คุรุ (สันสกฤต: गुरु) หรือ กูรู (อังกฤษ: guru) หมายถึง ครู หรือ อาจารย์ เมื่อแยกศัพท์ออกมาแล้ว จะมีสองคำ คือคำว่า คุ ซึ่งแปลว่าความมืดมน และคำว่า รุ แปลว่าแสงสว่าง และเมื่อมารวมกันจึงได้ความหมาย แสงสว่างที่ขจัดความมืดมน[หมายเหตุ 1] ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู มาจากปรัชญาความเชื่อในความสำคัญของการเข้าถึงความรู้ โดยมี คุรุ หรือ อาจารย์เป็นผู้ชักนำไปสู่จุดสูงสุด ในประเทศอินเดียในปัจจุบัน สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู และซิกข์ คำ คุรุ นี้ยังคงความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ เช่น คุรุนานัก คุรุปัทมสัมภวะ คุรุนาคารชุน อนึ่ง คำว่า คุรุ นี้มีการทับศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ โดยสะกดว่า "guru" ซึ่งหากทับศัพท์มาใช้ในภาษาไทย ก็จะต้องเขียน "คุรุ" ซึ่งมีศัพท์นี้อยู่แล้วในภาษาไทย เช่น คุรุสภา, คุรุศึกษา เป็นต้น (ในภาษาบาลีใช้ "ครุ" เช่น ครุศาสตร์, ครุภัณฑ์) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีความนิยมใช้คำว่า คุรุ นี้ในเชิงการบริหารและการศึกษา หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขานั้นๆ

คุรุ ในภาษาสันสกฤตนั้นยังใช้หมายถึง พฤหัสบดี ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งตรงกับเทพเจ้าจูปิเตอร์ของชาวโรมันนั่นเอง ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูนั้น ดาว จูปีเตอร์/คุรุ/พฤหัสบดี ถือว่าเป็นดาวที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ ในภาษาต่างๆ ของอินเดีย คำว่า พฤหัสปติวาร(วันพฤหัสบดี) จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าว่า คุรุวาร(วันคุรุ) โดย วาร นั้นหมายถึงวัน

คุรุ ในอินเดียในทุกวันนี้ใช้ในความหมายทั่วไป หมายถึง "ครู"

ในประเทศตะวันตก คุรุ ยังใช้ในความหมายที่กว้างขึ้นหมายถึง บุคคลที่เผยแพร่ศาสนา หรือ กลุ่มความเชื่อตามปรัชญาต่างๆ คำนี้ยังใช้ในความหมายเชิงอุปมา หมายถึงบุคคลผู้ซึ่งอยู่ในสถานะที่เชื่อถือได้ เนื่องมาจากความรู้ และความชำนาญ ที่เป็นที่ประจักษ์และยอมรับ

หมายเหตุ

แก้
  1. "[...] the term is a combination of the two words gu(darkness) and ru (light), so together they mean 'divine light that dispels all darkness.'" [...] "Guru is the light that disperses the darkness of ignorance."[1]

อ้างอิง

แก้
  1. Murray, Thomas R. Moral Development Theories - Secular and Religious: A Comparative Study. (1997). p. 231. Greenwood Press.