ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม
ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม (อังกฤษ: justice delayed is justice denied; ฝรั่งเศส: justice différée est justice refusée) เป็นภาษิตกฎหมาย หมายความว่า ถ้ากฎหมายจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย แต่การเยียวยานั้นมาไม่ทันกาลหรือล้าสมัย ก็ไม่ต่างอะไรกับว่าไม่ได้เยียวยานั่นเอง หลักการนี้ตั้งอยู่บนสิทธิในอันที่จะเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วและสิทธิอื่น ๆ ทำนองเดียวกันที่มีความมุ่งประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้กระบวนการยุติธรรมเร็วขึ้น เพราะถือว่า ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้เสียหายที่จะต้องทุกข์ทนกับความเสียหายต่อไปพร้อมกับความหวังอันน้อยนิดว่าจะได้รับการเยียวยา นักกฎหมายหัวปฏิรูปได้ใช้ภาษิตนี้เป็นเสียงเรียกร้องเชิงรณรงค์ของพวกตนไปยังศาลและรัฐบาลที่มักทำงานล่าช้า เนื่องจากระบบที่มีอยู่ซับซ้อนเกินไปหรือแบกภาระมากเกินไป หรือเนื่องจากประเด็นหรือคู่ความที่เกี่ยวข้องไม่เป็นที่น่าสนใจมากนัก เป็นต้น[1]
ที่มา
แก้ที่มาของภาษิตข้างนี้ ว่ากันไว้หลายกระแส ในหนังสือ Respectfully Quoted: A Dictionary of Quotations ("ขอยกมาอ้างอย่างนบน้อม: พจนานุกรมวาทะเด็ด") ว่า ภาษิตนี้เป็นของ วิลเลียม เอวาร์ต แกล็ดสโตน (William Ewart Gladstone) รัฐบุรุษอังกฤษ แต่ในหนังสือนี้ไม่ระบุแหล่งอ้างอิงไว้ด้วย[2] อีกทางว่าเป็นวาทะของ วิลเลียม เพ็น (William Penn) นักปรัชญาชาวอังกฤษ แต่ก็ไม่ใช่ในถ้อยคำสำนวนอย่างปัจจุบันนี้
แต่จะว่าภาษิตนี้มีที่มาจาก มหากฎบัตร (Magna Carta) ก็ได้ เพราะข้อ 40 ของมหากฎบัตร ว่า "อันว่าสิทธิก็ดี หรือความยุติธรรมก็ดีนั้น เราจักไม่ขายให้แก่ผู้ใด เราจักไม่เพิกเฉยหรือทำให้ล่าช้าต่อผู้ใด" (To no one will we sell, to no one will we refuse or delay, right or justice)
วอร์เรน อี. เบอร์เกอร์ (Warren E. Burger) ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวว่า "ศาลทั้งหลายจำเป็นต้องได้รับความเชื่อมั่น เพื่อจะได้ธำรงโครงสร้างแห่งเสรีภาพอันเป็นระเบียบเรียบร้อยของเสรีชน และความเชื่อมั่นประการนี้...อาจย่อยยับไปด้วยโทษสามประการ คือ การที่ผู้คนเริ่มเชื่อว่า ความไร้ประสิทธิภาพและความล่าช้าจะบั่นทอนคุณค่าของคำพิพากษา แม้เป็นคำพิพากษาอันเที่ยงธรรมก็ตาม ประการหนึ่ง การที่ผู้คนผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ในธุรกรรมเล็ก ๆ น้อยตามประสาชีวิตประจำวันเริ่มพากันเชื่อว่า ศาลจะไม่สามารถพิทักษ์สิทธิตามกฎหมายของพวกเขามิให้ถูกทำลายไปด้วยการฉ้อฉลและการเอื้อมไม่ถึง ประการหนึ่ง การที่ผู้คนตั้งต้นเชื่อว่า กฎหมายในความหมายอย่างกว้าง จะไม่บรรลุหน้าที่เบื้องต้นของมันในอันที่จะคุ้มครองพวกเขาและครอบครัวของพวกเขา ในบ้านของพวกเขา ในที่ทำงานของพวกเขา ตลอดจนบนถนนหนทางสาธารณะ อีกประการหนึ่ง"[3]
ดูเพิ่ม
แก้- "out of sight, out of mind" (ตรงกับภาษาไทยว่า "เอาหูไปนา เอาตาไปไร่"), การดำเนินกระบวนพิจารณาแบบเต่าคลาน โดยหวังจะให้คู่ความลืมเรื่องราวไปเอง
- การมีขั้นตอนมากเกินไป (red tape), การไร้ประสิทธิภาพทางการบริหารซึ่งส่งผลให้ได้ข้อยุติทางกฎหมายมาอย่างเชื่องช้า
- อายุความ (limitation), ระยะเวลาที่กำหนดให้หรือไม่ให้ดำเนินการบางอย่างภายในนั้น
อ้างอิง
แก้- ↑ Justice delayed is justice denied[ลิงก์เสีย] - Tendai Kamhungira, Court Writer
- ↑ Respectfully Quoted: A Dictionary of Quotations, 1989 - 954. William Ewart Gladstone (1809–98)
- ↑ Burger, What's Wrong With the Courts: The Chief Justice Speaks Out, U.S. News & World Report (vol. 69, No. 8, Aug. 24, 1970) 68, 71 (address to ABA meeting, Aug. 10, 1970).
"A sense of confidence in the courts is essential to maintain the fabric of ordered liberty for a free people and three things could destroy that confidence and do incalculable damage to society: that people come to believe that inefficiency and delay will drain even a just judgment of its value; that people who have long been exploited in the smaller transactions of daily life come to believe that courts cannot vindicate their legal rights from fraud and over-reaching; that people come to believe the law - in the larger sense - cannot fulfill its primary function to protect them and their families in their homes, at their work, and on the public streets."