คาลิเปอร์
คาลิเปอร์ (อังกฤษ: Caliper) หรือก้ามปู เป็นเครื่องมือวัดสำหรับใช้วัดความกว้างระหว่างสองด้านของวัตถุ เช่น ความหนาของแผ่นเหล็ก ความกว้างของนอตสกรู ฯลฯ ในอดีตพัฒนามาจากคีมที่มีด้านหนึ่งสำหรับหนีบวัตถุ อีกด้านเป็นมาตรวัด คาลิเปอร์มีใช้มากในวงการออกแบบวิศวกรรมตลอดจนการวัดอย่างอื่น
คาลิเปอร์มีได้หลายรูปแบบตามหลักการทำงานและการนำไปใช้งาน เช่น แวร์นีเยคาลิปเปอร์ (หรือ เวอร์เนียร์คาลิปเปอร์) ไมโครมิเตอร์ คาลิเปอร์แบบเข็ม คาลิเปอร์แบบดิจิทัล ฯลฯ
ประวัติแก้ไข
คาลิเปอร์สมัยแรก ๆ ถูกค้นพบในซากเรือกรีกโบราณ ใกล้เกาะจิลิโอ (Giglio) นอกฝั่งประเทศอิตาลี ซึ่งมีอายุราว 1 ศตวรรษก่อนพุทธศักราช คาลิเปอร์สมัยนั้นเป็นเพียงคีมทำด้วยไม้ธรรมดาเท่านั้น[1][2] ต่อมาคาลิเปอร์ได้แพร่หลายไปยังชาวโรมัน ในฐานะเครื่องมือเพื่อความสะดวกในการวัดอีกด้วย[2][3] ต่อมาในปี พ.ศ. 552 สมัยราชวงศ์ซิน ชาวจีนโบราณได้คิดค้นคาลิเปอร์ทำด้วยสำริดขึ้น บนคาลิเปอร์ดังกล่าวจารึกว่า ทำขึ้นในวันกุ้ยอิ้ว (癸酉[ม 1]) ซึ่งเป็นวันแรมหนึ่งค่ำ เดือนเจียง[ม 2] ปีที่หนึ่ง ยุคสื่อเจี้ยนกั๋ว (始建国)[ม 3][4] คาลิเปอร์ที่ชาวจีนสร้างนี้เป็นต้นแบบของคาลิเปอร์ที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งปรับปรุงโดยโจเซฟ บราวน์ (Joseph Brown) ชาวอเมริกัน ในปี พ.ศ. 2394 มีใช้แพร่หลายในหมู่ช่างกล[5]
คาลิเปอร์แบบต่าง ๆแก้ไข
คาลิเปอร์ภายในแก้ไข
คาลิเปอร์ภายใน ใช้สำหรับวัดความกว้างยาวภายในของวัตถุ มักมีสปริงเป็นตัวช่วยให้ขาทั้งสองของคาลิเปอร์ถ่างออกจากกันได้สะดวก จากภาพ คาลิเปอร์อันบนใช้การถ่างด้วยมือให้ตรงกับขนาดของวัตถุ ส่วนอันล่างใช้สกรูเป็นตัวช่วยต้านไม่ให้คาลิเปอร์ที่มีสปริงอยู่แล้วดีดกว้างเกินกว่าขนาดวัตถุ
คาลิเปอร์ภายนอกแก้ไข
คาลิเปอร์ภายนอก ใช้สำหรับวัดขนาดวัตถุจากภายนอก ตัวคาลิเปอร์ทำจากเหล็กที่มีคาร์บอนเป็นส่วนผสมสูง
คาลิเปอร์แบ่งส่วน หรือวงเวียนแก้ไข
คาลิเปอร์แบ่งส่วน (divider caliper) หรือคาลิเปอร์วงเวียน นิยมใช้ในการกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ ในงานช่างโลหะ ปลายของคาลิเปอร์นิยมทำให้แหลมและแข็ง สามารถใช้กำหนดจุดตำแหน่งและวาดวงกลมบนแผ่นโลหะเพื่อเตรียมตัดเป็นรูปโค้งหรือวงกลมต่อไปตามต้องการ นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในการวัดระยะทางระหว่างจุดสองจุดบนแผนที่หรือกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EMG) อีกด้วย[6]
คาลิเปอร์ขางอแก้ไข
