การเลือกตั้งแบบถ่ายโอนคะแนนเสียง
การเลือกตั้งแบบถ่ายโอนคะแนนเสียง (อังกฤษ: single transferable vote, STV) เป็นระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมาให้มีความคล้ายคลึงกับระบบสัดส่วนโดยใช้ในการเลือกผู้แทนแบบหลายคนต่อหนึ่งเขตเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกผู้สมัครตามลำดับที่ชอบ โดยลำดับที่เลือกนี้ในภายหลังจะถูกนำไปนับคะแนนตามสัดส่วนโดยที่คะแนนจะไม่สูญไปหากผู้สมัครในลำดับนั้นได้รับเลือกไปแล้ว[1] โดยคะแนนเสียงจะถูกโอนไปให้ผู้สมัครลำดับถัดไป การเลือกตั้งแบบนี้เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า การเลือกตั้งแบบมีผู้ชนะหลายคนตามลำดับการเลือก[2] (multi-winner ranked-choice voting)
ในการเลือกตั้งระบบนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเป็นลำดับความชอบโดยสามารถเลือกได้มากกว่าหนึ่งคนในแต่ละเขต โดยเลือกคนที่ชอบมากที่สุดเป็นลำดับที่หนึ่ง และลำดับอื่น ๆ เป็นรายการสำรอง (ตามลำดับความนิยม) โดยการนับคะแนนจะเริ่มนับจากลำดับที่หนึ่งก่อน แต่หากผู้สมัครลำดับที่หนึ่งได้รับเลือกไปแล้ว หรือถูกตัดไปแล้ว (เนื่องจากคะแนนเสียงรวมของผู้สมัครคนนั้นมีไม่มากพอต่อค่าเฉลี่ย) คะแนนเสียงจะไม่สูญไป แต่จะถูกถ่ายโอนไปยังผู้สมัครลำดับถัดไปตามลำดับก่อนหลัง
ในเขตเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้สมัครมากกว่าจำนวนที่นั่ง ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุดจะถูกตัดออก และคะแนนของผู้สมัครคนนี้จะถูกถ่ายโอนไปยังผู้สมัครคนอื่นตามการเลือกของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ในบางระบบ คะแนนส่วนที่มากกว่าโควตา (surplus votes) ของผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในการคำนวณครั้งแรกจะถูกกระจายให้แก่ผู้สมัครในอันดับถัดไป โดยใช้ขั้นตอนนี้จนกว่าจะได้ผู้ชนะครบที่นั่งในแต่ละเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่ยังไม่มีผู้สมัครคนใดที่มีคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับคะแนนโควตา ขั้นตอนต่อไปให้ตัดผู้สมัครที่ได้คะแนนน้อยที่สุดออก และเอาคะแนนนั้นมาเฉลี่ยให้แก่ผู้สมัครคนอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผู้สมัครที่มีคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับคะแนนโควตา ทำเช่นนี้จนกว่าจะได้ผู้ชนะครบตามจำนวนผู้แทนที่พึงมีในเขตนั้น[3]
การเลือกตั้งระบบนี้เน้นความสำคัญของตัวผู้สมัครมากกว่าพรรคการเมือง (บัญชีรายชื่อ) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดแล้ว การเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้คะแนนเสียงของผู้ใช้สิทธิไม่สูญเปล่า ในกรณีที่ผู้สมัครไม่ได้รับการคัดเลือก หรือได้รับการคัดเลือกไปแล้ว คะแนนเสียงที่เกินนั้นยังมีประโยชน์ต่อผู้สมัครรายอื่น ๆ ที่ผู้ใช้สิทธิเลือกเป็นลำดับถัดไป
นอกจากนี้ยังมีผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกับระบบสัดส่วน โดยทำให้พรรคการเมืองเสียงข้างน้อยมีที่นั่งในสภา โดยหลักการคือไม่ทำให้พรรคการเมืองใดสามารถครองทุกที่นั่งในแต่ละเขตเลือกตั้งได้ โดยวัตถุประสงค์หลักของระบบนี้คือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกหนึ่งสิทธิในการเลือกผู้สมัครหลายคน
นิยาม
