". New Zealand Journal of Geology and Geophysics. 48 (3): 491. doi:10.1080/00288306.2005.9515128.
  6. Lucas, Henry S. (1930). "The Great European Famine of 1315, 1316, and 1317". Speculum. 5 (4): 346. doi:10.2307/2848143. ISSN 0038-7134. สืบค้นเมื่อ 25 May 2021.
  7. 7.0 7.1 "Famine of 1315". Medieval Sourcebook. Fordham University. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 August 2011. สืบค้นเมื่อ 1 November 2010.
  8. Warner, Kathryn (28 January 2009). "Edward II: The Great Famine, 1315 to 1317". Edward II. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 July 2011. สืบค้นเมื่อ 1 November 2010.
  9. Evan T. Jones (ed.), 'Bristol Annal: Bristol Archives 09594/1' (Bristol Record Society, 2019), https://www.bristol.ac.uk/Depts/History/bristolrecordsociety/publications/BA09594-1transcription.pdf
  10. 10.0 10.1 Nelson, Dr. Lynn H. "The Great Famine and the Black Death 1315–1317, 1346–1351". Lectures in Medieval History. WWW Virtual Library. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 April 2011. สืบค้นเมื่อ 7 November 2010.
  11. Ruiz, Teofilo F. (January 1, 1996). Medieval Europe: Crisis and Renewal. An Age of Crisis: Hunger. The Teaching Company. ISBN 978-1-56585-710-0.
  12. 12.0 12.1 Jordan, William C. (1996). The Great Famine. Princeton, NJ: Princeton University Press. ISBN 978-1-4008-0417-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 August 2017. สืบค้นเมื่อ 29 August 2017.