จินตนา ภักดีชายแดน

(เปลี่ยนทางจาก ก่ำฟ้า เฟือนจันทร์)

จินตนา ภักดีชายแดน (นามสกุลเดิม ปิ่นเฉลียว) เป็นชื่อจริงของนักเขียนนวนิยายแนวระทึกขวัญที่รู้จักกันดีในนาม จินตวีร์ วิวัธน์ และยังได้ชื่อว่าเป็นกวีหญิงฝีปากกล้าคนหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไกลออกไปนอกรั้วอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกลอนวิพากษ์สังคม การเมือง กลอนหวาน หรือแม้แต่กลอนหักมุม

จินตนา ภักดีชายแดน
เกิด6 เมษายน พ.ศ. 2485
เสียชีวิต24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 (46 ปี)
นามปากกาจินตวีร์ วิวัธน์
อาชีพนักเขียน
สัญชาติไทย
แนวสยองขวัญ, ระทึกขวัญ
คู่สมรสวินัย ภักดีชายแดน

ส่วนบทประพันธ์นวนิยายของจินตนา นอกจากจะเป็นแนวสยองขวัญที่หยิบยกเอาเรื่องผีสาง ความเร้นลับ หรือความเชื่อโบราณ มาผูกเป็นเรื่องราวแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่ถือเป็นนวนิยายอันโดดเด่นและฉีกแนวออกไปจากนวนิยายของนักเขียนคนอื่น ๆ ในสมัยเดียวกันเป็นอย่างมาก

จากการนำเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ ปรจิตวิทยา หรือแม้แต่พฤกษศาสตร์ เข้ามาผนวกกับความเชื่อและความสยองขวัญอันชวนระทึก จนเกิดเป็นนวนิยายแนวไซ-ไฟระทึกขวัญที่มีความเหนือล้ำกาลเวลา ชนิดไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี ความทันสมัยของตัวเนื้อหาในนวนิยายก็ล้วนยังชวนให้น่าทึ่ง ระคนไปกับความระทึกอันเป็นอารมณ์หลักของเรื่อง ซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว เช่น กึ่งหล้าบาดาล ศีรษะมาร มนุษย์สังเคราะห์ มฤตยูเขียว เป็นต้น

แม้กระทั่งงานเขียนแนวร่วมสมัยที่นำเอาเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อารยธรรมโบราณ เทพปกรณัม อสุรกาย ภูตผี มาผนวกเข้ากับความสยองขวัญจนเกิดเป็นจินตนิยายระทึกขวัญที่ผสมกลมกลืนกับความเป็นไทยได้อย่างกลมกล่อม อาทิ อมฤตาลัย หรือสาบนรสิงห์ เป็นต้น ก็ได้ปรากฏภายใต้การจรดอักษรของจินตนามาแล้วเช่นกัน

ที่สำคัญ บทประพันธ์หลายเรื่องภายใต้นามปากกาต่าง ๆ ของจินตนา ยังได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์มาแล้วแทบทั้งสิ้น อาทิ ศีรษะมาร สาบนรสิงห์ คฤหาสน์ดำ ขุมทรัพย์โสมประภา อมฤตาลัย สุสานภูเตศวร มฤตยูเขียว วังไวกูณฑ์ อาศรมสาง บ้านศิลาทราย มายาลวง มายาพิศวาส นอกจากนี้ก็ยังมี บุปผาเพลิง ที่ได้รับการสร้างเป็นละครวิทยุอีกด้วย

จากการประสบความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น จึงถือเป็นเครื่องยืนยันความยอดเยี่ยมในผลงานของจินตนาได้เป็นอย่างดี ทว่าจะมีสักกี่คนที่รู้ว่าผลงานชวนระทึกขวัญทุกชิ้นดังกล่าวนั้น จะเกิดจากจรดอักษรขึ้นโดยนักเขียนหญิงซึ่งเป็นคนกลัวผีมาก มากเสียจนถูกขนานนามว่าเป็น ราชินีนิยายสยองขวัญที่กลัวผีมากที่สุด[ต้องการอ้างอิง]