คาลิเปอร์ขางอ (Oddleg caliper) หรือคาลิเปอร์กะเทย (hermarphrodite calipers) เป็นคาลิเปอร์ที่มีลักษณะทั่วไปคล้าย ๆ กับคาลิเปอร์แบ่งส่วน แตกต่างกันตรงที่ขาหนึ่งของคาลิเปอร์จะหักงอไป ซึ่งขาที่หักนั้นใช้สำหรับทาบบนขอบชิ้นงานที่ต้องการวัด ส่วนอีกขาหนึ่งใช้วัดระยะจากจุดอ้างอิง จากภาพ คาลิเปอร์อันบนมีขาส่วนงอขนาดเล็กมาก ส่วนคาลิเปอร์อันล่างมีขางอใหญ่ ทำให้ต้องมีขาตรงที่เปลี่ยนใหม่ได้เมื่อสึกหรอ
แวร์นีเยคาลิเปอร์ หรือเวอร์เนียร์คาลิเปอร์แก้ไข
1. ก้ามปูวัดภายนอก ใช้วัดขนาดภายนอกของวัตถุ เช่น ความหนาของหนังสือ
2. ก้ามปูวัดภายใน ใชวัดขนาดภายในของวัตถุ
3. ขาวัดความลึก ใช้หยั่งวัดความลึกในท่อหรือรูเปิด
4. ไม้บรรทัดหลัก (เมตริก)
5. ไม้บรรทัดหลัก (อังกฤษ)
6. ไม้บรรทัดย่อย/ไม้บรรทัดเวอร์เนียร์ (เมตริก)
7. ไม้บรรทัดย่อย (อังกฤษ)
8. สลักยึด กดสลักนี้จนกระทั่งขยับเวอร์เนียร์ไม่ได้ แล้วยกออกมาอ่านจะทำได้สะดวกขึ้น
แวร์นีเยคาลิเปอร์ หรือเวอร์เนียร์คาลิเปอร์ (Vernier caliper) หรือเวอร์เนียร์ เป็นคาลิเปอร์ชนิดที่ดัดแปลงจากคาลิเปอร์ทั้งสามชนิดที่กล่าวมาแล้ว คือ เป็นก้ามปูที่ข้างหนึ่งติดไม้บรรทัดยาว อีกข้างติดไม้บรรทัดอันเล็กที่เลื่อนได้ ไม้บรรทัดทั้งสองมีขีดวัดที่เยื้องกันตามที่กำหนด การวัดใช้วิธีถ่างเวอร์เนียร์ออกแล้วปรับให้ตรงกับขนาดสิ่งที่ต้องการวัด ลงสลักยึด แล้วจึงอ่านค่า โดยดูว่า เส้นบนไม้บรรทัดรองเส้นใดตรงกับเส้นที่อยู่บนไม้บรรทัดหลัก ให้ถือเส้นนั้นเป็นทศนิยมตัวท้ายสุดที่จะนำมาต่อกับค่าที่วัดได้จากไม้บรรทัดหลัก
เวอร์เนียร์ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมักจะมีทั้งมาตราเมตริกและมาตราอังกฤษไว้ด้วยกันเพื่อความสะดวก ในทางอุตสาหกรรมเวอร์เนียร์มักกำหนดความละเอียดไว้ที่ 0.01 mm หรือหนึ่งในพันนิ้ว [7]
เวอร์เนียร์คาลิเปอร์แบบเข็มแก้ไข
คาลิเปอร์แบบเข็ม (dial caliper)พัฒนามาจากเวอร์เนียร์ โดยเปลี่ยนแปลงจากไม้บรรทัดสองอันเลื่อนได้ เป็นเฟืองตรง (pinion) และเฟืองสะพาน (rack) เมื่อขยับคาลิเปอร์ เฟืองสะพานซึ่งเป็นแท่งตรงมีเขี้ยวจะเลื่อน ส่งผลให้เฟืองตรงที่ขัดอยู่หมุนกลไกที่อยู่บนหน้าปัด โดยมากมักกำหนดให้ครบรอบถ้าเลื่อนเฟืองสะพานไปได้หนึ่งนิ้ว หนึ่งในสิบนิ้ว หรือหนึ่งมิลลิเมตร จากความจริงดังกล่าวทำให้เมื่อจะอ่านคาลิเปอร์หน้าปัด จะต้องนำค่าที่อยู่บนไม้บรรทัดหลักมารวมกับค่าที่เข็มชี้บนหน้าปัดด้วย
คาลิเปอร์แบบดิจิทัลแก้ไข
