ตัวรับแอมพา เป็นตัวรับหรือรีเซพเตอร์ (receptor) สำหรับสารสื่อประสาทกลูตาเมทชื่อตัวรับแอมพานี้เกิดจากที่สารแอมพาสามารถจับตัวรับนี้ได้ด้วย ตัวรับนี้เป็นตัวรับชนิดที่ไม่ใช่ตัวรับเอ็นเอ็มดีเอที่จับอยู่กับช่องไอออน (ion channel) ตัวรับแอมพามีหน้าที่หลัก คือ ถ่ายทอดสัญญาณไซแนปติกทรานสมิชชั่นชนิดเร็ว (fast synaptic transmission) ในระบบประสาทส่วนกลาง (ซีเอ็นเอส)

ตัวรับแอมพา ประกอบด้วยหน่วยย่อย (subunit) 4 ชนิด คือ กลูอาร์1 (GluR1) , กลูอาร์2 (GluR2) , กลูอาร์3 (GluR3) และกลูอาร์4 (GluR4) ในตัวรับหนึ่งๆ เกิดขึ้นจากหน่วยย่อยเหล่านี้รวมกันสี่หน่วยที่เรียกว่า เตตระเมอร์ (tetramer) ส่วนใหญ่แล้วตัวรับแอมพามักเป็นชนิดที่เกิดจากกลูอาร์1 ทั้งสี่หน่วย หรือเกิดจากกลูอาร์4 ทั้งสี่หน่วย ซึ่งเรียกว่า โฮโมเตตระเมอร์ (homotetramer) หรือชนิดที่เกิดจากกลูอาร์2 สองหน่วยและกลูอาร์3 สองหน่วย

ตัวรับแอมพามีโครงสร้างที่พาดผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ (transmembrane domain) แบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยปลายด้านเอ็น ( N-terminus) อยู่ภายนอกเซลล์ ส่วนปลายด้านซี (C-terminus) อยู่ภายในเซลล์ เนื่องจากตัวรับแอมพาประกอบด้วยสี่หน่วยย่อยและในแต่ละหน่วยย่อยนั้นสารอะโกนิสต์สามารถจับได้หนึ่งตำแหน่ง ดังนั้นตัวรับแอมพาหนึ่งตัวจะมีสารอะโกนิสต์มาจับได้ทั้งหมดสี่โมเลกุล ทั้งนี้ช่องไอออนจะเปิดได้เมื่อสารอะโกนิสต์มาจับที่ตัวรับตั้งแต่สองหน่วยย่อยขึ้นไป ทั้งนี้ไอออนที่สามารถผ่านตัวรับแอมพาเข้าไปในเซลล์ประสาทได้ คือ ไอออนแคลเซียม ไอออนโซเดียม ไอออนโพแทสเซียม โดยเกิดจากการทำงานของหน่วยย่อยกลูอาร์2

อ้างอิง แก้