การยึดรัฐ (อังกฤษ: state capture) เป็นการทุจริตทางการเมืองอย่างเป็นระบบชนิดหนึ่ง ซึ่งผลประโยชน์ของเอกชนมีอิทธิพลต่อกระบวนการวินิจฉัยสั่งการของรัฐอย่างมากเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ธนาคารโลกเป็นผู้ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นครั้งแรกในช่วงประมาณปี 2543 เพื่ออธิบายสถานการณ์ในประเทศเอเชียกลางบางประเทศที่กำลังเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจออกจากคอมมิวนิสต์โซเวียต ที่เจาะจงคือ ใช้กับสถานการณ์ที่กลุ่มทุจริตกลุ่มเล็กใช้อิทธิพลที่มีเหนือข้าราชการในการเข้าควบคุมการวินิจฉัยสั่งการของรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของตน สมาชิกลุ่มเหล่านี้จะได้ชื่อว่า "คณาธิปัตย์" (oligarch)[1]

นิยาม แก้

นิยามคลาสสิกของ "การยึดรัฐ" คือ วิธีการที่กระบวนวิธีดำเนินการอย่างเป็นทางการ (เช่นกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคม) และระบบข้าราชการประจำของรัฐบาลถูกชักใยโดยข้าราชการ บริษัทที่รัฐบาลสนับสนุน บริษัทเอกชน และ/หรือ ปัจเจกบุคคล เพื่อมีอิทธิพลต่อนโยบายและกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่พวกตน

การยึดรัฐมุ่งมีอิทธิพลต่อการร่างกฎหมาย เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมตัวแสดงที่มีอิทธิพลและผลประโยชน์ของตัวแสดงดังกล่าว ในความหมายนี้ การยึดรัฐจึงต่างจากการทุจริตทางการเมืองแบบอื่นซึ่งมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายบางส่วนที่มีอยู่ก่อนแล้ว[2]

การยึดรัฐไม่จำเป็นต้องขัดต่อกฎหมายของรัฐเสมอไป ขึ้นอยู่กับการตีความของรัฐนั้น ๆ เอง[3] และที่จริงอาจมีความพยายามยึดรัฐผ่านการวิ่งเต้นและการใช้อิทธิพลส่วนตัว อิทธิพลนี้อาจมาผ่านสถาบันของรัฐหลายอย่าง รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และผ่านกระบวนการเลือกตั้งทุจริต ในความหมายนี้จะคล้ายคลึงกับการยึดระเบียบ (regulatory capture) แต่จะมีความแตกต่างตรงที่ขอบเขตและประเภทของภาคส่วนที่ได้รับอิทธิพล และอิทธิพลของเอกชนนั้นเป็นไปในทางลับ[4]

ปัจจัยแยกแยะจากการทุจริตอยู่ที่ ในกรณีการทุจริต ผลลัพธ์ (ของการตัดสินนโยบายหรือระเบียบ) มีความไม่แน่นอน ส่วนในกรณีของการยึดรัฐนั้น จะทราบผลลัพธ์อยู่แล้ว และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ยึดรัฐ ในปี 2560 กลุ่มนักวิชาการแอฟริกาใต้พัฒนามโนทัศน์ดังกล่าว โดยมีบทวิเคราะห์ที่เน้นลักษณะทางการเมืองของการยึดรัฐ โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มอภิชนในแอฟริกาใต้ละเมิดรัฐธรรมนูญและฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อดำเนินโครงการทางการเมืองซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะไม่สามารถสำเร็จได้ภายในกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีอยู่[5]

อ้างอิง แก้

  1. Crabtree, John; Durand, Francisco (2017). Peru: Elite Power and Political Capture. London, United Kingdom: Zed Books Ltd. p. 1. ISBN 978-1-78360-904-8.
  2. http://documents1.worldbank.org/curated/en/537461468766474836/pdf/multi-page.pdf
  3. Kaufmann, Daniel; Vicente, Pedro C. "Legal Corruption (October 2005)" (PDF). สืบค้นเมื่อ 7 April 2017.
  4. World Bank (2000). Anticorruption in Transition: Contribution to the Policy Debate. World Bank Publications. ISBN 9780821348024.
  5. State Capacity Research Group. 2017. "Betrayal of the Promise Report." Johannesburg: Public Affairs Research Institute