ฉบับร่าง:พนิดา มงคลสวัสดิ์

พนิดา มงคลสวัสดิ์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
เริ่มดำรงตำแหน่ง
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
ก่อนหน้าอัครวัฒน์ อัศวเหม
เขตเลือกตั้งจังหวัดสมุทรปราการ เขต 1
อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เฉพาะตำบลบางโปรง ตำบลบางด้วน ตำบลปากน้ำ ตำบลบางเมือง และตำบลท้ายบ้าน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 ตุลาคม พ.ศ. 2535 (32 ปี)
จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย
พรรคการเมืองก้าวไกล (2563–2567)
ประชาชน (2567–ปัจจุบัน)

พนิดา มงคลสวัสดิ์ ชื่อเล่น ผึ้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ สังกัดพรรคก้าวไกล 1 สมัย ปัจจุบันสังกัดพรรคประชาชน

ประวัติ

แก้

พนิดาเกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยบิดาและมารดาย้ายมาจากภาคอีสาน เนื่องจากปู่และย่าอาศัยอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ส่วนตาและยายอาศัยอยู่ที่จังหวัดสกลนคร และทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ทำให้การดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก[1] พนิดาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ, ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสมุทรปราการ และระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร[2]

การทำงาน

แก้

พนิดาเลือกทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เนื่องจากต้องการทำให้ฐานะของครอบครัวมั่นคงมากที่สุด โดยหลังจากทำงานได้ 5 ปี พนิดาจึงมีเงินเก็บเพียงพอซื้อบ้านให้บิดามารดาอยู่อาศัย[1]

การเมือง

แก้

พนิดาสนใจการเมืองตั้งแต่สมัยเด็ก โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และได้รับอิทธิพลจากบิดาที่เคยไปร่วมชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ต่อมาได้ติดตามนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคและเกิดการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 จึงสมัครสมาชิกพรรคก้าวไกลและสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตในการเลือกตั้งครั้งถัดไปในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งตรงกับวันที่มีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน[1] โดยเริ่มต้นทำงานด้านการเมืองจากการเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25[2]

พนิดาลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 โดยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ เขตเลือกตั้งที่ 1 สังกัดพรรคก้าวไกล และได้รับเลือกตั้ง โดยเอาชนะผู้ได้รับเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าจากพรรคพลังประชารัฐ คือ อัครวัฒน์ อัศวเหม ซึ่งเป็นตระกูลบ้านใหญ่ของจังหวัดสมุทรปราการอย่างขาดลอย[3] ต่อมาภายหลังพรรคก้าวไกลถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค พนิดาได้ย้ายมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาชนพร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่เหลือ[4]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แก้

พนิดา มงคลสวัสดิ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 1 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 จังหวัดสมุทรปราการ สังกัดพรรคก้าวไกลพรรคประชาชน

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 "ครอบครัวพลัดถิ่น ชีวิตจริงที่อิง 'ความจน' ของ ส.ส.ผึ้ง พนิดา ก้าวไกล". มติชนสุดสัปดาห์. 7 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025.
  2. 2.0 2.1 "ข่าวทะลุคน - พนิดา มงคลสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร'ก้าวไกล'". ข่าวสด. 28 ตุลาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025.
  3. "บ้านใหญ่ยับเยิน 3 สมุทร ส้มยกจังหวัด ปิดฉากตระกูล "อัศวเหม"". ไทยพีบีเอส. 16 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025.
  4. "ชมคลิป: เปิดใจ จิรัฏฐ์-พนิดา-กรุณพล จากก้าวไกลสู่ประชาชน อนาคตไปต่ออย่างไร? | THE STANDARD NOW". เดอะสแตนดาร์ด. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2025.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้