การบาดเจ็บจากไฟฟ้า

การบาดเจ็บจากไฟฟ้า หรือเรียกอย่างง่ายว่า ไฟฟ้าดูด คืออาการบาดเจ็บหรือความเสียหายที่เกิดจากการที่ผิวหนังหรืออวัยวะภายในร่างกายสัมผัสกับกระแสไฟฟ้าโดยตรง[2][3]

การบาดเจ็บจากไฟฟ้า
ชื่ออื่นไฟฟ้าดูด, ไฟดูด
การบาดเจ็บซึ่งเกิดจากฟ้าผ่า รอยแดงซึ่งเป็นเส้นเล็กน้อยที่บริเวณขาซึ่งปรากฏในภาพเกิดจากผลกระทบของกระแสไฟฟ้า
สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ภาวะแทรกซ้อนแผลไหม้, กล้ามเนื้อลายสลายตัว, หัวใจหยุดเต้น, กระดูกหัก[1]

การบาดเจ็บนั้นจะขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของกระแสไฟฟ้า การต้านทานของเนื้อเยื่อ และระยะเวลาที่ถูกสัมผัส[4] หากถูกสัมผัสกับกระแสไฟฟ้าเพียงในปริมาณที่น้อยมาก ร่างกายอาจไม่สามารถรู้สึกได้ หรืออาจรู้สึกเหน็บชาเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม หากเป็นกระแสไฟฟ้าในปริมาณที่ไม่ถึงกับน้อยมาก อาจทำให้ผู้ถูกสัมผัสรู้สึกสะดุ้งและเกิดการบาดเจ็บจากการชักกระตุกเพียงเล็กน้อยหรือการล้มได้ การถูกไฟฟ้าดูดในปริมาณมากมักทำให้เกิดการชักกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดรุนแรงมาก และทำให้เกิดอาการข้อเคลื่อนหรืออาจถึงขั้นกระดูกหักได้ การที่ผู้ถูกสัมผัสไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อของตนเองได้เป็นเหตุผลที่ผู้ถูกสัมผัสเองอาจไม่สามารถดึงตนเองออกมาจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่ตนถูกสัมผัสได้ โดยหากผู้ถูกสัมผัสสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อที่ระดับความสูงเดียวกับสายไฟฟ้าเหนือศีรษะ ก็อาจถูกเหวี่ยงและตกลงมาได้[5][6] และหากเป็นกระแสไฟฟ้าปริมาณมาก ก็อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย และอาจทำให้เกิดอาการหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัวหรือหัวใจหยุดเต้นได้[7] หากการเสียชีวิตเป็นผลจากไฟฟ้าดูด สาเหตุการเสียชีวิตก็มักจะถูกระบุว่าเกิดจากการเสียชีวิตด้วยไฟฟ้า (electrocution)

การบาดเจ็บจากไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อส่วนของร่างกายถูกสัมผัสเข้ากับไฟฟ้าซึ่งมีกระแสไฟฟ้าที่แรงพอที่จะเคลื่อนที่ผ่านเนื้อเยื่อของมนุษย์ได้ โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดมักเป็นการสัมผัสกับสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่เกิดไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่เป็นการสัมผัสไฟฟ้าแรงสูง เช่น บนเสาไฟฟ้า การสัมผัสโดยตรงอาจจะไม่จำเป็น เนื่องจากไฟฟ้าแรงสูงสามารถเคลื่อนที่ข้ามผ่านอากาศไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าได้[8]

ในกรณีของการบาดเจ็บจากกระแสไฟฟ้าในบ้านหรือในครัวเรือน หากผู้บาดเจ็บไม่มีอาการใด ไม่มีปัญหาพื้นเดิมเกี่ยวกับหัวใจ และไม่ได้ตั้งครรภ์ ก็ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจใด ๆ เพิ่มเติม[9] หรือหากมีอาการก็สามารถตรวจด้วยวิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเลือดเพื่อทำการตรวจหัวใจ และการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสัญญาณของความเจ็บป่วยเกี่ยวกับกล้ามเนื้อได้[9]

อ้างอิง แก้

  1. Zemaitis MR, Foris LA, Lopez RA, Huecker MR (January 2020). "Electrical Injuries". StatPearls [Internet]. PMID 28846317.
  2. "Electrical injury: MedlinePlus Medical Encyclopedia". medlineplus.gov (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2 October 2023.
  3. Boon, Elizabeth; Parr, Rebecca; 20,000Dayananda, Samarawickrama (2012). Oxford Handbook of Dental Nursing. Oxford University Press. p. 132. ISBN 978-0191629860. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-06.
  4. Reilly 1998, p. 1
  5. "Electrical injuries - Electrical safety". www.hse.gov.uk. สืบค้นเมื่อ 2 October 2023.
  6. Leslie Alexander Geddes, Rebecca A. Roeder ,Handbook of Electrical Hazards and Accidents Lawyers & Judges Publishing Company, 2006 ISBN 0913875449, page 29
  7. Gentges, Joshua; Schieche, Christoph (November 2018). "Electrical injuries in the emergency department: an evidence-based review". Emergency Medicine Practice. 20 (11): 1–20. ISSN 1559-3908. PMID 30358379.
  8. "Introduction to electrical safety - HSE". www.hse.gov.uk. สืบค้นเมื่อ 2 October 2023.
  9. 9.0 9.1 "Electrical Injuries - Injuries; Poisoning". Merck Manuals Professional Edition. สืบค้นเมื่อ 9 May 2020.