ชาตกัฏฐกถา เป็นอรรถกถาของชาดก ประกอบไปด้วยคาถา หรือร้อยแก้วอันเป็นต้นเรื่องของชาดก จากนั้นพรรณานาเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชาดกในรูปของร้อยแก้ว แต่ละเรื่องมีการระบุถึงต้นเค้า และบริบทแวดล้อมของชาดกเรื่องนั้น แต่หลังจากจบเรื่องแล้วจะมีการระบุถึงบุคคลที่ปรากฏกในชาดกนั้นว่า เป็นบุคคลใดบ้างในสมัยพุทธกาล เช่น พระโคตมพุทธเจ้า เป็นต้น โดยพระเถระผู้รจนาชาตกัฏฐกถาได้เท้าความพุทธประวัติทั้งก่อนทรงประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะจนถึงขณะทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไว้ในตอนต้นเรื่องอรรถกถาฉบับนี้ เรียกว่า นิทานกถา [1]

ผู้แต่ง

แก้

บางกระแสเชื่อกันว่า ชาตกัฏฐกถาเดิมรจนาเป็นภาษาบาลี แต่ต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาสิงหล ส่วนต้นฉบับภาษาบาลีได้สูญหายไปในเวลาต่อมา ทว่าพระพุทธโฆสะได้เดินทางมายังสิงหลทวีป เพื่อทำการแปลชาตกัฏฐกถา และอรรถกถาอื่น ๆ กลับเป็นภาษาบาลีอีกครั้ง เมื่อราว พ.ศ. 1000 [2] และได้รับการสืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โดยแหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่า พระเถระแต่งตามคำอาราธนาของพระอัตถทัสสี พระพุทธมิตตะและพระพุทธปิยะ [3]

อย่างไรก็ตาม มีกระแสถกเถียงเช่นกันว่า ผู้แปลและเรียบเรียงอรรถกถาเรื่องนี้อาจมิใช่พระพระพุทธโฆสะ และในชีวประวัติของพระพุทธโฆสะที่เขียนขึ้นในยุคปัจจุบัน ก็ได้ละอรรถกถาฉบับนี้ไว้โดยไม่ระบุว่าเป็นผลงานของพระเถระแต่อย่างใด[4] [5] [6]

ในคัมภีร์จูฬคันถวงศ์ ซึ่งรวบรวมรายชื่อคัมภีร์และตำรับตำราทางพุทธศาสนา ได้ระบุชื่อคัมภีร์ชาตกัฏฐกถาไว้เป็นหนึ่งในผลงานของพระพุทธโฆสะ แต่คัมภีร์จูฬคันถวงศ์เป็นวรรณคดีบาลีแต่งขึ้นในพม่า ในช่วงหลัง (พุทธศตวรรษที่ 24) อีกทั้งข้อมูลที่ปรากฏสวนทางกับทัศนะของนักวิชาการในตะวันตกและนักวิชาการบางท่านในศรีลังกาโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ยอมรับว่า ชาตกัฏฐกถาเป็นผลงานของพระพุทธโฆสะ โดยเหตุผลสำคัญก็คือ ชาตกัฏฐกถาไม่ปรากฏลักษณะจำเพาะในงานรจนาของพระพุทธโฆสะ เช่นไม่ปรากฏนามของท่านในช่วงเกริ่นนำอรรถกถา นักวิชการบางท่านยังชี้ด้วยว่า ลักษณะภาษาที่ใช้ในอรรถกถาฉบับนี้ไม่เหมือนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ของพระพุทธโฆสะ [7]

