ทอยเส้น เป็นการละเล่นสนุกของเด็กๆ หลายจังหวัด สมัยก่อนราวๆ ยุคปี 2510-2530 โดย เด็กๆ ยืนเรียงหลังแนวเส้นหนึ่ง แล้วทอยตุ๊กตุ่น ออกไปให้คาบแนวเส้น อีกเส้นหนึ่ง หรือใครใกล้แนวเส้นที่สุดชนะ

ช่วงยุคนั้น พึ่งเริ่มมีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ แบบขาวดำ มีการนำเข้า รายการทีวีจากต่างประเทศ รวมถึงนำรายการแนวฮีโร่ของญี่ปุ่น (ทั้งแบบที่เป็นการ์ตูนแอนิเมชัน และแบบคนแสดง) เข้ามาฉาย โดยเฉพาะมดแดงอาละวาด เมื่อปีพ.ศ. 2514 ทางช่อง 7 ขาวดำ (หรือช่อง 5 ปัจจุบัน) มีพ่อค้าไทยผลิตตุ๊กตุ่นตุ๊กตาเต็มตัวขนาดจิ๋ว โดยจำลองแบบมาจากฮีโร่ที่เห็นในทีวี วางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ทั้งแบบที่ขายเป็นตุ๊กตุ่นตัวเดี่ยวๆ โดยเฉพาะ หรือแถมพ่วงในซองขนมขบเคี้ยว (ผู้ใหญ่ยุคนั้นนิยมให้ฉายาว่า ขนมหลอกเด็ก เพราะไม่ค่อยมีคุณค่าทางสารอาหาร แต่เน้นสิ่งของล่อใจเด็กที่แถมอยู่ภายใน)

การทอยเส้นกึ่งๆ เป็นการพนัน เพราะมีผู้แพ้-ชนะ มีการได้-เสียเดิมพัน (หรือที่เรียกว่า "กิน") คล้ายการเล่นทอยเหรียญ หรือ Pitch and Toss ของต่างประเทศ ส่วนในไทย ที่มาไม่แน่ชัด และมีรายละเอียดแตกต่างกันไปเล็กน้อย ในแต่ละพื้นที่

ภาพถ่ายโบราณ ปี 2496 โดย จิตต์ จงมั่นคง เป็นภาพเด็กสองคนกำลังเล่น ทอยกอง ดูได้ที่ https://kajarp.wordpress.com/2015/04/10/old-photo-toygong/

อุปกรณ์ที่ใช้เล่น แก้

ตุ๊กตุ่นตัวพลาสติก หรือ ตุ๊กตุ่นตัวยาง, พื้นถนนซีเมนต์ ที่มีเส้นรอยต่อระหว่างบล็อก ระยะห่างราว 3-5 เมตร หรือ ใช้การขีดลากเส้น 2 เส้นด้วยถ่าน (ถ่าน-ฟืนไม้สีดำ ที่ใช้ก่อไฟในเตาอั้งโล่สมัยนั้น)

ตุ๊กตุ่น ขนาดที่นิยมใช้คือ ตัวความสูงประมาณ 2 นิ้วครึ่ง-3 นิ้ว (4-5 ซม.) หลากสีหลายท่าทาง ซึ่งผลิตจากพลาสติกแข็ง ต่อมานิยมใช้ตุ๊กตุ่นที่ผลิตจากยางนิ่ม เพราะพลาสติกแข็งแตกหักง่าย ชิ้นส่วนที่แข็งอาจจะจิ้มตัวเด็กเกิดแผลได้ และตัวตุ๊กตุ่นพลาสติก เมื่อทอยกระทบพื้น จะกระเด้งกระดอนไป ไม่แม่นเส้น ตุ๊กตุ่นทั้งหมดที่มีเล่นมีขายในยุคนั้น แกะแม่พิมพ์โดยคนไทย ทำโดยโรงงานพลาสติกในไทย จำลองแบบจากฮีโร่ในรายการทีวีทั้งของฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น อาทิ ป็อปอาย, โอลีฟ, ซินแบ็ด, กัปตันฮุค, ปีเตอร์แพน, โดนัลดั๊ก, คิงคอง, ไซอิ๋ว, เปาบุ้นจิ้น, โกมินทร์กุมาร, หนุมานชาญสมร, อุลตร้าแมน, ไอ้มดแดง, อคูไมเซอร์ทรี, จัมโบ้เอ, หุ่นยนต์แซ็ด, เก็ทเตอร์ ฯลฯ โดยเป็นฮีโร่จากญี่ปุ่นเยอะที่สุด

รอยต่อซีเมนต์พื้นหน้าบ้าน สมัยก่อนจะมียางมะตอยสีดำ หยอดระหว่างรอยต่อ เห็นเป็นแนวเส้น หรือใช้ถ่านดำขีดเส้นสองเส้น ห่างกันพอประมาณสำหรับเด็ก ที่จะมองเห็นเส้น และทอยได้แม่นยำ ราว 3-5 เมตร

คัดสรรก่อนเล่น แก้

เป็นการคัดเลือกว่า ใครต้องทอยก่อน เพราะคนที่ทอยทีหลัง จะสามารถเลือกหาทางหนีทีไล่ ได้ดีกว่า วิธีที่นิยมใช้ในการคัดสรร เช่น โอน้อยออก และ เป่ายิงฉุบ หรือ ทอยเปล่า แบบที่ไม่ถือแพ้ชนะกินเดิมพัน แต่ทอยเพื่อดูว่าใครใกล้-ไกลเส้น คนที่ไกลเส้น ต้องเริ่มทอยก่อน

