การแยกศาสนจักรกับอาณาจักร

การแยกศาสนจักรกับอาณาจักร (อังกฤษ: separation of church and state) เป็นแนวคิดทางปรัชญาและนิติปรัชญาที่กำหนดให้มีระยะห่างทางการเมืองในความสัมพันธ์ขององค์การศาสนากับรัฐชาติ โดยเนื้อหาแล้ว แนวคิดนี้หมายถึงการสร้างรัฐโลกวิสัย (ไม่ว่าจะมีการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายศาสนากับฝ่ายรัฐไว้โดยชัดแจ้งตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม) รวมถึงการยุบเลิกหรือเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์มีอยู่อย่างเป็นทางการในระหว่างศาสนากับรัฐ[1]

ในสังคมหนึ่ง ๆ ระดับการแบ่งแยกทางการเมืองระหว่างศาสนากับรัฐนั้นย่อมกำหนดตามโครงสร้างทางกฎหมายและแนวคิดทางกฎหมายที่นิยมอยู่ในเวลานั้น เช่น หลักความยาวแขน (arm's length principle) ซึ่งนำเสนอรูปแบบความสัมพันธ์ที่ทั้งสองมีปฏิสัมพันธ์กันในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ต่างหากจากกัน

แนวคิดเรื่องการแยกศาสนจักรกับอาณาจักรนั้นเป็นปรัชญาคู่ขนานกับแนวคิดโลกิยนิยม (secularism), คตินิยมยุบเลิกศาสนจักร (disestablishmentarianism), เสรีภาพทางศาสนา (religious liberty), และพหุนิยมทางศาสนา (religious pluralism) ซึ่งด้วยแนวคิดเหล่านี้ รัฐในยุโรปจึงรับเอาบทบาทบางอย่างในทางสังคมขององค์การศาสนามาเป็นของตน เป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ทางสังคมที่ก่อให้เกิดประชากรและพื้นที่สาธารณะที่เป็นฆราวาสในทางวัฒนธรรม[2]

ในทางปฏิบัติแล้ว การแยกศาสนจักรกับอาณาจักรแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ใช้แนวคิดความเป็นฆราวาส (laïcité) อย่างเคร่งครัด บางประเทศแยกศาสนากับรัฐจากกันอย่างสิ้นเชิงโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น อินเดียและสิงคโปร์ ขณะที่บางประเทศ เช่น เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร และมัลดีฟส์ ยังยอมรับนับถือศาสนาประจำรัฐอยู่ในทางรัฐธรรมนูญ[3]

อ้างอิง แก้

  1. The Oxford Companion to the Supreme Court of the United States (1992), Kermit D. Hall, Ed. pp. 717–26
  2. Princeton University WordNet เก็บถาวร พฤษภาคม 8, 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน reads: "separationism: advocacy of a policy of strict separation of church and state."
  3. "Norway separates church and state". สืบค้นเมื่อ 22 March 2015.