การจำลองสมองทั้งหมด

การจำลองสมองทั้งหมด (อังกฤษ: Whole brain emulation) เป็นแนวคิดของกระบวนการคัดลอกส่วนที่เป็นเนื้อหาของจิตใจจากสมองบางส่วนแล้วนำไปเก็บไว้บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์นี้สามารถจำลองการประมวลผลของสมองได้ เช่น ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมในแบบเดียวกับที่สมองต้นแบบทำ (โดยภาพรวมแล้ว สามารถทำงานได้ตรงตามจุดประสงค์เดียวกับที่สมองจริงทำได้)

แนวคิดนี้จัดได้ว่าเป็นแนวคิดสุดขั้ว นักวิทยาศาสตร์บางคนมองว่าเป็นเทคโนโลยีการต่ออายุของคน เป้าหมายอีกอย่างของแนวคิดนี้คือการจัดเก็บจิตใจของคนไว้ในรูปแบบไฟล์ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการอยู่รอดของมนุษยชาติในยามเกิดภัยพิบัติทั่วโลกหรือต้องเดินทางข้ามดวงดาว นักอนาคตศาสตร์หลายคนเชื่อว่าแนวคิดนี้จะเป็นจุดที่สาขาวิชาประสาทวิทยาคำนวณและประสาทสารสนเทศมาพบกัน สามารถนำไปใช้ในงานวิจัยทางการแพทย์ได้ นอกจากนี้ นักวิจัยสายปัญญาประดิษฐ์หลายคนก็เชื่อว่าแนวคิดนี้นำไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปที่หมายถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์ไม่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และอาจนำไปสู่ภาวะเอกฐานทางเทคโนโลยี อันหมายถึงพัฒนาการของอารยธรรมที่เทคโนโลยีสามารถทำงานได้ระดับเดียวหรือเหนือกว่ามนุษย์

ภาพรวม แก้

สมองของมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาท 86,000 ล้านเซลล์ แต่ละเซลล์เชื่อมต่อกับเซลล์อื่นด้วยแอกซอนและเดนไดรต์ สัญญาณที่จุดเชื่อมต่อที่เรียกว่าไซแนปส์นี้จะถูกส่งไปยังอีกเซลล์ด้วยการปล่อยและจับสารเคมีที่เรียกว่าสารสื่อประสาท นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาส่วนใหญ่เชื่อกันว่า จิตใจของมนุษย์อุบัติขึ้นด้วยการประมวลผลของเครือข่ายประสาทเหล่านี้

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า งานต่างๆที่เกิดจากจิตใจ เช่น การเรียนรู้ ความจำ และจิตรู้สำนึก ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการทางเคมีไฟฟ้าของสมองและมีกฎบางอย่างที่ควบคุมอยู่ แนวคิดเรื่องของการคัดลอกจิตใจไปยังคอมพิวเตอร์นั้นเป็นการมองจิตใจว่าเป็นเครื่องจักรอย่างหนึ่ง ตรงข้ามกับแนวคิดทางชีวิตนิยมที่ให้ความสำคัญเรื่องของชีวิตและจิตรู้สำนึก

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักประสาทวิทยาชื่อดังหลายคน ไม่ว่าจะเป็นดักลาส ฮอฟสตาดเตอร์[1] เจฟฟ์ ฮอว์กินส์ มาร์วิน มินสกี[2] ได้ทำนายว่า คอมพิวเตอร์ที่โปรแกรมมาพิเศษจะฉลาดจนสามารถคิดหรือแม้แต่มีจิตรู้สำนึกได้แบบเดียวกับคน และเครื่องจักรควรจะมีความฉลาดระดับนั้นจึงจะสามารถคัดลอกจิตใจของคนไปสู่เครื่องได้

อ้างอิง แก้

  1. "Tech Luminaries Address Singularity". ieee.org.
  2. Marvin Minsky, Conscious Machines, in 'Machinery of Consciousness', Proceedings, National Research Council of Canada, 75th Anniversary Symposium on Science in Society, June 1991.