ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี

ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ถือเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ ที่เกิดการสะสมตัวในยุคใหม่ และถูกให้ความสนใจอย่างมาก ลักษณะของพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นต้นแบบที่สำคัญของการศึกษาการสะสมตัวของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ โดยดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปีเกิดขึ้นจากการสะสมตัวของตะกอนน้ำพาที่ถูกพัดพามาจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา กระบวนการสะสมตัวของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 5,000 ปี รองรับตะกอนที่น้ำพาจากแม่น้ำมิสซิสซิปปีอย่างมหาศาล ทำให้เกิดชายฝั่งทางตอนใต้ของรัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา และเกิดการสะสมตัวพอกเข้าไปในอ่าวแม็กซิโกที่มีช่วงความยาวตั้งแต่ 24 ถึง 80 กิโลเมตร

ภาพดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปีในปี 2001 แสดงลักษณะของตีนนก

ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 12,000 ตารางกิโลเมตร และคิดเป็น 40% ของพื้นที่ลุ่มดินเค็มในประเทศสหรัฐอเมริกา[ต้องการอ้างอิง] พื้นที่แห่งนี้ยังถือเป็นพื้นที่สำคัญในเชิงพาณิชย์ โดยเป็นท่าเรือส่งสินค้าให้กับเมืองนิวออร์ลีนส์ เป็นพื้นที่ที่สามารถผลิตน้ำมันให้กับสหรัฐอเมริกาประมาณ 16-18%[ต้องการอ้างอิง] และเป็นพื้นที่การประมงที่สำคัญในประเทศด้วย

ลักษณะทางกายภาพ

แก้

ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา โดยการสะสมตัวของตะกอนทำให้เกิดดินดอนสามเหลี่ยมที่มีรูปร่างเป็นลิ้นสะสมตัวพอกเข้าไปในทะเล เกิดทางน้ำสาขา ที่ไหลแยกออกจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี หลายสาขาย่อยพัฒนาตัวขึ้นบนลิ้น และคันดินธรรมชาติขึ้น แสดงดังลักษณะดังกล่าวโผล่พ้นระดับน้ำทะเล ทำให้ลักษณะของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับตีนนก

ลักษณะการสะสมตัวของชั้นตะกอนทรายในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี มีลักษณะเป็นเลนส์ของทรายขนาดใหญ่แทรก อยู่ในตะกอนขนาดละเอียด ซึ่งลักษณะของเลนส์ทราย ทำให้เกิดแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่ดีได้

วิวัฒนาการการสะสมตัว

แก้

ลักษณะของตะกอนทรายที่พบบริเวณตอนล่างของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปีม การพัดพามาโดยแม่น้ำมิสซิสซิปปีเป็นหลัก วิวัฒนาการการสะสมตัวของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี เกิดจากการกวัดแกว่งของแม่น้ำมิสซิสซิปปี ทำให้เกิดการพัฒนาของลิ้นเปลี่ยนไปมาตามการกวัดแกว่งของทางน้ำ ประกอบกันการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอดีต ซึ่งการสะสมตัวของตะกอนในบริเวณนี้เริ่มเกิดขึ้นมามากกว่าหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว

การสะสมตัวของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเกิดการสะสมตัวตั้งแต่ในยุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย ในช่วงยุคไพลสโตซีน ซึ่งในยุคดังกล่าวระดับน้ำทะเลลดลงจากระดับปัจจุบันถึง 130 เมตร ทำให้เกิดการสะสมตัวของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไกลจากชายฝั่งปัจจุบันอย่างมาก ต่อมาเมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้น้ำแข็งค่อยๆละลาย ทำให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนช่วงที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น และเข้าสู่ยุคปลายของไพลสโตซีนที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุด ทำให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนอีกชุดหนึ่งในช่วงระดับน้ำทะเลสูง จนเข้าสู่ช่วงปัจจุบัน

 
วิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของลิ้นในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี

การสะสมตัวในช่วงที่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล

แก้

การสะสมตัวในช่วงเวลาที่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลเกิดในช่วงที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงในช่วงปลายของยุคไพลสโตซีน ทำให้เกิดการสะสมตัวของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ 3 ลิ้นซ้อนทับกัน คือ Outer Shoal, Maringouin และ Teche ตามการกวัดแกว่งของแม่น้ำในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากผลของการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล และการทรุดตัวของพื้นที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมจากน้ำหนักของตะกอนน้ำพาที่มีอย่างมหาศาล จึงทำให้ตะกอนลิ้นแรกจมตัวและถูกปิดทับด้วยลิ้นถัดไปที่เกิดจากการกวัดแกว่งของทางน้ำไปทางใหม่

การสะสมตัวของตะกอนที่ได้ เป็นการสะสมพอกเข้าไปในทะเล และไล่ขนาดเล็กจากข้างล่างขึ้นไปสู่ตะกอนขนาดใหญ่ด้านบน จากนั้นถูกปิดทับด้วยตะกอนทรายที่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล

การสะสมตัวในช่วงที่ระดับน้ำทะเลสูง

แก้

การสะสมตัวในช่วงเวลานี้เกิดขึ้นหลังจากที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดหลังจากช่วงปลายของยุคไพลสโตซีนจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการสะสมตัวของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอีก 3 ลิ้นจน คือ Saint Bernard, Lafourche และ Modern โดยเป็นการกวัดแกว่งของทางน้ำเช่นเดียวกันกับในช่วงที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น

การสะสมตัวของตะกอนที่ได้เป็นการสะสมตัวพอกขึ้นด้านบน แสดงการไล่ขนาดของตะกอนจากเล็กไปใหญ่ จากด้านล่างขึ้นด้านบน และได้ชั้นของถ่านหินที่หนามากปิดทับในส่วนที่ราบลุ่มน้ำขัง

อ้างอิง

แก้
  • Penland S., Boyd R., Suter J., 1989, Sequence Stratigraphy of Mississippi Delta: Transections-Gulf of Coast Assosiation of Geological Society, v. 39, p. 331-340.
  • Penland S., Boyd R., Suter J., 1988, The Transgressive Depositional Systems of the Mississippi Delta Plain: A Model for the Barrier Shoreline and Shelf Sand Development: Journal *Sedimentary Petrology, v. 58, p. 932-949.
  • Reading H. G., 1996, Sedimentary Environment: Process, Facies and Stratigraphy. third edition. Maine, USA: Blackwell Publishing.
  • Fisk H. N., Mcfarlan J., 1955, Late Quaternary deltaic deposits of the Mississippi River-Local Sedimentation and Basin Tectonics: GSA Special Paper . v. 62, p.279-302.
  • sattelite image