ทั้งนี้ ในช่วงเกริ่นนำต่อจากประณามคาถาในชาตกัฏฐกถามีดังนี้ "ข้าพเจ้าอันผู้ที่เป็นนักปราชญ์ยิ่งกว่านักปราชญ์ผู้รู้อาคม[ปริยัติ] เป็นวิญญูชน มียศใหญ่ได้ขอร้องด้วยการ เอาใจแล้ว ๆ เล่า ๆ เป็นพิเศษว่า ท่านขอรับ ท่านควรจะแต่งอรรถกถาอปทาน [ชีวประวัติ] เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจักแสดงการพรรณนาเนื้อความอันงามแห่งพระบาลีในพระไตรปิฎกทีเดียว พร้อมทั้งชีวประวัติที่ยังเหลืออยู่ เรื่องราวอันดีเยี่ยมนี้ใครกล่าวไว้กล่าวไว้ที่ไหน กล่าวไว้เมื่อไรและกล่าวไว้เพื่ออะไรข้าพเจ้าจักกล่าวเรื่องนั้น ๆ แล้ว ก็มาถึงวิธีเพื่อที่จะให้ฉลาดในเรื่องนิทาน เพราะจะทำให้เล่าเรียนและทรงจำได้ง่ายขึ้นเพราะฉะนั้น เรื่องราวที่ท่านจัดให้แปลกออกไปตามที่เกิดก่อนและหลัง รจนาไว้ในภาษาสิงหลของเก่าก็ดี ในอรรถกถาของเก่าก็ดี เมื่อมาถึงวิธีนั้น ๆ แล้ว ย่อมไม่ให้สำเร็จประโยชน์ตามที่สาธุชนต้องการ เหตุนั้นข้าพเจ้าก็จักอาศัยนัยตามอรรถกถาของเก่านั้น เว้นไม่เอาเนื้อความที่ผิดเสีย แสดงแต่เนื้อความที่แปลกออกไป กระทำการพรรณนาเฉพาะแต่ที่แปลก ซึ่งดีที่สุดเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้" [8] ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับผลงานอื่น ๆ ของพระพุทธโฆสะ เช่น สุมังคลวิลาสินี หรือ ปปัญจสูทนี จะพบว่ามีความแตกต่างกันไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ชาตกัฏฐกถาจะถูกรจนาขึ้นโดยพระเถระรุ่นหลังพระพุทธโฆสะ ซึ่งน่าจะมีช่วงชีวิตอยู่ไม่ห่างจากยุคของพระพุทธโฆสะมากนัก คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 1100 นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ชาตกัฏฐกถาจะรจนาขึ้นในสิงหลทวีปโดยพระเถระชาวสิงหลทวีป [9]

เนื้อหา

แก้

ชาตกัฏฐกถา ประกอบไปด้วยเนื้อหาประกอบคาถาชาดกจำนวน 547 คาถา บางแห่งอาจมีจำนวน 550 คาถา หรือ 500 คาถา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบประเทศที่นับถือพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า [10] โดยสัดส่วนแบ่งเป็น 10 ภาค คือภาคที่ 1 และ 2 อธิบายความในเอกนิบาต ภาคที่ 3 อธิบายความในทุกนิบาต ภาคที่ 4 อธิบายความในติกนิบาต จตุกกนิบาตและปัญจกนิบาต ภาคที่ 5 อธิบายความในฉักกนิบาต สัตตกนิบาต อัฏฐกนิบาต นวกนิบาตและทสกนิบาต ภาคที่ 6 อธิบายความในเอกาทสกนิบาตถึงปกิณณกนิบาต ภาคที่ 7 อธิบายความในวีสตินิบาตถึงจัตตาฬีสนิบาต ภาคที่ 8 อธิบายความในปัญญาสนิบาตถึงสัตตตินิบาต ภาคที่ 9 และ 10 อธิบายความในมหานิบาต[11]

โครงสร้างคร่าว ๆ เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์สมัยพุทธกาล โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกคาถาเกี่ยวกับชาดกขึ้นมา จากนั้นตามด้วยนิทาน หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตอันเกี่ยวข้องกับคาถาของชาดกนั้น เมื่อจบนิทานลงแล้วพระพุทธองค์จะทรงระบุตัวบุคคลในนิทานชาดกเรื่องนั้น ๆ ว่า บัดนี้ได้ถือกำเนิดเป็นบุคคลใดในยุคพุทธกาล ซึ่งมักจะรวมถึงพระองค์ พระญาติวงศ์ และพระสาวกองค์ต่าง ๆ รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ในอยู่ในยุคพุทธกาล [12] ซึ่ง กล่าวโดยสังเขปสามารถแบ่งออกเป็น 5 ส่วนดังนี้

