พระนางหลี่ (จีน: 李氏; พินอิน: Lǐ Shì; ค.ศ. 987–1032) เป็นพระสนมของจักรพรรดิซ่งเจินจง (宋真宗) ฐานันดรศักดิ์ว่า เฉินเฟย์ (宸妃) และเป็นพระมารดาของจักรพรรดิซ่งเหรินจง (宋仁宗) ภายหลังเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระราชชนนีพันปีหลวง ฐานันดรศักดิ์ว่า จางอี้หฺวังไท่โฮ่ว (章懿皇太后) หลังจากที่จักรพรรดิซ่งเหรินจงทราบว่า นางเป็นพระมารดาที่แท้จริงของพระองค์

จางอี้หฺวังไท่โฮ่ว
พระราชชนนีพันปีหลวง
พระราชสมภพค.ศ. 987
หางโจว (杭州), จักรวรรดิซ่ง
สวรรคตค.ศ. 1032
เปี้ยนจิง (汴京), จักรวรรดิซ่ง
ฝังพระศพสุสานหย่งติ้ง (永定陵)
คู่อภิเษกจักรพรรดิซ่งเจินจง (宋真宗)
พระราชบุตรจักรพรรดิซ่งเหรินจง (宋仁宗)
พระนามหลังสวรรคต
  • จฺวังอี้หฺวังไท่โฮ่ว (壯懿皇太后)
  • จางอี้หฺวังไท่โฮ่ว (章懿皇太后)
พระราชบิดาหลี่ เหรินเต๋อ (李仁德)

ในประวัติศาสตร์ แก้

นางหลี่เป็นสตรีจากสกุลหลี่ (李) เกิดในหางโจว (杭州) ได้เข้าวังเป็นคนรับใช้ของพระนางหลิว (刘) พระสนมของจักรพรรดิซ่งเจินจง ต่อมา จักรพรรดิซ่งเจินจงเสด็จมาพบนางหลี่เข้า ก็พอพระทัย ได้ร่วมประเวณีกับนาง นางให้กำเนิดพระโอรสและธิดาอย่างละองค์ แต่พระธิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ประสูติ ส่วนพระโอรสนั้นพระนางหลิวอ้างเป็นผู้ให้ประสูติการ พระนางหลิวจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นมเหสี และพระโอรสนั้นภายหลังได้เสวยราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งเหรินจง กระนั้น นางหลี่ก็ยังไม่เปิดเผยความจริง ขณะที่พระนางหลิวได้เลื่อนเป็นพระราชชนนีพันปีหลวง และได้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิซ่งเหรินจงเป็นเวลา 9 ปีตั้งแต่ ค.ศ. 1022–1031 ครั้น ค.ศ. 1032 นางหลี่ป่วยหนัก และได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ "เฉินเฟย์" ในฐานะที่เป็นพระสนมในรัชกาลก่อน แต่ไม่ช้า นางหลี่ก็ถึงแก่กรรม

หนึ่งปีต่อมา พระนางหลิวสิ้นพระชนม์ จ้าว ยฺเหวียนหย่าน (趙元儼) หรืออ๋องแปด พระอนุชาของจักรพรรดิซ่งเจินจง จึงเสด็จมาเปิดเผยความจริงว่า พระมารดาที่แท้จริงของจักรพรรดิซ่งเหรินจงมิใช่พระนางหลิว แต่เป็นนางหลี่ คนรับใช้ของพระนางหลิว อ๋องแปดตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นางหลี่อาจถูกพระนางหลิวลอบสังหาร จักรพรรดิซ่งเหรินจงตกพระทัยและเสียพระทัย เสด็จไปยังสุสานของพระมารดา โปรดให้สร้างพระที่นั่งจิ่งหลิง (景灵宫) ขึ้นไว้อาลัยให้พระมารดา ทั้งมีพระราชโองการให้สถาปนาพระมารดาขึ้นเป็นพระราชชนนีพันปีหลวง ฐานันดรศักดิ์ว่า "จางอี้หฺวังไท่โฮ่ว" แต่เนื่องจากปรากฏว่า พระนางหลิวได้จัดการศพนางหลี่ตามสมควร จักรพรรดิซ่งเหรินจงจึงไม่ทรงเชื่อเรื่องที่พระนางหลิวสังหารนางหลี่

