เอลนีโญ

(เปลี่ยนทางจาก El Niño)

เอลนีโญ (สเปน: El Niño) เป็นรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกห้าปี ลักษณะของเอลนีโญ คือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า เอลนีโญและลานีญาตามลำดับ และความดันบรรยากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเขตร้อน ซึ่งเรียกว่า ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นได้สองกรณี: เอลนีโญ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศสูงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก ส่วนลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลงผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก[1][2] กลไกที่ทำให้เกิดความผันแปรดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย

สภาวะปกติ
ปรากฏการณ์เอลนีโญ

เอลนีโญก่อให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย อย่างเช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หรือการรบกวนสภาพอากาศในหลายภูมิภาคของโลก ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีเศรษฐกิจเน้นเกษตรกรรมและการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนใหญ่แล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ มักถูกเรียกย่อเหลือเพียง "เอลนีโญ" ซึ่งเป็นคำในภาษาสเปน ซึ่งแปลว่า "เด็กชาย" และหมายความถึงบุตรพระคริสต์ เนื่องจากมีการสังเกตว่าความอุ่นขึ้นผิดปกตินี้มักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาส[3] ลักษณะที่เกิดจากเอลนีโญเป็นไปได้ว่าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเป็นผลกระทบของปรากฏการณ์โลกร้อน และเป็นเป้าหมายสำหรับการวิจัยในการนี้

สภาวะปกติ แก้

ไฟล์:Normal cond.jpg
สภาวะปกติ

โดยปกติ บริเวณเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ลมสินค้าตะวันออก (Eastery trade winds) จะพัดจากประเทศเปรู (ชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้) ไปทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วยกตัวขึ้นบริเวณเหนือประเทศอินโดนีเซีย ทำให้มีฝนตกมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ กระแสลมสินค้าพัดให้กระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกไปกองรวมกันทางตะวันตก จนมีระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเลปกติประมาณ 60 – 70 เซนติเมตร แล้วจมตัวลง กระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรซีกเบื้องล่างเข้ามาแทนที่กระแสน้ำอุ่นพื้นผิวซีกตะวันออก นำพาธาตุอาหารจากก้นมหาสมุทรขึ้นมา ทำให้ปลาชุกชุม เป็นประโยชน์ต่อนกทะเลและการทำประมงชายฝั่งของประเทศเปรู

ปรากฏการณ์เอลนีโญ แก้

เมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ กระแสลมสินค้าตะวันออกอ่อนกำลังลง กระแสลมพื้นผิวเปลี่ยนทิศทาง พัดจากประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียตอนเหนือไปทางตะวันออก แล้วยกตัวขึ้นเหนือชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ก่อให้เกิดฝนตกหนักและแผ่นดินถล่มในประเทศเปรูและเอกวาดอร์ กระแสลมพัดกระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกไปกองรวมกันบริเวณชายฝั่งประเทศเปรู ทำให้กระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาได้ ส่งผลกระทบให้บริเวณชายฝั่งขาดธาตุอาหารสำหรับปลาและนกทะเล ชาวประมงจึงขาดรายได้

ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และก่อให้เกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนเหนือของออสเตรเลีย

อ้างอิง แก้

  1. Climate Prediction Center (2005-12-19). "Frequently Asked Questions about El Niño and La Niña". National Centers for Environmental Prediction. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-27. สืบค้นเมื่อ 2009-07-17.
  2. K.E. Trenberth, P.D. Jones, P. Ambenje, R. Bojariu , D. Easterling, A. Klein Tank, D. Parker, F. Rahimzadeh, J.A. Renwick, M. Rusticucci, B. Soden and P. Zhai. "Observations: Surface and Atmospheric Climate Change". Climate Change 2007: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group I to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Cambridge,UK: Cambridge University Press. pp. 235–336. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-24. สืบค้นเมื่อ 2011-01-24. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  3. "El Niño Information". California Department of Fish and Game, Marine Region. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-27. สืบค้นเมื่อ 2011-01-24.