คลองไทย
คลองไทย (หรือในอดีตรู้จักกันในนาม คลองกระ หรือ คลองคอคอดกระ) หมายถึง แผนการก่อสร้างคลองขนาดใหญ่ซึ่งตัดผ่านภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการขนส่งภายในพื้นที่ เพื่อเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

คลองนี้จะเป็นทางเลือกในการสัญจรผ่านช่องแคบมะละกาและทำให้การขนส่งน้ำมันไปญี่ปุ่นและจีนสั้นลง 1,200 กิโลเมตร[1] จีนจัดให้มันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางน้ำในคริสต์ศตวรรษที่ 21 คลองตามแบบแผนนำเสนอใน ค.ศ. 2015 มีความยาว 102 กิโลเมตร กว้าง 400 เมตร และลึก 25 เมตร โดยมีการหารือและสำรวจแผนงานคลองหลายครั้ง[2] ต้นทุน ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และข้อกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้รับการชั่งน้ำหนักเทียบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและกลยุทธ์ที่อาจเกิดขึ้น
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2018 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น ประกาศว่าคลองนี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญของรัฐบาล[3] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2020 สภาผู้แทนราษฎรไทยยอมรับที่จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาโครงการคลองไทยภายใน 120 วัน[2]
ประวัติศาสตร์
แก้แนวคิดการก่อสร้างคลองสามารถติดตามได้จนถึง ค.ศ. 1677 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงตรัสถามวิศวกรชาวฝรั่งเศส de Lamar เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างทางน้ำตัดผ่านคอคอดกระ เพื่อเชื่อมต่อสงขลากับมะริด (ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า) แต่วิทยาการสมัยนั้นยังไม่มีความเจริญก้าวหน้าพอ[4]
ใน ค.ศ. 1793 แนวคิดดังกล่าวถูกรื้อฟื้นโดยพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งได้เสนอให้มีการก่อสร้างเพื่อป้องกันชายฝั่งด้านตะวันตกจากเรือรบของต่างชาติ ภายหลังพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ. 1863 ได้มีการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็พบว่าไม่สามารถก่อสร้างได้ ในปี ค.ศ. 1882 แฟร์ดีน็อง เดอ แลแซ็ปส์ วิศวกรผู้สร้างคลองสุเอซ ได้มาเยี่ยมชมพื้นที่ดังกล่าว แต่ไม่ได้รับพระราชทานอนุญาตจากพระมหากษัตริย์ไทยในการสำรวจเชิงลึก ในปี ค.ศ. 1897 สยามและจักรวรรดิอังกฤษตกลงที่จะไม่มีการก่อสร้างคลองในบริเวณดังกล่าว เพื่อปกป้องการควบคุมการค้าอย่างเบ็ดเสร็จของท่าเรือสิงคโปร์
พ.ศ. 2501 รัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้มีความคิดที่จะขุดคอคอดกระอีกครั้ง แต่รัฐบาลไม่สามารถหาข้อยุติในผลดี-ผลเสียแก่ประเทศได้
พ.ศ. 2503 นายเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด และบริษัท แหลมทอง จำกัด ได้ขออนุญาตขุดคลองคอดกระ แต่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอให้ระงับเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการแบ่งแยกดินแดน
พ.ศ. 2514 รัฐบาลได้อนุญาตให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองคอดกระ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไม่เอื้ออำนวย
พ.ศ. 2515 นายเชาว์ ได้เสนอผลการศึกษาโครงการขุดคลองคอดกระ โดยในครั้งนี้นายเชาว์ ได้ว่าจ้างบริษัทของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นที่ปรึกษา โดยคณะรัฐมนตรีลงนามรับทราบ แต่ยังไม่ได้ประกาศนโยบาย เนื่องมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้รัฐบาลของจอมพล ถนอม ต้องเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ ทำให้โครงการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น
พ.ศ. 2525 รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการขุดคลองคอดกระ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ในปี พ.ศ. 2526
พ.ศ. 2526 พลโท หาญ ลีลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีดำริจะรื้อฟื้นโครงการขุดคลองคอดกระขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่โครงการดังกล่าวถูกระงับเนื่องจากมีความกังวลว่าจะนำไปสู่ปัญหาความมั่นคง
พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ได้มีแนวความคิดที่จะนำโครงการขุดคลองคอดกระมาดำเนินการอีกครั้ง แต่ยังมิได้ดำเนินการใดๆ รัฐบาลได้สิ้นสุดลงด้วยการลาออกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540
พ.ศ. 2542 ในช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งญัตติด่วนเกี่ยวกับการขุดคลองคอดกระเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวม 2 ฉบับ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2542 รับทราบญัตติดังกล่าว และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการแล้วแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
พ.ศ. 2559 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเส้นทางสายใหม่ทางทะเลของประเทศจีนและประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยร่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางทะเล
พ.ศ. 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559 ว่าการขุดคลองคอดกระอยู่ในช่วงการศึกษาข้อดีข้อเสีย ปัญหาชายแดนภาคใต้แก้ได้หรือยัง ยังมีพื้นที่อื่นที่มีปัญหาอีก ไม่ใช่ว่าขุดแล้วจะมีคนมาใช้ ถ้าแพงกว่าของเดิม เขาจะมาไหม ทั้งนี้ ไม่ได้ปฏิเสธว่าดีหรือไม่ดี มีหลายอย่างโครงการคอคอดกระ มีสะพาน ถนนข้าม แต่ถามว่าเงินมีไหม จะเอาเงินจากไหน ถ้าคิดก็คิดได้หมดแต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา [5]
อ้างอิง
แก้- ↑ Noorul Shaiful Fitri Abdul Rahman; Nurul Haqimin Mohd Salleh; Ahmad Fayas Ahmad Najib; Lun, Venus Y (21 November 2016). "A descriptive method for analysing the Kra Canal decision on maritime business patterns in Malaysia". Journal of Shipping and Trade. 61 (13). doi:10.1186/s41072-016-0016-0.
- ↑ 2.0 2.1 "Time to revisit canal project" (Opinion). Bangkok Post. 20 January 2020. สืบค้นเมื่อ 20 January 2020.
- ↑ "Proposed Kra Canal not priority project for Thai govt". The Straits Times. 13 February 2018. สืบค้นเมื่อ 13 February 2018.
- ↑ "History: Ayutthaya Period". The Kra Canal: New Gateway to Maritime Silk Road. Thai Chinese Cultural & Economic Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 May 2015. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.
- ↑ https://pridi.or.th/th/content/2022/02/974#_ftn26
ข้อมูลทั่วไป
แก้- Cathcart, R.B. (2008). "Kra Canal (Thailand) excavation by nuclear-powered dredges". International Journal of Global Environmental Issues. 8 (3): 248–255. doi:10.1504/IJGENVI.2008.018639.
- Thapa, Rajesh B.; M. Kusanagi; A. Kitazumi; Y. Murayama (October 2007). "Sea navigation, challenges and potentials in South East Asia: an assessment of suitable sites for a shipping canal in the South Thai Isthmus". GeoJournal. 70 (2–3): 161–172. CiteSeerX 10.1.1.575.4366. doi:10.1007/s10708-008-9122-3.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Thai Canal project (Thai Language Site)
- Geo-economics of the Thai Canal (Video) (ภาษาอังกฤษ). Caspian Report. 2018-04-30. สืบค้นเมื่อ 2018-05-10.
- Thai Canal A resource page featuring historical archives of news articles, maps, and other reports.
- รายงานการศึกษาเรื่อง ความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ เก็บถาวร 2010-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากสำนักราชเลขาธิการวุฒิสภา