ประวัติ แก้

จินตนา ปิ่นเฉลียว เป็นบุตรีคนสุดท้องของ นายวิวัธน์และนางพวง ปิ่นเฉลียว มีพี่สาวคนโตชื่อมาลัย ส่วนพี่ชายมีสองคนคือ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว และ วาทิน ปิ่นเฉลียว (ผู้ให้กำเนิดนิตยสารต่วยตูน)

จินตนาเกิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2485 ที่โรงพยาบาลศิริราช และถึงแก่กรรมในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งถือเป็นการจากไปอย่างรวดเร็วด้วยวัยเพียง 46 ปี และเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการนิยายสยองขวัญ เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็เรียกได้ว่ายังไม่มีนักเขียนหญิงคนใดสามารถก้าวขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งราชินีนิยายสยองขวัญผู้นี้ได้อีกเลยแม้แต่คนเดียว

ด้านการศึกษา จินตนาจบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2506 และจบการศึกษาปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาและวรรณคดีไทย จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรในปีการศึกษา 2517

ด้านงานเขียน จินตนาเริ่มเขียนกลอนตั้งแต่อายุราว 10 ปี และส่งผลงานไปยังนิตยสารเด็กสม่ำเสมอ กระทั่งช่วงที่อยู่มัธยมฯ 3 ผลงานก็ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์และดรุณสาร ทั้งยังเคยได้รับรางวัลที่ 2 จากการประกวดบทสักวาในนิตยสารชัยพฤกษ์ ส่วนงานร้อยแก้วนั้น จินตนาเริ่มต้นด้วยการเขียนเรื่องสั้นลงพิมพ์ในเสรีคอลัมน์สำหรับเด็กของหนังสือพิมพ์สารเสรี และเคยได้รับรางวัลโบว์สีฟ้าจากการประกวดเรื่องสั้นในโครงการของนิตยสารสยามสมัย

นอกจากงานด้านร้อยแก้วแล้ว จินตนายังถนัดเขียนบทกลอนและมีผลงานแพร่หลายตามนิตยสารอยู่เสมอ โดย พ.ศ. 2505 ได้ชนะการประกวดชุมนุมกลอนชาวบ้านทางโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ซึ่งสมัยนั้นจินตนากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาที่เตรียมอุดมศึกษา, พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2515 ได้รับรางวัลจากมูลนิธิจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ สองปีซ้อนจากผลงานเรื่อง นิราศพระอาราม และเรื่อง อยุธยาวสาน, พ.ศ. 2523 ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือประเภทกวีนิพนธ์จากผลงานเรื่อง เพลงมนุษย์ จากนั้นในปีถัดมาก็ยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในรายการเดียวกันจากผลงานเรื่อง ศรีจุฬาลักษณ์

สำหรับนามปากกา จินตวีร์ วิวัธน์ ได้เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ซึ่งตลอดช่วงเวลากว่าสิบปีที่ใช้นามปากกานี้ ได้ทำให้ผลงานของจินตนาเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านอย่างกว้างขวางจนบรรดานิตยสารชั้นนำต่าง ๆ ต้องการตัวและดึงมาร่วมงาน ไม่ว่าเครือบางกอก-ทานตะวัน หรือสกุลไทย-หญิงไทย ยังผลให้ไม่มีเวลาสร้างสรรค์ผลงานในด้านบทกวี อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังเป็นช่วงเดียวกับที่พี่น้องปิ่นเฉลียวเริ่มจัดทำนิตยสารรายเดือนต่วยตูนพิเศษ จึงมอบให้จินตนาเป็นบรรณาธิการเพื่อนำเสนอเรื่องราวลึกลับอิงไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ลงในนิตยสารอีกด้วย ซึ่งจินตนาก็ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งตับ หลังจากที่ วินัย ภักดีชายแดน ผู้เป็นสามีสิ้นชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุได้เพียงสองปีกว่าเท่านั้น ถือเป็นการปิดฉากราชินีสยองขวัญแห่งเมืองไทย

