ทอง (ภาพยนตร์)
บทความเกี่ยวกับบันเทิงเรื่องนี้ต้องการเก็บกวาด ตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไขรูปแบบ ข้อมูลบางส่วนมีลักษณะเหมือนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายวิกิพีเดีย ผู้เขียนบทความนี้หรือส่วนนี้อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียเชิงพาณิชย์ |
ทอง เป็นภาพยนตร์ไทยแนวแอ็คชั่น มีชื่อภาษาอังกฤษว่า S.T.A.B.(Gold) กำกับการแสดงโดย ฉลอง ภักดีวิจิตร เข้าฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 โดยมีคำโปรยบนโปสเตอร์ว่า "ในโลกนี้ ทองแท้นั้นมีน้อยนัก บทพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 6"
ทอง | |
---|---|
กำกับ | ฉลอง ภักดีวิจิตร |
เขียนบท | พันตำรวจตรี ประชา พูนวิวัฒน์ (บทประพันธ์) สมชาย อาสนจินดา (บทภาพยนตร์) |
อำนวยการสร้าง | สุมน ภักดีวิจิตร |
นักแสดงนำ | สมบัติ เมทะนี กรุง ศรีวิไล เกร็ก มอร์ริส กฤษณะ อำนวยพร พิภพ ภู่ภิญโญ สมชาย สามิภักดิ์ ดลนภา โสภี อโนมา ผลารักษ์ เถิ่ม ถุย หั่ง ดามพ์ ดัสกร |
กำกับภาพ | ดรรชนี (นามแฝงของฉลอง ภักดีวิจิตร) |
ตัดต่อ | วิสิทธิ์ แสนหวี |
ดนตรีประกอบ | ดิอิมพอสซิเบิ้ล (Soundtrack) ประเสริฐ จุลละเกตุ (Music score) |
ผู้จัดจำหน่าย | บางกอกภาพยนตร์ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล |
วันฉาย | 22 ธันวาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2519 |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ภาษา | ภาษาไทย |
ทุนสร้าง | 10 ล้านบาท |
ต่อจากนี้ | ทอง 2 (Gold Raiders) |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย |
เรื่องย่อ
แก้ในช่วงสงครามเวียตนามกำลังดำเนินไป เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างทหารไทยและทหารอเมริกันเรื่องการขโมยทองบนเครื่องบินตำรวจ ที่จะนำไปช่วยรัฐบาลเวียตนามใต้ ทั้งสองฝ่ายก่อเหตุฆ่ากันตายเพื่อชิงทอง เมื่อลงจอดสนามบินซำทอง ที่ประเทศลาว ทหารเวียตกงยิงนักบินไทยและทหารอเมริกันตายทั้งหมดและทองก็ถูกขโมย
ฮิลล์ (เกร็ก มอริส) สายลับมือดีของ ซีไอเอ. ที่ประจำการอยู่ที่ประเทศไทยได้รับคำสั่งให้จัดทีมหน่วยรบพิเศษ จำนวน 5 คน เพื่อไปชิงทองคำที่ถูกพวกเวียตกงขโมยไป ประกอบไปด้วย ชาติ (สมบัติ เมทะนี) อดีตนายทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี ที่กำลังถูกตัวไปขึ้นศาลในคดีฆาตกรรม ซึ่ง ฮิลล์ และ ชินทาโร่ (ดามพ์ ดัสกร) ลูกทีมของฮิลล์ชาวญี่ปุ่น พาหนีมาได้ ศาสตรา (กรุง ศรีวิไล) อดีตนายทหารช่าง ที่ติดการพนันงอมแงมก็เข้าร่วมเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ที่ถูกโกงไป และจางเฟย (กฤษณะ อำนวยพร) คอมมานโดชาวไต้หวันที่เชี่ยวชาญด้านรถติดอาวุธและสอดแนม