  1. ปัจจุบันนวัตถุ เรื่องปัจจุบัน เริ่มต้นด้วยพวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรม ถึงเรื่องบุคคลและกรรมของเขาในชาดก พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเสด็จมาตรัสพระธรรมเทศนา
  2. อดีตวัตถุ เรื่องในอดีต พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องในอดีตของบุคคลนั้น ๆ
  3. คาถา จะมีทั้งในเรื่องปัจจุบันและอดีต
  4. เวยยากรณะ แปล อธิบาย ขยายความของคาถาชนิดคำต่อคำ
  5. สโมธาน ประมวลเรื่องหรือสรุปชื่อบุคคลในอดีตที่กลายมาเป็นชื่อบุคคลต่าง ๆ ในเรื่องปัจจุบัน รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย [13]

ลักษณะทางวรรณคดี

แก้

แม้ว่า ชาตกัฏฐกถาจะถือเป็นคัมภีร์อรรถกถาฉบับหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างจากอรรถกถาอื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นอรรถาธิบายและให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ชาตกัฏฐกถาจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาธรรมบท ในขุททกนิกาย และปรมัตถทีปนี อรรถกถา วิมานวัตถุ-เปตวัตถุ ในขุททกนิกาย ซึ่งประะกอบไปด้วยร้อยกรอง หรือคาถา ตามด้วยเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้อง [14]

ชาตกัฏฐกถานับเป็นการรวบรวมเรื่องเล่าหรือนิทานี่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาที่มีความครอบคลุมที่สุด มีการเล่าตำนาน หรือมหากาพย์เกี่ยวกับวีรบุรุษ หรือมหาราชในอดีต จัดเป็นวรรณคดีโบราณของอินเดียที่เรียกว่า "อาขยาน" ซึ่งมีความเชื่อมโยงไปถึงวรรณคดีฮินดูหมวดพราห์มนะ หรืออรรถกถาพระเวท แต่ชาดกของพุทธศาสนาได้พัฒนาจนมีรูปแบบเฉพาะเป็นของตนเอง [15]

เรื่องราวที่ปรากฏในอรรถกถาชาดก นอกจากได้ประมวลอรรถกถาเก่า ๆ ในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้จากวรรณคดีเก่าแก่ในศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน เป็นต้น รวมทั้งประมวลเรื่องต่าง ๆ จากดินแดนหลายแห่งด้วย เช่น กรีก และเปอเซียร์ เป็นต้น [16] นิทานบางเรื่องที่ปรากฏในอรรถกถานี้ ยังแพร่หลายในอินเดียมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 2 อีกทั้งยังปรากฏในวรรณคดีโบราณของอินเดีย เช่น ตันตระขยายิกะ, ปัญจะตันตระ และในหิโตปเทศ[17]

อ้างอิง

แก้
  1. G.P. Malalasekera. (2007). หน้า 951 - 952
  2. Amaresh Datta (Editor) 1810
  3. วรรณคดีบาลี. หน้า 76
  4. ดู Pali Literature Of Ceylon หน้า 123
  5. ดู Bimala Charan Law. (1923). หน้า 80
  6. Bimala Charan Law. (2002). หน้า 468
  7. Amaresh Datta (Editor). (1988). 1810
  8. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก เอกนิบาต หน้า 3 - 4
  9. Amaresh Datta (Editor). (1988). 1810
  10. Juliane Schober. (2002). หน้า 22
  11. วรรณคดีบาลี. หน้า 76
  12. Juliane Schober. (2002). หน้า 22
  13. วรรณคดีบาลี. หน้า 76-77
  14. Amaresh Datta (Editor). (1988). 1810
  15. Amaresh Datta (Editor). (1988). 1810
  16. วรรณคดีบาลี. หน้า 77
  17. Amaresh Datta (Editor). (1988). 1810

บรรณานุกรม

แก้
  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี. ประวัติพระพุทธโฆษาจารย์. ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. ชาตกัฏฐกถา อรรถกถาชาดก เอกนิบาต พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม 3 ภาค 1
  • G. P. Malalasekera. (2010). Pali Literature Of Ceylon. Delhi. Bharatiya Kala Prakashan
  • Juliane Schober. (2002). Sacred Biography in the Buddhist Traditions of South and Southeast Asia. Delhi. Motilal Banarsidass
  • Amaresh Datta (Editor). (1988). Encyclopaedia of Indian Literature: Devraj to Jyoti. Columbia. South Asia Books.
  • G.P. Malalasekera. (2007). Dictionary of Pali Proper Names Volume 1. Delhi. Motilal Banarsidass.
  • Bimala Charan Law. (2002). A History of Pali Literature. Varanasi. Indica Books.