นอกจากนี้ จินตนายังเคยให้สัมภาษณ์ว่าการที่มาเขียนเรื่องลึกลับนั้นก็เพราะพี่ชายคือ วาทิน ปิ่นเฉลียว เป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสือประเภทนี้มากและมักจะแอบซ่อนหนังสือเอาไว้เป็นอย่างดีเพราะกลัวน้องจะหยิบมาอ่านเข้า เนื่องจากวาทินรู้ดีว่าน้องสาวของตนเป็นคนกลัวผีมาก แต่ที่สุดแล้วจินตนาก็พยายามแอบขโมยมาอ่านทุกเรื่องจนได้ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นข้อดีของนักเขียนที่เฉพาะเจาะจงเขียนเรื่องแนวเร้นลับและผีสาง เพราะสิ่งนั้นทำให้จินตนาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมาในบทบรรยายได้ใกล้เคียงกับความรู้สึกกลัวของตัวเอง

นามปากกา แก้

นามปากกาในบทประพันธ์นวนิยาย

  • จินตวีร์ วิวัธน์
  • ก่ำฟ้า เฟือนจันทร์
  • หทัยธรณี
  • สการะวาตี

นามปากกาในงานเขียนอื่น ๆ

  • พวงอุบล ปิ่นวิวัธน์
  • ศรีจิตรา
  • จานิน
  • จินตาภา
  • วรมินตรา
  • พร พิษณุเทพ
  • ไดโนเสาร์ (เด็ก)
  • ไอคิว 45
  • จอหงอย ในนิตยสารต่วยตูน สำหรับรีวิวหนังอสุรกายเก่าๆ ต่อมามีคนนำมาเขียนต่อหลังการเสียชีวิตของ จินตนาใช้ชื่อแฝงเลียนแบบว่าจอเหงา

ผลงาน แก้

  1. กึ่งหล้าบาดาล
  2. ขุมทรัพย์โสมประภา
  3. คัมภีร์ภูต
  4. คฤหาสน์ดำ
  5. คุ้มคำพญา
  6. จุมพิตเพชฌฆาต
  7. เจ้าชายในฝัน
  8. ใต้เงาปิรามิด
  9. แทบหัตถ์เทวี
  10. บุปผาเพลิง
  11. บาดาลนคร (พิภพสนธยา ภาค 2)
  12. บ้านศิลาทราย
  13. ผาโหงพราย
  14. พรายพระกาฬ
  15. พลังหลอน
  16. พิภพสนธยา
  17. ภวังค์
  18. ภูตพระจันทร์
  19. มณีสวาท (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2556 ช่อง3)
  20. มนุษย์สังเคราะห์
  21. มฤตยูเขียว
  22. มนุษย์ชิ้นส่วน (มฤตยูเขียว ภาค 2)
  23. มาแต่หิมพานต์
  24. มายาลวง
  25. มายาพิศวาส
  26. มิติเร้น
  27. มิติหลง
  28. ม่อนมนต์ดำ
  29. รักระทึก
  30. โลก:2599
  31. วังไวกูณฑ์
  32. ศตวรรษสวาท
  33. ศีรษะมาร (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง 2536 ช่อง7 และ 2565 ช่อง8)
  34. เสกอสุรกาย (อุโมงค์มาร ภาค 2)
  35. สางสยอง
  36. สางสีทอง
  37. สาบนรสิงห์ (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2539 ช่อง5)
  38. สุสานภูเตศวร (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2552 ช่อง3)
  39. อาศรมสาง
  40. อมฤตาลัย (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2549 ช่อง3)
  41. อาถรรพณ์เทวี
  42. อุโมงค์มาร
  43. รวมเรื่องสั้น ขวัญหนี

อ้างอิง แก้

  • คริส สารคาม. นักเขียนในอดีต 2 -- กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, พ.ศ. 2542. (ISBN 974-7343-81-9)
  • ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย -- กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, พ.ศ. 2542. (ISBN 974-8267-78-4)
  • น้าชาติ ประชาชื่น. จินตวีร์ วิวัธน์-นักเขียนนิยายแนวสยองขวัญ โดยน้าชาติ ประชาชื่น
  • คนบนถนนหนังสือ, พ.ศ. 2527
  • สยามดารา 13 พฤศจิกายน, พ.ศ. 2552