ซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย

ซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย (Maria Temryukovna, รัสเซีย: Мари́я Темрюко́вна, ราวค.ศ. 1544 - 1 กันยายน ค.ศ. 1569) เป็นซารีนาเชื่อสายชาวเซอร์คาสเซียน แห่งอาณาจักรซาร์รัสเซีย และเป็นพระมเหสีพระองค์ที่สองในซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย

มารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย
ภาพวาดเรื่องราวพระเจ้าซาร์และซารีนามารีเยีย พร้อมซาเรวิชอีวานและซาเรวิชเฟโอดอร์ เสด็จจากเมืองอะเลคซันดรอฟ กลับไปยังมอสโก
ซารีนาแห่งรัสเซีย
ครองราชย์21 สิงหาคม ค.ศ. 1561-
1 กันยายน ค.ศ. 1569
ก่อนหน้าว่าง
อนาสตาเซีย โรมานอฟนา
ถัดไปว่าง
มาร์ฟา โซบาคินา
ประสูติราวค.ศ. 1544
คาบาร์เดีย
สวรรคตผิดพลาด: ต้องการวันเกิดที่ถูกต้อง (วันที่สอง): ปี เดือน วัน
อะเลคซันดรอฟ, แคว้นวลาดีมีร์, อาณาจักรซาร์รัสเซีย
ฝังพระศพคอนแวนต์แอสเซนชัน โคโลเมนสโกเย
วิหารเทวทูต เครมลินแห่งมอสโก (ค.ศ. 1929)
พระราชสวามีซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย
พระราชบุตรซารเรวิชวาซิลี อีวาโนวิช
พระนามเต็ม
มารีเยีย เตมรีอูคอฟนา
เดิม
โคเชนีย์ บินท์ เตมูร์
ราชวงศ์รูริค
พระราชบิดาเตมรูคแห่งคาบาร์เดีย
ศาสนาออร์โธดอกซ์รัสเซีย
เดิม อิสลาม

พระชนม์ชีพ

แก้

เสกสมรส

แก้
 
พระธำมรงค์ประจำพระองค์ของซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย

มารีเยียเป็นธิดาของเตมรูค (ติมูร์ หรือ เตมูร์) แห่งคาบาร์เดีย นับถือศาสนาอิสลาม พระนามเดิมของมารีเยีย คือ โคเชนีย์ บินท์ เตมูร์ [Qochenay bint Teymour] (Кученей) เป็นพระนามเดิมก่อนที่เข้าพิธีศีลจุ่ม หลังจากที่ซารีนาอนาสตาเซีย โรมานอฟนา พระมเหสีพระองค์แรกสิ้นพระชนม์ได้ 8 วัน โดยมีเขียนบรรยายว่า "สังฆมณฑล คณะสงฆ์และขุนนางโบยาร์ได้เชื้อเชิญอย่างจริงจังให้พระองค์เสาะหาเจ้าสาว และแจ้งว่าจะผ่อนปรนกฏแห่งความเหมาะสม"[1] แต่เดิมซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซียทรงตั้งพระทัยที่จะอภิเษกสมรสกับคาทาริสนา จากีลอน พระขนิษฐาในกษัตริย์โปแลนด์ แต่กษัตริย์โปแลนด์ทรงเรียกร้องดินแดนปัสคอฟ สโมเลนสค์ และเวลีคีนอฟโกรอด จึงทำให้พระองค์ล้มเลิกแผนการ

ในปีค.ศ. 1560 พระเจ้าซาร์ทรงส่งขุนนางดูตัวไปสองคน คือ โวคเชรีนและเมียคีนิน ไปยังแถบเทือกเขาคอเคซัส "เพื่อดูตัวธิดาของเหล่าเจ้านครแถบเชอกาซี" ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1561 ก็ได้พบเจ้าหญิงโคเชนีย์ "สตรีชาวเชอกาจากเมืองปียาตีกรอสค์" พวกเขาจึงให้เธอเดินทางมายังมอสโกพร้อมพี่ชายของเธอชื่อ ซัลตาลกุน (ต่อมามีการเปลี่ยนศาสนาและรับนามใหม่เป็น มีฮาอิล) พวกเขาได้พักที่ตึกใกล้พระราชวังเครมลิน ต่อมาพระเจ้าซาร์ทรงมี "พระบัญชาให้เจ้าหญิงเชอกาสกายาเข้าราชสำนัก พระองค์ทอดพระเนตรนางและตกหลุมรักนาง" ราชสำนักได้ส่งพระราชสาส์นไปถึงบิดาของเธอว่า