แก้เมื่อใช้การเลือกตั้งแบบนี้สำหรับการหาผู้ชนะเพียงคนเดียวจะเทียบเท่ากับ "การลงคะแนนตามลำดับความชอบ" (instant-runoff voting/alternative vote/preferential voting) เมื่อใช้ในการหาผู้ชนะการเลือกตั้งหลายคนบางทีเรียกว่า "การเลือกตั้งระบบสัดส่วนโดยใช้เสียงเดียวแบบถ่ายโอน" (proportional representation through the single transferable vote/PR-STV) โดยปกติแล้วนิยามของการเลือกตั้งแบบถ่ายโอนคะแนนเสียงใช้ในการหาผู้ชนะมากกว่าหนึ่งคน
การลงคะแนน
แก้การเลือกตั้งแบบถ่ายโอนคะแนนเสียง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะลงคะแนนเสียงเป็นลำดับความนิยมส่วนบุคคล โดยอันดับ "1" คือผู้ที่นิยมมากที่สุด และลำดับ "2" คือผู้ที่นิยมรองลงมา และไล่ลำดับลงไปเรื่อย ๆ ตามตัวอย่างการลงคะแนนเสียงตามภาพด้านขวามือ ในทางปฎิบัติแล้วรายชื่อผู้สมัครจะถูกเรียงเป็นสดมภ์ตามสังกัดพรรคการเมือง รวมถึงในกรณีผู้สมัครอิสระซึ่งจะถูกแยกไว้อีกสดมภ์หนึ่งด้วย (อีกวิธีหนึ่งในการลงคะแนนตามลำดับความชอบนั้นคือการลงคะแนนในช่องถัดไปจากชื่อผู้สมัคร โดยสดมภ์แรกซึ่งอยู่ถัดจากชื่อจะเป็นสำหรับเลือกผู้สมัครที่ชอบเป็นลำดับแรก โดยผู้ลงคะแนนจะต้องกาเครื่องหมายกากบาทลงในสดมภ์นั้น ส่วนสดมภ์ถัดไปเป็นตัวเลือกในลำดับที่สอง ซึ่งหากจะทำเครื่องหมายให้ผู้สมัครรายใดเป็นลำดับสองจะต้องทำเครื่องหมายกากบาทลงในสดมภ์นี้ เป็นต้น)
อ้างอิง
แก้- ↑ "Single Transferable Vote". Electoral Reform Society.
- ↑ FairVote.org. "Ranked Choice Voting / Instant Runoff". FairVote. สืบค้นเมื่อ 2021-04-12.
- ↑ เมืองรัตน, ฤทัยชนก. "การเลือกตั้ง-วิถีแห่งประชาธิปไตย" (PDF). สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สืบค้นเมื่อ 6 June 2021.
อ่านเพิ่มเติม
แก้- Bartholdi, John J., III; Orlin, James B. (1991). "Single Transferable Vote Resists Strategic Voting" (PDF). Social Choice and Welfare. 8 (4): 341–354. CiteSeerX 10.1.1.127.97. doi:10.1007/BF00183045. ISSN 0176-1714. JSTOR 41105995. S2CID 17749613. สืบค้นเมื่อ 30 August 2017.
- Benade, Gerdus; Buck, Ruth; Duchin, Moon; Gold, Dara; Weighill, Thomas (2021). "Ranked Choice Voting and Minority Representation" (PDF). SSRN. doi:10.2139/ssrn.3778021. สืบค้นเมื่อ 2 March 2021.
- Geller, Chris (2002). "Single Transferable Vote with Borda Elimination: A New Vote-Counting System" (PDF). Deakin University, Faculty of Business and Law.
- ——— (2004). "Single Transferable Vote with Borda Elimination: Proportional Representation, Moderation, Quasi-chaos and Stability". Electoral Studies. 24 (2): 265–280. doi:10.1016/j.electstud.2004.06.004. ISSN 1873-6890.
- O'Neill, Jeffrey C. (2004). "Tie-Breaking with the Single Transferable Vote" (PDF). Voting Matters (18): 14–17. ISSN 1745-6231. สืบค้นเมื่อ 30 August 2017.
- Sawer, Marian & Miskin, Sarah (1999). Papers on Parliament No. 34 Representation and Institutional Change: 50 Years of Proportional Representation in the Senate (PDF). Department of the Senate. ISBN 0-642-71061-9.
- Stone, Bruce (2008). "State legislative councils: designing for accountability." In N. Aroney, S. Prasser, & J. R. Nethercote (Eds.), Restraining Elective Dictatorship (PDF). UWA Publishing. pp. 175–195. ISBN 978-1-921401-09-1.