ศรีราชา เป็นซอสพริกแบบหนึ่ง ตั้งชื่อตามอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยผลิตขึ้นครั้งแรกเพื่อรับประทานกับอาหารที่ร้านอาหารทะเลท้องถิ่น ทำจากพริกหวาน น้ำส้มสายชูกลั่น กระเทียม น้ำตาลและเกลือ ศรีราชาเป็นเครื่องปรุงรสที่พบได้ทั่วไปในร้านอาหารเอเชียหลายแห่ง และพบว่ามีในบ้านของชาวตะวันตกเพิ่มขึ้น

ต้นกำเนิด

แก้
 
ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทอง ซอสพริกสูตรแรกที่ใช้ชื่อศรีราชา

ซอสพริกศรีราชาถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในปี 1932 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการปฏิวัติสยามสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในปีดังกล่าว นางลออ สุวรรณประสพ ชาวศรีราชาซึ่งตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพ เริ่มผลิตซอสพริกขายและได้รับเหรียญทองในการประกวดสินค้าในงานฉลองรัฐธรรมนูญ นางพยายามจดทะเบียนซอสพริกในยี่ห้อ “ซอสพริกศรีราชา” ตามชื่อของบ้านเกิด แต่ทางราชการไม่อนุญาต[1] เนื่องจากเป็นชื่ออำเภอหนึ่ง ท้ายที่สุดนางจึงต้องใช้ชื่อทางการค้าว่า “เหรียญทอง” อย่างไรก็ตาม การผลิตซอสพริกตราเหรียญทองเป็นอุตสากรรมขนาดย่อมระดับครัวเรือน มีกำลังการผลิตต่ำ จึงไม่มีชื่อเสียงมากนัก ซึ่งในปัจจุบัน ซอสพริกตราเหรียญทองก็ยังคงวางขายอยู่ และยังคงใช้ฉลากที่มีหน้าตาเหมือนเดิมทุกประการ

 
ซอสพริกศรีราชาพาณิช ซอสพริกที่ทำให้คำว่าศรีราชามีชื่อเสียง

ซอสพริกศรีราชาที่มีชื่อเสียงในระดับสากล คือยี่ห้อ “ศรีราชาพาณิช” ซึ่งเริ่มวางขายในปี 1935 ซึ่งเป็นสูตรของนางถนอม จักกะพาก ชาวศรีราชา ซึ่งตั้งโรงงานทำซอสอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และกลายเป็นสินค้ามีชื่อประจำอำเภอ ต่อมาในปี 1984 บริษัท ไทยเทพรส จำกัด ก็เข้าซื้อกิจการและสูตร และจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศจนเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างจนถึงปัจจุบัน และมีการคิดสูตรใหม่จำนวนหลายสูตร

ซอสศรีราชาในอเมริกา

แก้
 
ซอสพริกศรีราชาของบริษัทฮุยฟงฟู้ดส์ สหรัฐอเมริกา

ในช่วงที่สงครามเวียดนามใกล้สิ้นสุดในปี 1975 เดวิด จรัน (David Trần) นายทหารชาวเวียดนามใต้ ลักลอบขึ้นเรือสินค้านามว่าฮุยฟงไปยังเกาะฮ่องกง และดำเนินการขอลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา ต่อมาเมื่อเขามาอาศัยอยู่ในลอสแอนเจลิส เขาสังเกตุว่าพื้นที่นี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเอเชียจำนวนมาก และเริ่มผลิตซอสพริกออกวางจำหน่าย ซอสพริกของเขาใช้พริกเม็กซิกัน มีรสเปรี้ยวและเผ็ดแหลม ซอสของเขาได้รับการตอบรับอย่างดี ท้ายที่สุดเขาจึงตั้งบริษัทฮุยฟงฟู้ดส์ในปี 1980 และผลิตซอสพริกออกวางจำหน่ายในชื่อซอสพริกศรีราชา ซึ่งรู้จักกันในชื่อซอสไก่ตัวผู้ เพราะบนฉลากของซอสเป็นรูปไก่ตัวผู้[2][3]

ซอสนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากจนกระทั่งมีตำราอาหารบางเล่มนำเสนอวิธีทำอาหารที่ต้องใช้ศรีราชาเป็นเครื่องปรุงรสหลัก บองอะเปะดีสต์ระบุว่า มันเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงหลักของพวกเขาในปี 2010[4]

อ้างอิง

แก้
  1. THE MOMENTUM. ‘หัตถกรรมมาคาร’ ตำนานซอสพริกศรีราชาเจ้าแรกที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่ปี 2475 12 พ.ย. 2022
  2. Sytsma, Alan (Feb 8, 2008). "A ROOSTER'S WAKE-UP CALL". Gourmet Magazine. สืบค้นเมื่อ 2010-02-11.
  3. Seeto, Margot (20 January 2010). "Bloody good times". Honolulu Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-18. สืบค้นเมื่อ 16 February 2010.
  4. Patterson, Daniel. "Bon Appetit". Sriracha: 4 Recipes for a $5 Ingredient. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-25. สืบค้นเมื่อ 2011-07-31.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้