การยับยั้ง (อังกฤษ: veto) เป็นอำนาจฝ่ายเดียวที่จะหยุดยั้งการกระทำใด ๆ ในการบริหารรัฐกิจ ในกรณีส่วนใหญ่ อำนาจนี้เป็นของประมุขแห่งรัฐ เช่น ประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ ที่จะหยุดยั้งมิให้ประกาศใช้ร่างกฎหมายเป็นกฎหมาย และมีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ อำนาจนี้ยังอาจพบได้ในการปกครองระดับอื่นนอกเหนือจากระดับชาติ เช่น ระดับท้องถิ่น และระดับระหว่างประเทศ

การยับยั้งในบางกรณีอาจถูกลบล้างได้ด้วยคะแนนเสียงข้างมากพิเศษ เช่น ในสหรัฐ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอาจลบล้างการยับยั้งของประธานาธิบดีได้ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดของตน[1] แต่ในบางกรณี การยับยั้งก็มีผลเด็ดขาด ซึ่งมิอาจถูกลบล้างได้ เช่น ในระดับระหว่างประเทศ สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีอำนาจยับยั้งข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงได้โดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ในบางกรณี อำนาจยับยั้งมีไว้ใช้หยุดยั้งมิให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสถานะที่เป็นอยู่ แต่ในบางกรณี อำนาจยับยั้งสามารถใช้ไปในทางริเริ่มความเปลี่ยนแปลงก็ได้ ดังในกรณีของประเทศอินเดียซึ่งประธานาธิบดีสามารถยับยั้งร่างกฎหมายด้วยการกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างนั้นอีกที

ในระบบประธานาธิบดีหรือกึ่งประธานาธิบดี อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายเป็นเครื่องมือหลักเครื่องมือหนึ่งที่ฝ่ายบริหารมีในกระบวนการนิติบัญญัติ นอกเหนือไปจากอำนาจเสนอร่างกฎหมาย[2] แต่ในระบบอื่น อำนาจยับยั้งของประมุขแห่งรัฐมักมีอยู่แบบเบาบาง หรือไม่มีเลย[3]

คำว่า "veto" ในภาษาอังกฤษนั้น มีที่จากภาษาละติน แปลว่า "ข้าห้าม" (I forbid) แนวคิดเรื่องอำนาจยับยั้งมีต้นกำเนิดมาจากอารยธรรมโรมโบราณ ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลโรมันคนหนึ่งสามารถยับยั้งการดำเนินการทางทหารหรือพลเรือนของอีกคนหนึ่ง และผู้ดำรงตำแหน่งในทรีบูนมีอำนาจฝ่ายเดียวที่จะยับยั้งการดำเนินการใด ๆ ของแมจิสเตรตโรมัน หรือยับยั้งกฎหมายผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาโรมันแล้วได้[4]

อ้างอิง

แก้
  1. Article I, Section 7, Clause 2 of the United States Constitution
  2. Palanza & Sin 2020, p. 367.
  3. Bulmer 2017, p. 5.
  4. Spitzer, Robert J. (2000). The presidential veto: touchstone of the American presidency. SUNY Press. pp. 1–2. ISBN 978-0-88706-802-7.