"ท่านเตมีร์กา ด้วยความดีงามในหัวใจของธิดาท่าน องค์ซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาจะทรงเป็นที่รักยิ่งของพระเจ้าเหนือหัว ซาร์และแกรนด์ดยุกอีวาน วาซีลีเยวิช พระองค์จะทรงประทานความดีความชอบอันยิ่งใหญ่แก่พวกเรานี้ และธิดาของท่านจะอยู่เคียงข้างพระองค์ พระประมุข อันเป็นเกียรติยศแก่รัชสมัย"[2]

นิทานพื้นบ้านของรัสเซียได้มีการกล่าวว่า ก่อนที่ซารีนาอนาสตาเซียจะสิ้นพระชนม์ ได้ทรงเตือนพระเจ้าซาร์ว่าขออย่าโปรดนำหญิงนอกรีตขึ้นเป็นพระมเหสี แต่ซาร์อีวานทรงหลงใหลในความงามของมารีเยียอย่างมาก และทรงตัดสินพระทัยอภิเษกสมรสกับพระนางทันที ในวันที่ 6 กรกฎาคม มีการประกอบพระราชพิธีหมั้นตามประเพณีรัสเซียโบราณ มีการมอบแหวนและผ้าพันคอประดับมุกตามธรรมเนียม[3] โคเชนีย์ได้รับการบัฟติศมาและรับพระนามใหม่เป็นมารีเยีย ตามพระนามของนักบุญมารีย์ชาวมักดาลา หลังเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนา พระเจ้าซาร์อีวานที่ 4 ทรงมอบไม้กางเขตสีทองแก่ซารีนามารีเยีย และซาเรวิชอีวานและซาเรวิชเฟโอดอร์ พระโอรสของพระเจ้าซาร์ทรงมอบไม้กางเขนประดับด้วยเพชรและไข่มุกแก่พระมารดาเลี้ยง ในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1561 ได้มีการจัดพิธีอภิเษกสมรสขึ้นก่อนจะถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของซาร์อีวาน 4 วัน ซาร์อีวานจะมีพระชนมายุ 31 พรรษา พระนางได้รับการสวมมงกุฎในมหาวิหารอัสสัมชัญ และทรงได้รับมอบจานทองคำที่ระลึกซึ่งเป็นฝีมือจากช่างทองของรัสเซีย

การเสกสมรสกับมารีเยีย เตมรีอูคอฟนาเกิดขึ้นไม่นานหลังซารีนาอนาสตาเซีย สิ้นพระชนม์ กลุ่มเจ้าชายเชอคาสก์ ญาติพี่น้องของมารีเยียได้เข้ามามีบทบาทและมีความก้าวหน้าในราชการอย่างรวดเร็ว และต่อมาจะมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์รัสเซีย หนึ่งในหลานชายของซารีนามารีเยียคือ โฮโรเชย์-มูร์ซา ที่ได้รับนามใหม่ว่า บอริส ได้แต่งงานกับมาร์ฟา น้องสาวของอัครบิดรฟิลาเรตแห่งมอสโก

เจอโรม ฮอร์ซีย์ นักการทูตอังกฤษได้บันทึกว่า "หลังจากนั้น (การสิ้นพระชนม์ของอนาสตาเซีย) พระองค์ (ซาร์อีวาน) ได้อภิเษกสมรสกับหนึ่งในเจ้าหญิงเซอคาสเซียนจากที่ห่างไกล เรารู้ว่าพระองค์ไม่มีทายาทกับพระนาง แต่การอภิเษกสมรสนี้เป็นพิธีเฉลิมฉลองและมีการจัดเทศกาลที่แปลกประหลาดและนอกรีตมากเสียจนอยากจะเชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง"

พระชนม์ชีพสมรส

แก้

ซารีนามารีเยียมีพระประสูติกาลพระโอรส คือ ซาเรวิชวาซิลี อีวาโนวิช ในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1563 ตั้งพระนามตามพระสัสสุระของพระนาง คือ วาซิลีที่ 3 เจ้าชายแห่งมอสโก แต่ซาเรวิชสิ้นพระชนม์ในวันที่ 3 พฤษภาคม ปีเดียวกัน

ในปีค.ศ. 1562 ซารีนามารีเยียมักจะตามเสด็จพระราชสวามีไปในการเยี่ยมเยือนอารามสงฆ์ต่างๆ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1563 พระนางเสด็จเยือนเมืองอะเลคซันดรอฟ พร้อมกับพระโอรสเลี้ยงองค์โต คือ ซาเรวิชอีวาน อีวาโนวิช เพื่อเดินทางแสวงบุญไปยังเมืองซุสดัล และรอสตอฟ

ในประวัติศาสตร์รัสเซียมักแสดงภาพซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาในทางลบ และเชื่อว่าพระนางทรงสร้างแนวคิดในแง่ร้ายแก่พระราชสวามี ในบันทึกร่วมสมัยเขียนถึงซารีนามารีเยียว่าเป็นคน "มุ่งร้าย" หรือ มาเรีย "ผู้สร้างอารมณ์เสีย" ให้แก่พระเจ้าซาร์ และทรงยุยงให้สร้างความหวาดกลัวขึ้นมา

"การอภิเษกสมรสครั้งที่สองของซาร์อีวานนั้นไม่มีความสุขเหมือนชีวิตสมรสครั้งแรก มารีเยียสะกดใจพระสวามีด้วยความงามของพระนางเท่านั้น แต่ไม่สามารถแทนที่อนาสตาเซียในหัวใจของพระองค์และของประเทศได้ สำนึกถึงความเป็นเกียรติภูมิของราชวงศ์ไม่เคยอยู่ในความคิดของซารีนา คนร่วมสมัยเขียนว่า เจ้าหญิงจากเซอร์คาสเซียน ทรงมีอารมณ์ป่าเถื่อนรุนแรง มีความโหดเหี้ยมในจิตวิญญาณ ยังถ่ายทอดจิตใจที่ชั่วร้ายไปสู่อีวานว่าพระองค์ไม่สามารถรักษาความรักของพระองค์ได้ ในไม่ช้าชีวิตสมรสก็เปลี่ยนเป็นความเย็นชา พระองค์ได้ลิ้มรสเสน่ห์อันตรายของความไม่เที่ยงและความอัปยศ มารีเยียนั้นไม่เหมือนอนาสตาเซียในสายตาของอีวาน เพราะพระนางเป็นที่จดจำไปอีก 7 ปี ในฐานะผู้บริจาคทานแก่อารามมากมาย"[4]

แต่ในไม่ช้าซาร์อีวานทรงรู้สึกเสียพระทัยที่อภิเษกสมรสกับพระนาง เพราะซารีนาองค์ใหม่ถูกมองว่าเป็นคนไม่รู้หนังสือและมีพระอุปนิสัยอาฆาตพยาบาท ซารีนามารีเยียไม่ทรงสนพระทัยในวิถีชีวิตสังคมมอสโกและถูกกล่าวขานว่าเป็นพระมารดาเลี้ยงที่แย่สำหรับพระโอรสทั้งสองของซาร์อีวาน คือ ซาเรวิชอีวาน อีวาโนวิชและซาเรวิชเฟโอดอร์ อีวาโนวิช ซารีนามารีเยียมักจะทรงเป็นที่เกลียดชังในหมู่ข้าราชบริพาร ซึ่งเชื่อว่าพระนางทรงมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดและทรงประพฤติตนเป็นแม่มด นักประวัติศาสตร์บางคนได้เขียนว่า[5] ซารีนามารีเยียทรงเป็นคนแรกๆที่ยุยงให้พระสวามีจัดตั้งกองกำลังโอพริชนิก ความระหองระแหงในชีวิตสมรสที่เกิดขึ้นมีบันทึกว่าพระเจ้าซาร์อีวานที่ 4 ทรงละเลยซารีนาชาวเซอร์คาสเซียน และวางแผนจะส่งพระนางไปอยู่คอนแวนต์และให้ครองตนเป็นนางชี[6] แต่คาดว่าพงศาวดารอาจจะมีการสับสนกับพระมเหสีองค์อื่นของซาร์

สิ้นพระชนม์

แก้

ซารีนามารีเยียสิ้นพระชนม์ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1569 ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา ณ อะเลคซันดรอฟ, แคว้นวลาดีมีร์ หลังจากกลับเสด็จประพาสเมืองโวล็อกดา มีการเล่าลือว่าพระนางทรงถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษโดยพระสวามี แต่พระเจ้าซาร์ไม่ทรงเคยยอมรับข่าวลือนี้ และมีผู้คนจำนวนมากถูกทัณฑ์ทรมานในข้อหาเป็นผู้ต้องสงสัยในการปลงพระชนม์ซารีนา มีบันทึกว่า

"ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1569 พระมเหสีในพระเจ้าซาร์อีวาน ซารีนามารีเยีย สิ้นพระชนม์โดยพระสวามีแทบไม่ได้โศกเศร้าเสียใจ แม้ว่าเพื่อความเหมาะสมของธรรมเนียมรัสเซียทั้งผองที่ต้องแสดงความโศกาอาดูร ทุกแห่งหนต้องหยุดนิ่ง ขุนนางโบยาร์ ชนชั้นสูง ข้าราชสำนักต้องแต่งกายด้วยชุดที่ดูถ่อมตนที่สุด หรือชุดไว้ทุกข์ (เสื้อคลุมขนสัตว์กำมะหยี่คัมชัตกาที่ไม่มีทองประดับ)" ในทุกเมืองต้องประกอบพิธีไว้อาลัยพระศพ การให้ทานผู้ยากไร้ และการบริจาคให้อารามและโบสถ์ แต่พระเจ้าซาร์อีวานผู้โหดร้ายแสดงความโศกเศร้าแบบหน้าซื่อใจคด ทรงปิดบังเรื่องราวที่แท้จริง หลังจากผ่านมาได้สิบวัน พระองค์เสด็จรับทูตต่างประเทศได้อย่างสงบในพระราชวังมอสโก แต่ก็ทรงรีบออกจากเมืองหลวงเพื่อไปปราบปรามอย่างโหดร้ายและประหารชีวิตชาวเมืองอเล็กซันดร์ สโลโบดาที่ก่อกบฏแยกดินแดน การสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีทั้งสองแม้ว่าจะมีจิตสำนึกทางวิญญาณที่ไม่เหมือนกัน แต่กลับแสดงผลลัพธ์ที่โชคร้ายไม่แพ้กัน อนาสตาเซียจากไปโดยพาจิตสำนึกคุณธรรมไปจากอีวาน ส่วนมารีเยียจากไปโดยส่งผ่านความโหดร้ายในการฆาตกรรม มีการกระจายข่าวลือไปทั่วว่า มารีเยียถูกวางยาพิษลอบปลงพระชนม์โดยศัตรูผู้ลึกลับเหมือนอนาสตาเซีย พระองค์จึงเตรียมให้รัสเซียพร้อมรับความโกรธเกรี้ยวพยาบาทของพระองค์[7]

อ้างอิง

แก้
  1. Карамзин Н. М. История государства Российского: в 12 томах. — СПб.: Тип. Н. Греча, 1816—1829.
  2. Повесть о женитьбе Ивана Грозного на Марии Темрюковне
  3. "Российская царица, обратившаяся из ислама (Мария Темрюковна — кабардинская княжна Гошаней)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-20. สืบค้นเมื่อ 2020-09-17. {{cite web}}: no-break space character ใน |title= ที่ตำแหน่ง 60 (help)
  4. Карамзин, 1816—1829 — Т. IX — Глава I
  5. A. P. Pavlov and Maureen Perrie (August 2003). "Ivan the Terrible". Pearson Education. pp. 116–7.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  6. Генрих Штаден. Записки немца-опричника. Составление и комментарии к.и.н. С. Ю. Шокарева, М., 2002
  7. Карамзин, 1816—1829 — Т. IX — Глава III
  • Troyat, Henri Ivan le Terrible. Flammarion, Paris, 1982
  • de Madariaga, Isabel Ivan the Terrible. Giulio Einaudi editore, 2005


ก่อนหน้า ซารีนามารีเยีย เตมรีอูคอฟนาแห่งรัสเซีย ถัดไป
ว่าง
ก่อนหน้าคือ
อนาสตาเซีย โรมานอฟนา
  ซารีนาแห่งรัสเซีย
ใน ซาร์อีวานที่ 4

(21 สิงหาคม ค.ศ. 1561 - 1 กันยายน ค.ศ. 1569)
  ว่าง
ถัดมาคือ
มาร์ฟา โซบาคินา