เมื่อฮิลล์รวมทีมได้ครบ 5 คนแล้ว จึงกระโดดร่มมาทางเครื่องบินตำรวจ และไปปะทะกับกลุ่มทหารเวียตกงที่จะไปออกรบในป่า ทีมได้เจอสาวสายลับสองคนคือ ซูผิง (เถิ่ม ถุย หั่ง) ซึ่งเคยมีเหตุรักสามเส้าระหว่างศาสตราและชินทาโร่ ส่วนอีกคนคือ จันทร์แรม (อโนมา ผลารักษ์) ตำรวจหญิงจากหน่วยกองปราบที่พาแตงอ่อน (ดลนภา โสภี) เชลยชาวบ้านที่ถูกพวกเวียตกงจับไป ทั้ง 8 จึงต้องหาทางนำทองกลับมาให้ได้ ซึ่งรวมถึงต้องสู้และหนีกับทหารเวียตกงที่ตามไล่ล่าคนบุกรุกเช่นกัน โดยที่สามารถพังค่ายนายพลแจ่ม (พิภพ ภู่ภิญโญ) ได้สำเร็จ ระหว่างทางจันทร์แรมมักไม่ค่อยถูกชะตากับชาตินัก เพราะเห็นว่าชาติเป็นคนเย็นชาเลือดเย็นและปากร้าย แต่เมื่อชาติช่วยชีวิตจันทร์แรมจากกับระเบิด ทำให้ทั้งคู่ปรับความเข้าใจหันมามองแง่ดีแก่กันขึ้น จันทร์แรมจึงได้รู้ว่าที่ชาติกลายเป็นคนอย่างนี้เพราะเจ็บปวดกับการถูกภรรยาหักหลังไปมีชู้ทำให้เขาบันดาลโทสะฆ่าภรรยาและชู้พร้อมเผาทั้งคู่ตาย จึงทำให้กลายมาเป็นผู้ต้องหาฆ่าคน ศาสตรา ไปพบความจริงเข้าว่า ซูผิง นั้นเป็นสายลับสองหน้าจึงเกิดปากเสียงและศาสตราจะฆ่าซูผิงในฐานะคนทรยศ อย่างที่เขาเคยถูกเธอทำมาก่อน แต่ขณะที่กำลังจะฆ่าซูผิงด้วยน้ำมือของศาสตราเอง พวกเวียตกงก็บุกมา และฆ่าทองอ่อนตาย ทำให้ทีมได้รู้ว่าทองอ่อนนั้นเป็นสายลับสองหน้าที่แท้จริง ศาสตราและซูผิงจึงปรับความเข้าใจกัน ก่อนตายทองอ่อนบอกว่าทองคำที่ถูกขโมยไปอยู่ที่สนามบินซำทองนั่นเองและพวกเวียตกงกำลังจะขนย้ายไปในเร็ววันนี้ ทั้งหมดที่เหลือจึงปลอมตัวเป็นทหารเวียตกงฝ่าด่านและเข้าไปชิงทองเกิดการต่อสู้กันบนลานบิน ศาสตรากับซูผิงขึ้นไปบนเครื่องบินของตำรวจไทยและพยายามหาทางซ่อมเครื่องบินให้กลับมาใช้ได้ ขณะที่คนอื่นประวิงเวลาเอาไว้ ชาติ จันทร์แรม และ ชินทาโร่ ถูกฮิลส์สั่งให้ขึ้นเครื่องบินเพื่อไปป้องกันทองคำเอาไว้ ส่วนตัวฮิลส์และจางเฟยจะสกัดข้าศึก ซึ่งเวลาเดียวกับที่กองกำลังเวียตกงที่นำโดยนายพลสุรสิงห์ (สมชาย สามิภักดิ์) ได้ตามมาถึงเพื่อขัดขวางไม่ให้เครื่องบินขึ้นได้ ฮิลส์จึงสละชีวิตเอารถยิงขีปนาวุธสกัดเอาไว้และถูกระเบิดจากพวกเวียตกงยิงเข้าใส่ตาย ส่วนจางเฟยก็ตัดสินใจเอารถมอเตอร์ไซด์ของตนเองพุ่งเข้าชนรถของนายพลสุรสิงห์ระเบิดตายไปตามกัน เมื่อเครื่องบินขึ้นไปแล้วทองคำจึงกลับคืนสู่ฝ่ายโลกเสรีอีกครั้ง ชาติได้มอบทองคำแก่ซูผิงเพื่อเอาไปช่วยรัฐบาลเวียตนามใต้ แต่แล้วก็ถูกชินทาโร่ทรยศขัดขวางและยิงชาติล้มลงไป เพราะชินทาโร่ต้องการเก็บทองคำไว้คนเดียว จันทร์แรมจึงต่อสู้กับชินทาโร่ และผลักชินทาโร่ตกจากเครื่องบิน ร่วงหล่นสู่เบื้องล่างถึงแก่ความตาย จันทร์แรมเสียใจและเสียดายในการเสียสละชีวิตของชาติ แต่ชาติยังไม่ตาย เพราะเขาเผลอขโมยทองคำแท่งใส่ในกระเป๋าเสื้อเนื่องด้วยความแอบโลภของเขาด้วยนั่นเอง แต่ตอนนี้ชาติได้รู้แล้วว่ามีสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าทองและคืนความเป็นมนุษย์แก่เขาได้นั่นคือจันทร์แรม ทั้งคู่จึงพลอดรักกัน ส่วนศาสตราและซูผิงก็เช่นกันเพื่อทั้งคู่พบว่ากันและกันนั้นสำคัญกว่าทอง แล้วทั้งสี่คนจึงนั่งเครื่องบินที่ขนทองกลับคืนสู่ประเทศไทย
