ชาวจีนในเคนยา เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายของประเทศเคนยา ซึ่งมีการติดต่อค้าขายและตั้งถิ่นฐานในชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของเคนยาตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนถึงในปัจจุบันก็ยังมีชาวจีนกลุ่มใหม่ได้อพยพมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาตั้งถิ่นฐานในเคนยา ในช่วงปี ค.ศ. 1990-2000[3] และได้มีการประมาณการว่ามีชาวจีนที่พำนักในเคนยาประมาณ 3,000-10,000 คน[1]

ชาวจีนในเคนยา
ประชากรทั้งหมด
3,000-10,000[1]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ไนโรบี, มอมบาซา[1][2]
ภาษา
ภาษาสวาฮีลี, ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน
ศาสนา
อิสลาม, คริสต์, พุทธ

ประวัติ แก้

นักเดินเรือชาวจีนเริ่มมีบทบาททางด้านการติดต่อค้าขายกับเคนยา นักโบราณคดีได้ค้นพบเครื่องเคลือบจีนที่สร้างขึ้นในช่วงราชวงศ์ถัง โดยค้นพบในหมู่บ้านของชาวเคนยา และได้สันนิษฐานว่าอาจเป็นสินค้าที่มากับกองเรือสินค้าที่นำมาโดยเจิ้งเหอในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15[4] ในเกาะลามูมีการบอกเล่าแบบปากต่อปากของชาวบ้านแถบนั้นว่ามีชาวจีน 20 คน ที่อาจจะเป็นหนึ่งในทหารบนกองเรือของเจิ้งเหอ รอดมาจากเรืออัปปางขึ้นฝั่งมาที่เกาะลามูเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว พวกเขาได้รับการอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานบนเกาะได้ เนื่องจากพวกเขาได้ช่วยชนพื้นเมืองกำจัดงูหลามขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมาพวกเขาได้สมรสข้ามชาติพันธุ์กับชนพื้นเมืองและได้ละความเชื่อเดิมหันมายอมรับนับถือศาสนาอิสลามเฉกเช่นชนบนเกาะ ชาวเกาะลามูเชื่อว่าพวกเขาเป็นผู้สืบเชื้อสายเป็นรุ่นที่หกของชาวจีนกลุ่มดังกล่าว

ในปี ค.ศ. 2002 ได้มีการตรวจสอบดีเอ็นเอจากนางบารากา บาดี ชี สตรีผู้หนึ่งบนเกาะลามู อายุ 53 ปี ซึ่งผลการพิสูจน์ดังกล่าวได้รับการยืนยันว่าเธอเชื้อสายจีนจริง โดยบุตรสาวของเธอ อึมวามากา ชารีฟู ได้รับทุนการศึกษาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าศึกษาต่อในแพทย์แผนจีนโบราณ (TCM) ในประเทศจีน[5][6]

ในยุคปัจจุบันมีชาวจีนอพยพเข้าสู่เคนยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยในปี ค.ศ. 1996 ในเคนยามีจำนวนชาวจีนเพียงน้อยนิดในกรุงไนโรบีมีร้านอาหารจีนเพียงแห่งเดียว แต่ในปี ค.ศ. 2007 มีร้านอาหารจีนเกิดขึ้นมากกว่า 40 ร้าน ที่ส่วนใหญ่ดำเนินการจากชาวจีนในแผ่นดินใหญ่[1] ส่วนใหญ่ชาวจีนมักตั้งถิ่นฐานรอบกับสถานทูตซึ่งใกล้กับพื้นที่ของกองบัญชาการกระทรวงกลาโหมซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง[3] นอกจากนี้ชาวจีนในส่วนต่างๆของประเทศได้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอย่าง เช่น นำเข้าคอมพิวเตอร์, เครื่องแก้ว และชิ้นส่วนยานยนต์ และส่งออกหูฉลาม[2][3][7]