คาลิเปอร์แบบดิจิทัล (digital caliper) เป็นคาลิเปอร์ที่ดัดแปลงจากเวอร์เนียร์ โดยให้ไม้บรรทัดหลักมีแถบขนาดเล็กมากจารึกไว้ตามช่วงความยาวต่าง ๆ ซึ่งจะถูกอ่านโดยตัวเข้ารหัสเชิงเส้น (linear encoder) ซึ่งจะอ่านค่าออกมาเป็นความยาว คาลิเปอร์แบบดิจิทัลมีข้อดีคือ ใช้งานง่ายเพียงวัดและอ่านค่า รวมไปถึงเปลี่ยนหน่วยได้ด้วย คาลิเปอร์แบบดิจิทัลบางรุ่นสามารถต่อเข้ากับเครื่องบันทึกหรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้ ส่วนข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือ คาลิเปอร์แบบดิจิทัลต้องใช้เซลล์ไฟฟ้าที่มีอายุยาวนานมาก เช่น เซลล์เงิน แทนที่จะใช้เซลล์อัลคาไลน์ เพราะตัวคาลิเปอร์เองยังคงกินไฟแม้จะได้กดปุ่มปิดแล้วก็ตาม ในคาลิเปอร์บางรุ่นไฟฟ้าที่ใช้อาจมากถึง 20 ไมโครแอมแปร์[8][9]
คาลิเปอร์ดิจัทัลโดยทั่วไปมีความยาว 150 mm ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม มีความละเอียด 0.01 mm และความแม่น[ม 4] 0.02 mm [10] คาลิเปอร์บางอันอาจทำให้ยาวได้ถึง 8 นิ้ว หรือ 12 นิ้ว แต่ก็ทำให้ความแม่นลดลงไปที่ 0.001 นิ้ว (0.03 mm)[11]
ไมโครมิเตอร์แก้ไข
ไมโครมิเตอร์เป็นคาลิเปอร์ชนิดหนึ่งที่ดัดแปลงจากปากกา โดยต่อส่วนที่เคลื่อนที่ของปากกาเข้ากับสกรูเปลี่ยนระยะ (differential screw) ซึ่งช่วยทำให้สามารถขยายระยะที่ปากกาหมุนให้อ่านออกเป็นความยาวได้ละเอียดดียิ่งขึ้น
ประมวลภาพแก้ไข
ดูเพิ่มแก้ไข
- เฟืองสะพานและเฟืองตรง (rack and pinion)
หมายเหตุแก้ไข
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ Mensun Bound: The Giglio wreck: a wreck of the Archaic period (c. 600 BC) off the Tuscany island of Giglio, Hellenic Institute of Marine Archaeology, Athens 1991, pp. 27 and 31 (Fig. 65)
- ↑ 2.0 2.1 Roger B. Ulrich: Roman woodworking, Yale University Press, New Haven, Conn., 2007, ISBN 0-300-10341-7, p.52f.
- ↑ "hand tool." Encyclopædia Britannica from Encyclopædia Britannica 2006 Ultimate Reference Suite DVD. [Accessed July 29, 2008]
- ↑ Christopher Cullen and Vivienne Lo (2004). Medieval Chinese Medicine: The Dunhuang Medical Manuscripts. Taylor & Francis. p. 98. ISBN 978-1-134-29131-1.
- ↑ Joseph Wickham Roe, English and American tool builders (1916) p. 203
- ↑ http://www.mackinmfg.com/ เก็บถาวร 2015-06-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน shows a picture of the calipers but does not support the RAM claim.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-05-25. สืบค้นเมื่อ 2014-11-15.
- ↑ Caliper Battery Life
- ↑ Buying Button Cells for Digital Calipers
- ↑ 6 in Digital Caliper
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-26. สืบค้นเมื่อ 2014-11-15.