NK THX

ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย

NK THX เป็นโรงภาพยนตร์ในเครือของบริษัท เอ็นเค เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ในเครือ บริษัท นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริหารโดย นายสุพจน์ พิสิฐวุฒินันท์ มีจุดเด่น คือเป็นโรงภาพยนตร์ที่ฉายในระบบ THX ทั้งหมด

ประวัติ

แก้

หลังจากที่นายวิชัย พูลวรลักษณ์ ได้ประสบความสำเร็จในการเปิดตัวโรงภาพยนตร์ อีจีวี บางแค 10 ในปี พ.ศ. 2537 จึงทำให้มีโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์เกิดขึ้นมากมายในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งระบบเสียงแต่ละที่ก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลย ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะสร้างโรงภาพยนตร์ที่เป็น All THX ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

สาขาต่าง ๆ ของ NK THX

แก้
  • เปิดสาขาแรกในต้นปี พ.ศ. 2539 ที่ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ รัตนาธิเบศร์ นนทบุรี จำนวนทั้งสิ้น 6 โรง ใช้ชื่อว่า "NK6 THX" นับเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกในประเทศไทยที่เป็นโรงภาพยนตร์ในระบบ THX ทั้งหมด[1] (โรงภาพยนตร์แห่งนี้ปิดตัวไปแล้วพร้อมกับห้างสรรพสินค้าในปี พ.ศ. 2547 )
  • วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ได้มีการเปิดอีก 4 โรงที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ท่าพระ ใช้ชื่อว่า "NK THX เดอะมอลล์ ท่าพระ" โดยจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Air Force One และ SPAWN เป็นรอบปฐมทัศน์
  • ศูนย์การค้าแอ๊บบลูม นวนคร ใช้ชื่อว่า "NK Multiplex นวนคร" 5 โรงภาพยนตร์

ปิดกิจการ

แก้

ในปัจจุบันนี้ โรงภาพยนตร์ในประเทศไทยแต่ละแห่งล้วนไม่ได้ใช้ระบบ THX อีกแล้ว เนื่องจากต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เป็นรายปี ซึ่งมีเพียงโรงภาพยนตร์ในเครือ NK THX เพียงเครือเดียว ที่ยังคงเป็นระบบ THX อยู่ [2] [3]

หลังจากที่ NK6 THX ปิดตัวไปในปี พ.ศ. 2547 ในปี พ.ศ. 2549 NK6 THX ก็ได้มีกลับมาอีกครั้งในย่านถนนรัตนาธิเบศร์ แต่ร่วมทุนจดทะเบียนกับ เอสเอฟ ซีเนมา ซิตี้ เป็นโรงภาพยนตร์ร่วมใช้ชื่อว่า "SF Cinema City NK" ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า รัตนาธิเบศร์ มีทั้งหมด 7 โรง ซึ่งเดิมทีนั้น NK THX ได้เซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เอาไว้ก่อนนานแล้ว และได้วางแผนจะเปิดสาขาใหม่ของตนที่นี้ แต่ตอนหลัง SF Cinema ได้ติดต่อขอร่วมหุ้นด้วย โดยชุดลำโพงและจอภาพยนตร์บางส่วนจากที่นิวเวิลด์ รัตนาธิเบศร์ ได้ถูกนำมาติดตั้งที่นี้ ทำให้ที่นี่ กลายเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีคุณภาพอีกแห่งหนึ่ง ภายใต้การบริหารโดยเครือเอสเอฟซีนีม่า และนอกจากนั้น ยังได้ยกเก้าอี้ชมภาพยนตร์และระบบต่าง ๆ ไปติดตั้งยังโรงภาพยนตร์นครนนท์รามา ซึ่งอยู่ในเครือนครหลวง ต้นสังกัดของ NK เช่นกันแทน

ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2550 NK THX เดอะมอลล์ ท่าพระ ก็ได้ปิดตัวไปอีกแห่ง และได้ทำการปรับปรุงและต่อเติมกลายเป็นโรงภาพยนตร์ SF Cinema City The Mall Thaphra 8 โรงภาพยนตร์ แทน[4]

ต่อมากิจการของ NK THX เหลือเพียงสาขาเดียวคือที่ นวนคร แต่ก็มีสภาพกิจการที่ซบเซามาก ต้องลดจำนวนโรงภาพยนตร์จากเดิมลงจาก 5 โรงเป็น 3 โรง และประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ก็ได้ผันตัวเองจากโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ไปดำเนินกิจการรูปแบบโรงภาพยนตร์ชั้น 2 โดยเปิดโรง 1 และ 3 ฉายวนทั้งวัน 3 เรื่อง ในราคา 50 บาท และปลายปี พ.ศ. 2551 เมื่อเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้เปิดสาขาของตนเองในห้างบิ๊กซี และโลตัส รวมทั้งสิ้น 7 โรง ซึ่งอยู่บริเวณปากทางเข้า นวนคร ทำให้โรงภาพยนตร์ NK นวนคร ได้ปิดกิจการและรื้อถอนจนถูกทุบทิ้งไปในที่สุด

อ้างอิง

แก้
  1. รายการตามไปดู ทางช่อง 9 พ.ศ. 2539
  2. "ขอแนะนำโรงหนังที่มีระบบเสียงดีดีต้องที่นี่ครับ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-29. สืบค้นเมื่อ 2007-12-26.
  3. โรง THX ในเมืองไทยยังมีอยู่
  4. "เครื่องเสียงในโรงภาพยนตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-17. สืบค้นเมื่อ 2007-12-26.