ชัยมงคล 7 ประการ เป็นหลักความเชื่อของชาวจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยโบราณ ในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งชัยมงคล 7 ประการนี้หมายถึง สิ่งซึ่งเป็นมงคลต่อการสร้างเมือง 7 ประการ ซึ่งผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือพญามังราย เชื่อว่าสิ่งมงคลทั้ง 7 ประการนี้จะเป็นผลดีต่อการสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ซึ่งหลักชัยมงคล 7 ประการนี้ ได้ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ดังนี้

“ ...อันแต่ก่อนเราได้ยินสืบมาว่ากวางเผือกสองตัวแม่ลูกลุกแต่ป่าใหญ่หนเหนือมาอยู่ชัยภูมิที่นี้ คนทั้งหลายย่อมกระทำบุชาเป็นชัยมงคลปฐมก่อนแลอันหนึ่งว่าฟานเผือกสองตัวแม่ลูกมาอยู่ชัยภูมิที่นี้รบหมา หมาทั้งหลายพ่ายหนีบ่อาจจัดตั้งได้สักตัว เป็นชัยมงคลถ้วนสอง อันหนึ่งเล่าเราทั้งหลายได้หันหนูเผือกกับบริวาร 4 ตัว ออกมาแต่ชัยภูมิที่นี้ เป็นชัยภูมิถ้านสาม อันหนึ่งภูมิฐานที่เราจัดตั้งเวียงนี้ สูงวันตกหลิ่งมาออก เป็นชัยภูมิถ้วนสี่ อันหนึ่งอยู่ที่นี้ หันน้ำตกแต่อุชอปัตตาดอยสุเทพ มาเป็นแม่น้ำไหลขึ้นหนเหนือ แล้วไหลดะไปหนวันออกแล้วไหลไปใต้ แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมือง อันเป็นชัยมงคลถ้วนห้า แม่น้ำนี้ไหลแต่ดอยมาที่ขุนน้ำ ได้ชื่อว่าแม่ข่า ไหลเมื่อวันออกแล้วไหลไปใต้เทียบข้างแม่น้ำปิง ได้ชื่อว่าแม่โถต่อเท่าบัดนี้แล อันหนึ่งหนองใหญ่มีวันออกเฉียงเหนือแห่งชัยภูมิ ได้ชื่อว่าอิสาเนราชบุรี ว่าหนองใหญ่หนอิสานท้าวพระยาต่างประเทศจักมาบูชาสักการะมากนัก เป็นชัยมงคลถ้วนหกแล อันหนึ่งน้ำระมิงคืไหลมาแต่อ่างสรงอันพระพุทธเจ้า เมื่อยังทรมาน ได้มาอาบในดอยอ่างสรง ไหลมาออกเป็นขุนน้ำแม่ระมิงค์ ภายวันออกเวียง เป็นชัยมงคลถ้วนเจ็ดแล...”[1]

จะเห็นได้ว่าชัยมงคลทั้ง 7 ประการที่ได้กล่าวไว้ในตำนานนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของลักษณะทางภูมิประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ชัดในประการหลังตั้งแต่ชัยมงคลประการที่สี่เป็นต้นไป มีการกล่าวถึงลักษณะทางภูมิประเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเมืองเชียงใหม่ อันได้แก่ ประการที่สี่ ที่กล่าวถึงลักษณะการลาดเอียงของพิ้นที่ที่ลาดเอียงจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออก ซึ่งเป็นลักษณะที่ดีต่อการระบายน้ำโดยธรรมชาติ นอกจากนี้ชัยมงคลข้อที่กล่าวว่ามีแม่น้ำปิงอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองที่เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เส้นทางคมนาคมที่จะติดต่อกับดินแดนทางทิศเหนือและทิศใต้ของเชียงใหม่ และยังเป็นปราการธรรมชาติที่จะคุ้มครองเมืองจากศัตรูที่จะมาจากทิศตะวันออก และหนองน้ำใหญ่ในชัยมงคลประการที่หก ซึ่งเป็นทั้งแหล่งน้ำและพื้นที่รับน้ำในคราวน้ำหลากได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง แก้

  1. ไกรศรี นิมมานเหมินท์, อุดม รุ่งเรืองศรี, และอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว "พญามังรายมหาราช" จัดพิมพ์โดยสภาสังคมสงเคราะหแห่งประเทศไทย, 2531, น.29.์
  • ดวงจันทร์ เจริญเมือง. (2541). เมืองและการผังเมืองในประเทศไทย : กรณีเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่: ศูนย์ศึกษาปัญหาเมืองเชียงใหม่และกลุ่มมังราย
  • ณัฐกานต์ ลิ่มสถาพร. (2544). เชียงใหม่หัวใจล้านนา. กรุงเทพฯ: ภัคธรรศ