ดะโต๊ะยุติธรรม (อาหรับ: قاضي, qāḍī; อักษรโรมัน: kadi, kadı, kazi, qaadee, qaadi, qadi, qazi หรือ quazi) เป็นตุลาการซึ่งได้รับแต่งตั้งในประเทศมุสลิมเพื่อให้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอิสลาม ทั้งนี้ ตามจารีตประเพณีแล้ว ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม และคำวินิจฉัยของดะโต๊ะยุติธรรมต้องเป็นไปตามอิจญ์มา (ijmāʿ) หรือบรรทัดฐานที่เมธีอิสลามตั้งไว้

อะบูซัยด์ (Abû Zayd) ให้การต่อดะโต๊ะยุติธรรมแห่งมะอัรรัต (Ma'arrat) ภาพเขียนใน ค.ศ. 1334

สถาบันดะโต๊ะยุติธรรมมีกำเนิดมาจากอัล-ฮะกัม (al-Ḥakam) หรือตุลาการสมัยโบราณ และภายหลังได้เพิ่มเติมคุณสมบัติขึ้นตามเหล่าข้าราชการในท้องที่ที่ชาติอาหรับยึดครอง ส่วนคำว่า "กอฎี" (qāḍī) ในภาษาอาหรับนั้นปรากฏมาตั้งแต่สมัยนบีมุฮัมมัด และใช้เรียกตุลาการมาตลอดระยะประวัติศาสตร์อิสลามและตลอดสมัยรัฐเคาะลีฟะฮ์

ในประเทศไทยปัจจุบัน ดะโต๊ะยุติธรรมเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามในศาลยุติธรรม