ซัลลีจญ์ (อาหรับ: الزليج, อักษรโรมัน: zillīj; ปรากฏการสะกดทั้ง Zellij, zillij หรือ zellige) เป็นรูปแบบของงานกระเบื้องโมเสก ทำมาจากกระเบื้องที่แกะด้วยมือเป็นชิ้น ๆ[1]: 335 [2]: 41 [3]: 166  โดยทั่วไปแล้วกระเบื้องชิ้นแต่ละชิ้นจะมีสีที่แตกต่างกันไป และต่อเข้าด้วยกันเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ บนพื้นฐานของการฝังหินขัดเป็นลวดลาย โดยเฉพาะเป็นรูปแม่ลายเรขาคณิตอิสลาม เช่นรูปดาวหลายแฉก[1][4][5][6] ศิลปะอิสลามรูปแบบนี้เป็นหนึ่งในลักษณะเด่นหลักของสถาปัตยกรรมในโลกอิสลามตะวันตก พบในสถาปัตยกรรมโมร็อกโก, อัลจีเรีย, ในแหล่งอิสลามยุคแรก ๆ ของตูนิเซีย และในอนุสรณ์อัลอันดะลุส ในคาบสมุทรไอบีเรีย นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา ซัลลีจญ์กลายมาเป็นองค์ประกอบการตกแต่งมาตรฐานสำหรับผนังตอนล่าง, ในน้ำพุ, สระน้ำ, บนหออะษาน และเป็นลายปูพื้น[1][5]

ซัลลีจญ์ยุคศตวรรษที่ 20 ใน Mahkamat al-Pasha กาซาบล็องกา ประเทศโมร็อกโก

หลังศตวรรษที่ 15 มา ซัลลีจญ์แบบดั้งเดิมได้หมดความนิยมลงในหลายพื้นที่ ยกเว้นเพียงแค่โมร็อกโก ที่ซึ่งยังคงมีการผลิตซัลลีจญ์มาถึงปัจจุบัน[1]: 414–415  นอกจากนี้ยังพบในงานประดับของสิ่งปลูกสร้างยุคใหม่ เช่น มัสยิดฮัสซานที่ 2 ในกาซาบล็องกา ซึ่งใช้โทนสีใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากรูปแบบดั้งเดิม[7] อิทธิพลของซัลลีจญ์ยังปรากฏพบในงานกระเบื้องของสเปนที่ผลิตในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และงานลอกเลียนในยุคสมัยใหม่[8]: 102 [2]: 41 

การผลิต แก้

 
กระเบื้องเคลือบรูปดาวแปดแฉก ก่อนจะนำมาประกอบเป็นซัลลีจญ์

การผลิตเริ่มต้นจากกระเบื้องเคลือบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดโดยทั่วไปอยูที่ 10x10 เซนติเมตร จากนั้นนำมาจัดด้วยมือ โดยใช้ค้อนเล็กคล้ายขวานแต่งไม้ แกะให้เป็นรูปที่ตั้งใจไว้ ซึ่งจำเป็นต่อการนำมาประกอบเป็นลวดลายใหญ่[2]: 41 [1]: 414  ถึงแม้ว่าลวดลายแน่ชัดจะแตกต่างกันไปตามกรณี แต่หลักการพื้นฐานยังคงเหมือนเดิมมาหลายศตวรรษ และช่างฝีมือชาวโมร็อกโกก็ยังคงทำเช่นนั้นเรื่อยมาถึงปัจจุบัน[2]: 41–43 

เมื่อนำกระเบื้องไปอบและตัดแล้ว กระเบื้องเหล่านี้จะถูกนำไปวางคว่ำหน้าบนพื้น และประกอบเข้ากันเป็นลวดลายที่ซับซ้อนตามที่ตัองการ ด้านหลังของกระเบื้องจะถูกเคลือบเข้าด้วยกันด้วยปูนปลาสเตอร์หรือไวท์วอชบาง ๆ เมื่อแห้งแล้ว ชั้นที่เคลือบนี้จะทำให้กระเบื้องชิ้นต่าง ๆ ติดเข้าด้วยกันเป็นแผ่นใหญ่[8]: 55 [6]: 33 [3]: 166 [9]: 287–288 

รูปแบบและลวดลาย แก้

ลวดลายเรขาคณิตของซัลลีจญ์สร้างขึ้นบนพื้นฐานของการฝังหินขัดเป็นลวดลาย ซึ่งเป็นวิธีการปิดพื้นผิวโดยใช้รูปแบบที่สามารถทำซ้ำและเชื่อมเข้ากันได้โดยไม่ต้องเหลื่อมซ้อนกันหรือทิ้งที่ว่างระหว่างกัน ลวดลายเช่นนี้สามารถขยับขยายไปได้ไม่มีสิ้นสุด[10][6]: 21  ในศิลปะอิสลาม รูปแบบการฝังหินขัดเป็นลายที่สำคัญที่สุดมีรากฐานมาจากรูปหลายเหลี่ยมแบบปกติ [10] รูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานเช่นนี้ของศิลปะอิสลาม มาจากคุณค่าของการตกแต่งพื้นที่โดยไม่ให้แสดงภาพของสิ่งมีชีวิตใด ตามข้อห้ามการบูชารูปเคารพในศาสนาอิสลาม ธรรมเนียมการสร้างงานกระเบื้องอิสลามนี้ปรากฏในโลกอิสลามทั้งในแถบอิหร่าน, อานาโตเลีย และอนุทวีปอินเดีย[11] ในโลกอิสลามตะวันออกนิยมใช้สีน้ำเงินและเทอร์ควอยส์เป็นสีหลัก ในขณะที่ซัลลีจญ์แบบอิสลามตะวันตกนิยมใช้สีเหลือง เขียว ดำ และน้ำตาลอ่อน เป็นหลัก ส่วนน้ำเงินและเทอร์ควอยส์สามารถปรากฏได้เช่นกัน และมักปรากฏบนพื้นหลังที่เป็นสีขาว[12][5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Marçais, Georges (1954). L'architecture musulmane d'Occident. Paris: Arts et métiers graphiques.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Parker, Richard (1981). A practical guide to Islamic Monuments in Morocco. Charlottesville, VA: The Baraka Press.
  3. 3.0 3.1 Bloom, Jonathan M. (2020). Architecture of the Islamic West: North Africa and the Iberian Peninsula, 700–1800. Yale University Press. ISBN 9780300218701.
  4. Touri, Abdelaziz; Benaboud, Mhammad; Boujibar El-Khatib, Naïma; Lakhdar, Kamal; Mezzine, Mohamed (2010). Andalusian Morocco: A Discovery in Living Art (2 ed.). Ministère des Affaires Culturelles du Royaume du Maroc & Museum With No Frontiers. ISBN 978-3902782311.
  5. 5.0 5.1 5.2 Jonathan Bloom; Sheila S. Blair; Sheila Blair (2009). "Architecture; X. Decoration; B. Tiles". Grove Encyclopedia of Islamic Art & Architecture. Oxford University Press. p. 201. ISBN 978-0-19-530991-1.
  6. 6.0 6.1 6.2 Caruncho, Daniel S. (2018). Tilework in the Alhambra of Granada (ภาษาอังกฤษ). แปลโดย Jones, Cerys Giordano. Barcelona: Dosde. ISBN 9788491031369.
  7. Broug, Eric (2008). Islamic Geometric Patterns. London: Thames & Hudson. ISBN 978-0-500-28721-7.
  8. 8.0 8.1 Rosser-Owen, Mariam (2010). Islamic Arts from Spain (ภาษาอังกฤษ). V&A Publishing. ISBN 9781851775989.
  9. Damluji, Salma Samar (1992). "Zillīǧ: Espaces architecturaux". Zillīǧ: L'Art de la Céramique Marocaine (ภาษาฝรั่งเศส). Garnet Publishing Limited. pp. 242–349. ISBN 1873938497.
  10. 10.0 10.1 Bonner, Jay (2017). Islamic Geometric Patterns: Their Historical Development and Traditional Methods of Construction (ภาษาอังกฤษ). Springer. ISBN 978-1-4419-0217-7.
  11. Petersen, Andrew (1996). "tilework". Dictionary of Islamic architecture. Routledge. pp. 279–280. ISBN 9781134613663.
  12. Blair, Sheila; Bloom, Jonathan (2011). "Tiles as Architectural Decoration". ใน Hattstein, Markus; Delius, Peter (บ.ก.). Islam: Art and Architecture (ภาษาอังกฤษ). h.f.ullmann. pp. 448–451. ISBN 9783848003808.