รายนามนักแสดงเรื่องทอง
แก้- สมบัติ เมทะนี เป็น ชาติ (พระเอก) -อดีตนายทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี มีลูกบ้าเลือดเย็นและฆ่าคนโดยไม่เกรง กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่าภรรยาและชู้ ฮิลส์พาชาติเข้าร่วมทีมและตกลงเข้าร่วมทีมเพื่อล้างประวัติอาชญากรรมของตนเอง
- กรุง ศรีวิไล เป็น ศาสตรา (พระรอง) -อดีตนายทหารช่างกองทัพบก ติดการพนันงอมแงม กะล่อน มีความชำนาญเรื่องเครื่องกล มีความหลังฝังใจ กับ ซูผิง
- เกร็ก มอร์ริส เป็น ฮิลล์ (พระรอง) สายลับซีไอเอ มือดีที่มาประจำการที่ประเทศไทย เป็นคนจริงจังแต่ก็แฝงความอารมณ์ดีและเป็นหัวหน้าทีมของหน่วยรบพิเศษ
- กฤษณะ อำนวยพร เป็น จางเฟย ทหารรับจ้างชาวไต้หวัน มีรถมอเตอร์ไซด์ติดอาวุธคู่ใจ เก่งการสอดแนมและจู่โจม เข้าร่วมทีมเพราะไม่ชอบพวกคอมมิวนิสต์
- ดามพ์ ดัสกร เป็น ชินทาโร่ คอมแมนโดจากกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ไม่ถูกกับศาสตราเพราะเคยเล่นการพนันแพ้และเสียซูผิงให้ศาสตราไป เชี่ยวชาญการต่อสู้แบบนินจา
- อโนมา ผลารักษ์ เป็น จันทร์แรม (นางเอก) ตำรวจหญิงจากกองปราบปลอมตัวมาสืบหาทองคำที่หายไปและได้พบกับทีมของฮิลล์
- เถิ่ม ถุย หั่ง เป็น ซูผิง (นางรอง) สายลับของเวียตนามใต้ เป็นคนลึกลับเคยหักอกทั้งศาสตราและชินทาโร่ เก่งการต่อสู้มือเปล่า
- พิภพ ภู่ภิญโญ เป็น ท่านนายพลแจ่ม นายพลกองทัพเวียตกงที่ตั้งฐานกำลังในป่า
- สมชาย สามิภักดิ์ เป็น ท่านนายพลสุรสิงห์ นายพลใหญ่ในกองทัพเวียตกงต้องการทองคำเพื่อเก็บไว้แก่ตนเองโดยมีเรื่องกองทัพบังหน้า
- ดลนภา โสภี เป็น ทองอ่อน หญิงเชลยชาวบ้าน ที่ครอบครัวถูกจับและจันทร์แรมเข้าช่วยไว้ แท้จริงแล้วคือสายลับสองหน้า
รางวัล
แก้ภาพยนตร์ได้รับ 3 รางวัลจากการประกาศผลรางวัลตุ๊กตาทองประจำปี 2517 จัดโดยสมาคมหอการค้าไทย คือ [1]
- รางวัลการลำดับภาพและตัดต่อยอดเยี่ยม
- รางวัลการถ่ายภาพยอดเยี่ยม
- รางวัลการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม [2]
อ้างอิง
แก้- ↑ "กระทู้จากเว็บ thaifilm.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-24. สืบค้นเมื่อ 2009-03-05.
- ↑ หนึ่งเดียว. พิพิธภัณฑ์หนังไทย ฉบับ "ประวัติการณ์ที่สุดหนังไทย". กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ป็อปคอร์น, พ.ศ. 2549. หน้า 328. ISBN 974-94228-8-0