โอน้อยออก เป็น กระบวนการสั้นๆ ที่เด็กๆ นิยมใช้เพื่อ คัดสรร จัดลำดับ แบ่งกลุ่ม แยกข้าง ฯลฯ ก่อนจะเริ่มเล่นเกมต่างๆ ที่ต้องมีการคัดแยกทีม หรือเรียงลำดับก่อนหลัง ด้วยการนับ"จำนวน"คนที่ หงาย หรือ คว่ำฝ่ามือ เป็นเครื่องแบ่ง และมักใช้คัดสรร เมื่อมีเด็กตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ถ้าเหลือ 2 คน จะใช้การ "เป่ายิ้งฉุบ" หรือ "เป่ายิงฉุบ" แทน น่าประหลาดใจที่ "โอน้อยออก" และ "เป่ายิงฉุบ" เป็นที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่การสื่อสารยุคก่อน ไม่สะดวกง่ายดาย แต่เด็กทุกภูมิภาค ล้วนรู้จัก "โอน้อยออก" เหมือนๆ กัน

ส่วนเด็กต่างประเทศ เท่าที่ทราบ ไม่ค่อยมี "โอน้อยออก" แต่มักใช้การ เป่ายิงฉุบ (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียก hammer-paper-scissors หรือ Rock-paper-scissors[1]) เพื่อคัดสรร ไม่ว่าจะมีกี่คน ก็ เป่ายิงฉุบ ไปเรื่อยๆ โดยที่หากมีจำนวนเยอะมากกว่า 3 การแสดงมือเป่ายิงฉุบจะเป็นเพียง การนับจำนวน ผู้ที่แสดงมือ ค้อน-กรรไกร-กระดาษ สิ่งใดน้อยก็ถือว่าตกรอบออกไปก่อน ต่อเมื่อเหลือ 2 คน การเป่ายิงฉุบ จึงใช้การตัดสิน สิทธิ์ที่เหนือกว่า ของ ค้อน-กรรไกร-กระดาษ

ยกตัวอย่างการโอน้อยออก เช่น ก่อนการเล่นทอยเส้น หากมีจำนวนเด็กตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ก็จะต้องทำการจัดเรียง ว่าใคร อยู่ลำดับแรก เริ่มทอยก่อน (โดยทั่วไป ทุกคนต้องการเป็นคนสุดท้าย)

เด็กๆ จะเริ่มเรียก "มา โอน้อยออก กัน" จากนั้นทุกคนก็รวมกลุ่มยืนล้อมเป็นวง แล้วยื่นท่อนแขนตั้งแต่ศอกลงมาถึงมือ ออกมาหนึ่งข้าง ตั้งฉากกับลำตัว หรือขนานกับพื้นโลก เหยียดฝ่ามือ หันสันมือลงกับพื้น (นิ้วโป้งอยู่ด้านบน นิ้วก้อยอยู่ด้านล่าง) คล้ายท่า จะจับมือทักทายของฝรั่ง แล้ว สะบัดฝ่ามือแกว่งตามแนวนอน คล้ายการทำท่าพัด พร้อมกับช่วยกันเปล่งเสียงคำว่า "โอ...น้อย...อ่อก" ด้วยการลากเสียงคำว่า "โอ" และ/หรือ ลากเสียงคำว่า "น้อย" เพื่อเป็นการนัดพร้อม และออกเสียงห้วนๆ สั้นๆ กับคำว่า "ออก" เพื่อให้ทุกคนที่ล้อมวง เลือกว่า จะ "หงายฝ่ามือ" หรือ "คว่ำฝ่ามือ" ใคร หรือ กลุ่มใด แสดงผล "หงายฝ่ามือ" หรือ "คว่ำฝ่ามือ" มีจำนวนน้อยกว่า (เสียงส่วนน้อย) ก็เท่ากับว่าแพ้ ตกรอบไปก่อน คนที่เหลือ ก็ "โอน้อยออก" กันต่อไป คัดเสียงส่วนน้อย ออกไปเรื่อยๆ จนเหลือ 2 คน ก็จะใช้วิธีการ เป่ายิ้งฉุบ หรือ เป่ายิงฉุบ แทน ก็จะได้ผู้ชนะสุดท้าย

แหล่งข้อมูลอื่น แก้