ในวรรณกรรม แก้

ในสมัยราชวงศ์ยฺเหวียน (元朝) มีการนำเรื่องราวข้างต้นไปแต่งเป็นบทละครประเภทจ๋าจฺวี้ (雜劇) ชื่อ จินฉุ่ยเฉียวเฉินหลินเป้าจฺวังเหอ (金水橋陳琳抱妝盒; เฉิน หลิน ถือกล่องข้ามสะพานนทีทอง") ความว่า

นางหลี่ประสูติพระโอรส พระนางหลิวริษยา จึงให้ขันทีกัว หฺวาย (郭槐) สั่งนางกำนัลโค่ว จู (寇珠) เอาซากแมวป่าถลกหนังมาสับเปลี่ยนพระโอรส แล้วนำพระโอรสไปฆ่าหมกสะพานนทีทอง (金水橋) แต่โค่ว จู จงรักภักดี ไม่กล้าฆ่าพระโอรส

ขณะนั้น จักรพรรดิซ่งเจินจงรับสั่งให้ขันทีเฉิน หลิน (陳琳) นำผลไม้ไปมอบเป็นของขวัญวันเกิดแก่อ๋องแปด พระอนุชา เฉิน หลิน เดินถือกล่องผลไม้มาพบโค่ว จู เข้าและทราบเรื่องทั้งปวง จึงช่วยกันเอาผลไม้ออก เอาพระโอรสใส่กล่อง แล้วเฉิน หลิน นำออกไปมอบให้อ๋องแปดเลี้ยงดู

เวลานั้น นางหลี่ต้องพระราชอาญาขังไว้ในตำหนักเย็น เพราะจักรพรรดิซ่งเจินจงเชื่อว่า นางคลอดปิศาจแมวป่า ส่วนพระนางหลิวก็ให้กำเนิดพระโอรสในเวลาถัดมา จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นมเหสี แต่เพราะบาปกรรมของพระนาง พระโอรสนั้นจึงอายุสั้น จักรพรรดิซ่งเจินจงก็ไร้พระโอรสอีก อ๋องแปดจึงส่งพระโอรสที่ตนอภิบาลไว้เข้ามาเป็นรัชทายาทเพื่อมิให้ขาดสายพระโลหิต รัชทายาทนั้นต่อมาได้เสวยราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งเหรินจง

ครั้งนั้น พระนางหลิวทูลยุยงให้จักรพรรดิซ่งเจินจงประหารนางหลี่เสีย ก็โปรดให้ตามนั้น แต่ชาวตำหนักเย็นมีใจเมตตาแก่นางหลี่ ขันทีอฺวี๋ จง (余忠) เสนอตัวเข้าตายแทน ทั้งได้ความช่วยเหลือของขันทีฉิน เฟิง (秦风) นางหลี่จึงหลบหนีจากพระราชวังออกมาสู่โลกภายนอก แต่ก็ต้องตกระกำลำบาก ทั้งคิดถึงลูกกันแสงไม่เว้นวันจนดวงตามืดบอด

กว่า 20 ปีให้หลัง ข้าหลวงเปา เจิ่ง (包拯) รับพระราชโองการไปตรวจสอบการแจกจ่ายเสบียงของผัง อฺวี้ (龐昱) และกลับเมืองหลวงผ่านตำบลนั้น นางหลี่จึงเข้าร้องทุกข์ นำไปสู่การสืบสวนสอบสวนและตัดสินลงโทษในคดีแมวป่าสับเปลี่ยนพระโอรส นางหลี่จึงได้คืนฐานะเดิม ทั้งได้การยอมรับจากจักรพรรดิซ่งเหรินจงผู้เป็นลูก ที่สุดก็ได้เลื่อนฐานะขึ้นเป็นพระราชชนนีพันปีหลวง

ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ต่อมาได้รับการดัดแปลงเพิ่มเติมหลายครั้ง ครั้งที่มีชื่อเสียงที่สุดปรากฏในวรรณกรรมสมัยราชวงศ์หมิง (明朝) เรื่อง เปาเล่งถูกงอั้น (包龍圖公案) และวรรณกรรมสมัยราชวงศ์ชิง (清朝) เรื่อง เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม (七俠五義) ตลอดจนมีการทำเป็นสื่อสมัยใหม่ทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง

อ้างอิง แก้