การเดินทางคอน-ติกิ

การเดินทางคอน-ติกิ เป็นการเดินทางด้วยแพจากทวีปอเมริกาใต้ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังพอลินีเชียในปี ค.ศ. 1947 การเดินทางครั้งนี้นำโดยทอร์ เฮเยอร์ดาห์ล นักผจญภัยชาวนอร์เวย์ ชื่อคอน-ติกิ มาจากพระนามเดิมของ Viracocha พระผู้สร้างของชาวอินคา นอกจากนี้ยังเป็นชื่อหนังสือที่เฮเยอร์ดาห์ลเขียนหลังเสร็จสิ้นการเดินทาง (แปลไทยในชื่อ ล่องแพสู่แปซิฟิค) และชื่อภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2012 (ชื่อไทยของภาพยนตร์คือ ลอยทะเลให้โลกหงายเงิบ)[1]

แพคอน-ติกิ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ออสโล

เฮเยอร์ดาห์ลเชื่อว่าชาวอเมริกาใต้เป็นผู้ตั้งรกรากในพอลินีเชียตั้งแต่ยุคก่อนโคลัมบัส เขาจึงสร้างแพด้วยวัสดุและเทคโนโลยีในสมัยนั้นเพื่อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าว แพคอน-ติกิสร้างจากลำต้นไม้บัลซา 9 ต้น ประกอบเข้าด้วยกันด้วยเชือกกัญชง ขอบเรือและคัดแคงทำจากไม้สน เสาแพทำจากไม้โกงกาง ส่วนเพิงพักทำจากไม้ไผ่มุงด้วยใบตอง ด้านอาหารที่คณะเดินทางนำไปด้วยได้แก่ น้ำดื่ม 1,040 ลิตร มะพร้าว มันเทศ น้ำเต้า และผักผลไม้อื่น ๆ นอกจากนี้กองทัพสหรัฐยังสนับสนุนอาหารกระป๋อง อาหารแห้งและอุปกรณ์ยังชีพจำนวนหนึ่ง ระหว่างเดินทาง คณะเดินทางจับปลาได้จำนวนมาก เช่น ปลานกกระจอก ปลาอีโต้มอญ และปลาทูน่าครีบเหลือง ขณะที่ด้านการสื่อสารคณะเดินทางใช้วิทยุที่มีรหัสเรียกขาน LI2B เพื่อติดต่อกับสถานีในทวีปอเมริกา[2]

28 เมษายน ค.ศ. 1947 เฮเยอร์ดาห์ลพร้อมด้วยลูกเรือ 5 คนได้แก่ ผู้นำทาง เอริก เฮสเซลแบร์ก (Erik Hesselberg) ผู้ดูแลสัมภาระ เบงต์ แดเนียลส์สัน (Bengt Danielsson) วิศวกร แฮร์มัน วัตซิงเกอร์ (Herman Watzinger) และผู้ดูแลวิทยุสื่อสาร คนุต ฮอกลันด์ (Knut Haugland) และทอร์สตีน ราบี (Torstein Raaby) พร้อมด้วยนกแก้วชื่อ โลริตา[3] ออกเดินทางจากเมืองคาเญา ประเทศเปรู โดยมีเรือของกองทัพเปรูลากออกจากฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงเรือลำอื่น ๆ ก่อนจะล่องไปตามกระแสน้ำฮุมบ็อลท์ วันที่ 30 กรกฎาคม คณะเดินทางมองเห็นแผ่นดินแรกคืออะทอลล์ปูกา-ปูกา ในหมู่เกาะดิสแอปพอยต์เมนต์ จากนั้นวันที่ 4 สิงหาคม คณะเดินทางไปถึงอะทอลล์แองกาเตาและพบกับชาวบ้านบนเกาะ แต่พวกเขาไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม แพคอน-ติกิชนเข้ากับแนวปะการังก่อนจะเกยหาดของเกาะ Raroia ในหมู่เกาะตูอาโมตัส การเดินทางจึงต้องยุติลงหลังคณะเดินทางล่องด้วยระยะทาง 6,980 กิโลเมตร เป็นเวลา 101 วัน ภายหลังคณะเดินทางออกจากเกาะ Raroia ไปยังตาฮีตีด้วยเรือใบของฝรั่งเศส โดยมีซากแพคอน-ติกิ พ่วงไปด้วย[4]

การเดินทางคอน-ติกิแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเดินทางด้วยแพจากทวีปอเมริกาใต้มายังพอลินีเชีย รวมถึงความเป็นไปได้ที่บรรพบุรุษของชาวพอลินีเชียมาจากอเมริกาใต้[5] อย่างไรก็ตาม สมมติฐานของเฮเยอร์ดาห์ลไม่ได้การยอมรับในวงวิชาการ[6] เวด เดวิส นักมานุษยวิทยาชาวแคนาดาวิจารณ์ว่า "สมมติฐานของเฮเยอร์ดาห์ลนั้น "ละเลย" ต่อหลักฐานทางภาษาศาสตร์ ชาติพันธุ์วรรณนา และพฤกษศาสตร์พื้นบ้านที่มีอยู่จำนวนมาก"[7] ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าชาวพอลินีเชียเป็นส่วนหนึ่งของชาวออสโตรนีเซีย และมีบรรพบุรุษมาจากทางตะวันตกหรือทวีปเอเชีย โดยอิงจากการศึกษาทางภาษาศาสตร์ โบราณคดีและพันธุศาสตร์[8][9][10]

อ้างอิง แก้

  1. "Kon-Tiki raft". Britannica. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
  2. Stafford, Ed. Expeditions Unpacked: What the Great Explorers Took into the Unknown. North London, England, UK: White Lion Publishing. p. 71. ISBN 9781781318782.
  3. "Kon-Tiki". New World Encyclopedia. April 23, 2018. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
  4. Klein, Christopher (October 6, 2014). "Thor Heyerdahl's Kon-Tiki Voyage". HISTORY. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
  5. Herman, Doug (September 4, 2014). "How the Voyage of the Kon-Tiki Misled the World About Navigating the Pacific". Smithsonian Magazine. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
  6. Robert C. Suggs The Island Civilizations of Polynesia, New York: New American Library, p.212-224.
  7. Davis, Wade (2010) The Wayfinders: Why Ancient Wisdom Matters in the Modern World, Crawley: University of Western Australia Publishing, p. 46.
  8. Bhanoo, Sindya N. (February 7, 2011). "DNA Sheds New Light on Polynesian Migration". The New York Times. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
  9. Gibbons, Ann (October 3, 2016). "'Game-changing' study suggests first Polynesians voyaged all the way from East Asia". ScienceMag.org. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.
  10. Ghose, Tia (October 5, 2016). "The First People to Settle Polynesia Came from Asia". Live Science. สืบค้นเมื่อ January 10, 2020.