กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (อักษรย่อ: พก.) (อังกฤษ: Department of Empowerment of persons with Disabilities) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอนโยบายและจัดทำแผนงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมทั้งดำเนินการด้านการคุ้มครอง[3] การส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการของคนพิการ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคแก่คนพิการ[4] การตรวจสอบการได้รับสิทธิประโยชน์ของคนพิการ การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ การให้คำแนะนำและช่วยเหลือคนพิการให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวก สวัสดิการ และความช่วยเหลืออื่นได้ตามความต้องการจำเป็นพิเศษเฉพาะบุคคล

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ตราพระประชาบดี
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง6 มีนาคม พ.ศ. 2558; 9 ปีก่อน (2558-03-06)[1]
หน่วยงานก่อนหน้า
  • สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ
เขตอำนาจไทย ทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 255 อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • โชคชัย วิเชียรชัยยะ[2], อธิบดี
  • ณฐอร อินทร์ดีศรี, รองอธิบดี
  • พิสิฐ พูลพิพัฒน์, รองอธิบดี
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เว็บไซต์http://www.dep.go.th/

ประวัติ

แก้

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2558 ซึ่งมีการปรับปรุงการจัดโครงสร้างส่วนราชการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ใหม่ โดยรวมงานด้านนโยบาย ด้านวิชาการ และด้านการปฏิบัติ ของกลุ่มเป้าหมายเดียวกันให้อยู่ส่วนราชการเดียวกัน เพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายและทิศทางการปฏิบัติงานของส่วนราชการให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งเป็นการประหยัดทรัพยากรภาครัฐมากยิ่งขึ้น โดยโอนบรรดาภารกิจของสำนักบริการสวัสดิการสังคม (เฉพาะงานเกี่ยวกับคนพิการ) และสถานสงเคราะห์คนพิการและศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และภารกิจของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ไปเป็นอำนาจหน้าที่ของ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ [5]

อำนาจหน้าที่

แก้

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  1. ประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการปฏิบัติงานและการเสนอนโยบาย จัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานเกี่ยวกับการคุ้มครองการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามเป้าหมาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง
  2. ศึกษา วิเคราะห์ สำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการ และสถานการณ์เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนพิการ เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการรวมทั้งจัดทำแผนงาน และติดตามประเมินผล เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
  3. บริหาร จัดการ และพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  4. จัดทำแผนงานการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
  5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง การดำเนินงาน และการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านคนพิการ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิคนพิการ ตลอดจนสนับสนุนและประสานงานให้หน่วยงานของรัฐจัดงบประมาณให้แก่องค์กรด้านคนพิการ เพื่อให้สามารถดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  6. ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพ และพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ
  7. ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้ง การดำเนินงาน และการกำกับดูแลศูนย์บริการคนพิการทุกประเภท
  8. ดำเนินการและส่งเสริมกิจการของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ได้จัดตั้งขึ้นทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น
  9. ตรวจสอบการได้รับสิทธิประโยชน์ของคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีให้แก่คนพิการ
  10. ให้คำแนะนำและช่วยเหลือคนพิการให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวก สวัสดิการ และความช่วยเหลืออื่น ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  11. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย[6]

ส่วนราชการในสังกัด

แก้
  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ
  • กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
  • กองส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการคนพิการ
  • กองคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาคนพิการ
  • กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
  • กลุ่มตรวจสอบภายใน[6]

อ้างอิง

แก้