มีแรงงานชาวจีนจำนวนมากเข้ามาใช้แรงงานในประเทศเคนยาด้วยเหตุผลทางด้านเสถียรภาพและอัตราความเจริญเติบโตอย่างสูงของประเทศที่เป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเลือกมาทำงานยังเคนยา หลายคนประกอบไปด้วยวัยกลางคนและแรงงานวัยรุ่นที่เป็นที่ต้องการของยุโรปและอเมริกา[8] โดยสื่อเองก็ได้มีการประมาณการจำนวนของชาวจีนในช่วงปี ค.ศ. 2006-2008 ว่ามี จำนวนประมาณ 3,000-10,000 คน[1][8][9]

การศึกษาและสื่อ แก้

ในประเทศเคนยา ชุมชนชาวจีนมีโรงเรียนภาษาจีนเพียงแห่งเดียว คือ โรงเรียนเคนยา-จีน (肯尼亚中国学校) ก่อตั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2006 ครู 20 คน ซึ่งสอนภาษาจีน 5 คน และมีนักเรียน 200 คน รวมทั้งระดับอนุบาล 20 คน ระดับประถมศึกษา 50 คน และนักเรียนเทคนิค 130 คน โดยร้อยละ 25 เป็นชาวจีน[10] ส่วนในมหาวิทยาลัยไนโรบีมีการเปิดการสอนสาขาปรัชญาขงจื๊อครั้งแรกในทวีปแอฟริกา[1]

วิทยุจีนระหว่างประเทศ (China Radio International) และสถานีโทรทัศน์กลางจีน (China Central Television) มีการออกอากาศขึ้นใหม่ไม่กี่ชั่วโมงต่อวันโดยเคนยาบรอดคาสติงคอร์เปอร์เรชัน (Kenya Broadcasting Corporation)[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 Fackler, Ted (2007-07-04), "Chinese Expatriates in Kenya", China Daily, สืบค้นเมื่อ 2009-03-29
  2. 2.0 2.1 Beech, Hannah (August 2001), "The Ends of the Admiral's Universe: Zheng He's fleet went to Africa seeking exotic treasures. The Chinese still do.", Time, vol. 158 no. 7/8, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-08-27, สืบค้นเมื่อ 2009-03-29
  3. 3.0 3.1 3.2 Onjala, Joseph (March 2008), A Scoping Study on China-Africa Economic Relations: The Case of Kenya (PDF), Nairobi: African Economic Research Consortium, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-11-13, สืบค้นเมื่อ 2009-03-30
  4. "Children of the master voyager?", People's Daily, 2006-11-03, สืบค้นเมื่อ 2009-03-30
  5. "Is this young Kenyan Chinese descendant?", China Daily, 2005-07-11, สืบค้นเมื่อ 2009-03-30
  6. York, Geoffrey (2005-07-18), "Revisiting the history of the high seas", The Globe and Mail, สืบค้นเมื่อ 2009-03-30
  7. "肯尼亚知名华商徐晖:翱翔非洲大地的九头鸟/Xu Hui, a famous Chinese businessman in Kenya: A "Nine-Headed Bird" soaring over Africa", Sina News, 2009-02-11, สืบค้นเมื่อ 2009-03-30
  8. 8.0 8.1 "华商淘金肯尼亚:不光是生意,还有中国人的脸面/Chinese merchants "panning for gold" in Kenya: Not just business, but also "face" for Chinese people", Xinhua News, 2006-11-07, สืบค้นเมื่อ 2009-03-30
  9. Song, Xianxia (2008-04-23), "中国工程师肯尼亚遭劫杀 参赞已奔赴事发地/Chinese engineer killed in attack in Kenya", Shandong News, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-20, สืบค้นเมื่อ 2009-03-30
  10. "非洲肯尼亚中国学校/Africa: Kenya-China School", Overseas Chinese Language and Culture Education Online, Beijing: Chinese Language Educational Fund, 2008, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-04, สืบค้นเมื่อ 2009-03-29

แหล่งข้อมูลอื่น แก้