วิธีการเล่น แก้

เริ่มจากยืน เท้าหนึ่งข้าง จรดเส้นแรกกันทุกคน ห้ามล้ำเส้น ใช้แรงเหวี่ยงจากท่อนแขน เล็งแล้วทอยตุ๊กตุ่นในมือออกไป โดยกะให้ตกคาบ (ทับ) เส้นที่สอง เมื่อทอยออกไปครบทุกคน ก็ให้เทียบว่าของใครคาบเส้น หรือใกล้เส้นที่สุด เรียกว่าเป็นผู้ชนะ

ขั้นตอนต่อไป ผู้ชนะ ใช้ปลายเท้าข้างหนึ่ง จรดที่ตำแหน่งตุ๊กตุ่นตัวเอง หยิบตุ๊กตุ่นของตัวเอง เอื้อมตัว-ยืดตัว เอาตุ๊กตุ่นไปแตะ หรือ แจะ หรือเตี๊ยม (ปา ในกรณีที่ไกล) ให้โดนตัวอื่น ที่อยู่ห่างเส้น ลำดับถัดไป เพื่อจะได้ กิน (ครอบครอง) ตุ๊กตุ่น หรือเดิมพันของคนอื่น หรืออาจจะตีมือ เขกเข่า ดีดมะกอก ฯลฯ ตามประสาเด็ก แทนการกินเดิมพัน

จบตาแรก (รอบแรก) ก็หันหลังกลับ ยืนจรดเส้นที่สอง ทอยกลับไปยังเส้นแรก โดยคนที่ห่างเส้นที่สุด ทอยก่อน ไล่ไปเรื่อยๆ ตามลำดับ

ในบางครั้งที่มีผู้เล่นเยอะ ก็อาจจะมีการแบ่ง ผู้ที่ทอยตุ๊กตุ่น ตกอยู่ ภายใต้แนวเส้น (เรียกว่า เส้นใน=ในเส้น) กับ เหนือแนวเส้น (เรียกว่า เส้นนอก=นอกเส้น) โดยที่ผู้ที่คาบเส้น หรือผู้ชนะ มีสิทธิ์เลือก ว่าจะกิน เส้นนอก หรือ เส้นใน แต่หากทอยไม่คาบเส้น ก็ถือเอาผู้ที่อยู่ใกล้เส้นที่สุด ชนะ และกินตุ๊กตุ่นตัวอื่นที่อยู่เขตพื้นที่ นอกเส้น หรือ ในเส้น เท่านั้น

หากมีตุ๊กตุ่นคาบเส้นหลายตัว ให้ใช้เกณฑ์ "คาบทีหลังดังกว่า" มีสิทธิ์ได้เลือกกินก่อน

เมื่อปา หรือเตี๊ยม กินเดิมพันเสร็จสิ้น ให้กลุ่มคนที่อยู่นอกเส้น เริ่มทอยก่อน จนหมด แล้วตามด้วย กลุ่มคนที่อยู่ในเส้น

เล่นวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ การเล่นทอยเส้น เริ่มไม่ได้รับความนิยม เมื่อเด็กเติบโตขึ้น และมีการเปลี่ยนไปใช้เงินเหรียญ ในการเล่น และกินเดิมพันเงิน ซึ่งค่อนข้างโน้มเอียงไปทางการพนันมากกว่าจะเป็นการเล่นสนุกของเด็กๆ อีกทั้งเรื่องของลิขสิทธิ์ และของเล่นนำเข้าจาก ฮ่องกง ญี่ปุ่น ซึ่งมีพัฒนาการด้านคุณภาพการผลิต ความสวยงามสมจริง มากกว่าตุ๊กตุ่นของที่ทำในไทย

ตุ๊กตุ่น สมัยก่อน ที่เป็นที่นิยม และพูดถึงในหมู่นักสะสม มาจนถึงทุกวันนี้ มักเป็นยี่ห้อ ANT คือจะมีตราโลโก้รูปมด และ/หรือตัวอักษรภาษาอังกฤษ สลักอยู่ที่ด้านหลังของตัวตุ๊กตุ่น มักจะเรียกเหมารวมว่า ""ตุ๊กตุ่นแอ๊นท์"" หรือ ""ตุ๊กตุ่นตราแอ๊นท์"" ตุ๊กตุ่นทั้งหมดในยุคนั้นแกะสลักทำแม่พิมพ์โดยคนไทย ผลิตในประเทศไทย มีทั้งที่แกะสลักสัญญลักษณ์ รูปมด และคำว่า ANT, เท้า, วัว GS, TUY, ขวาน ฯลฯ บางตัวก็ไม่มีสัญญลักษณ์กำกับ เนื่องจากเป็นงานที่ไทยประดิษฐ์ และไม่ได้ลิขสิทธิ์ จึงไม่มีภาพต้นแบบที่ถูกต้องสมบูรณ์ ช่างแกะแม่พิมพ์จะสังเกตจดจำจากทีวี หรือดูภาพนิ่งตามในนิตยสาร ผสมกับจินตนาการส่วนตัว แล้ววาดลงบนกระดาษ ทั้งด้านหน้า-หลังของตัวตุ๊กตุ่น ตามขนาดที่จะผลิตจริง จัดท่าทางกางแขนขาหลากแบบแตกต่างกันไป

แหล่งข้อมูลอื่น แก้