เทศบาลเมืองป่าตอง

เทศบาลเมืองในจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก ตำบลป่าตอง)

ป่าตอง เป็นเทศบาลเมืองซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าตองในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด เพราะเป็นที่ตั้งของหาดป่าตอง เดิมป่าตองเคยเป็นส่วนหนึ่งของสุขาภิบาลกะทู้ จนกระทั่งใน 8 มีนาคม พ.ศ. 2529 ได้จัดตั้งสุขาภิบาลป่าตองแยกออกจากสุขาภิบาลกะทู้ ต่อมาใน 12 มกราคม พ.ศ. 2537 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลป่าตอง[1] และใน 12 เมษายน พ.ศ. 2545 จึงยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองป่าตอง[2] เป็นหนึ่งในสองเทศบาลเมืองของอำเภอกะทู้ ร่วมกับเทศบาลเมืองกะทู้ ปัจจุบันเทศบาลเมืองป่าตองมีประชากร 21,358 คน[3] และเนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงมีประชากรแฝงมาก[4] ป่าตองเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคลื่นสึนามิถล่มใน พ.ศ. 2547

เทศบาลเมืองป่าตอง
ประเทศ ไทย
จังหวัดภูเก็ต
อำเภอกะทู้
จัดตั้ง
  •  • พ.ศ. 2529 (สุขาภิบาลป่าตอง)[1]
  •  • พ.ศ. 2537 (ทต.ป่าตอง)
  •  • พ.ศ. 2545 (ทม.ป่าตอง)[2]
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีเฉลิมศักดิ์ มณีศรี
พื้นที่
 • ทั้งหมด16.40 ตร.กม. (6.33 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2562)[3]
 • ทั้งหมด21,358 คน
 • ความหนาแน่น1,302.32 คน/ตร.กม. (3,373.0 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.04830201
ที่อยู่
สำนักงาน
เลขที่ 12/3 ถนนราชปาทานุสรณ์ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
เว็บไซต์www.patongcity.go.th/frontpage
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เทศบาลเมืองป่าตอง อยู่ห่างจากเทศบาลนครภูเก็ต 16 กิโลเมตร มีชุมชนทั้งหมด 7 ชุมชน และมีพื้นที่ติดกับทะเลอันดามัน ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นเทือกเขาทอดตัวรอบอ่าวป่าตองเป็นรูปคล้ายอัฒจันทร์ บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มต่ำ[5] ในเขตเทศบาลมีคลองทั้งหมด 8 แห่ง มีอ่างเก็บน้ำหนึ่งแห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองบางต้นข้าว และมีเขตป่าสงวนสองแห่ง ได้แก่ ป่าเทือกเขากมลา ซึ่งปัจจุบันถูกถางบางส่วนเพื่อปลูกยางพารา อีกแห่งคือ ป่าเทือกเขานาคเกิด ซึ่งมีความอุดมสมบูรณมากกว่า นอกจากนี้ ยังมีน้ำตกวังขี้อ้อน ซึ่งเคยเป็นแหล่งน้ำใช้ของประชาชนในอดีต[4]

ประชากรส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลนับถือศาสนาพุทธ มีวัดเพียงแห่งเดียวคือวัดสุวรรณคีรีวงก์ อาชีพของประชากรส่วนใหญ่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจโรงแรม การศึกษา มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาภูเก็ต 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านกะหลิมและโรงเรียนวัดสุวรรณคีรีวงก์ และมีโรงเรียนสังกัดเทศบาลอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเทศบาลเมืองป่าตอง (บ้านไสน้ำเย็น) และโรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองป่าตอง ด้านการสาธารสุข มีโรงพยาบาลจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลป่าตอง มีขนาด 60 เตียง การขนส่งมีถนนในเขตเทศบาล 20 สาย และมีถนนที่เชื่อมต่อกับเทศบาลเมืองกะทู้และเทศบาลนครภูเก็ต ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4020 และ 4029[4]

ด้านการท่องเที่ยว นอกจากหาดป่าตองแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่ หาดไตรตรังค์ หาดพาราไดส์ หาดฟรีดอม หาดกะหลิม สวนสาธารณะโลมา และถนนคนเดินซอยบางลา[4]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ประวัติเทศบาลเมืองป่าตอง
  2. 2.0 2.1 "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองป่าตอง พ.ศ. ๒๕๔๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 119 (100 ก): 1–2. 4 ตุลาคม 2545. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-04-17. สืบค้นเมื่อ 2020-05-15.
  3. 3.0 3.1 สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ระบบสถิติทางการทะเบียน : รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้านประจำปี พ.ศ. 2562." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/ [ม.ป.ป.]. สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2563.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานเทศบาลเมืองป่าตอง (ฉบับเต็ม)
  5. สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานเทศบาลเมืองป่าตอง (ฉบับย่อ)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้