พริกชี้ฟ้า

(เปลี่ยนทางจาก Capsicum annuum)

พริกชี้ฟ้า ( ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum L. var. acuminatum Fingerh ) เป็นพืชวงศ์ Solanaceae เป็นพริกอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมในการนำมาประกอบเมนูอาหารแทบทุกเมนู โดยให้รสชาติเผ็ดร้อนแบบกำลังดี ไม่เผ็ดมากจนเกินไปเมื่อเทียบกับพริกขี้หนู พริกชนิดนี้เป็นพืชที่ปลูกและเจริญเติบโตได้ง่าย มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ แต่ได้มีการนำมาปลูกกันทั่วโลกในปัจจุบัน และเนื่องจากมีสรรคุณทางยามากมาย จึงสามารถนำมาใช้บำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี[1]

พริกชี้ฟ้า

ชื่ออื่น ๆ

แก้
  • ชื่ออังกฤษ: spur chilli, spur chili pepper, spur pepper, long red pepper
  • ชื่อพื้นเมือง: พริกเดือยไก่, พริกหนุ่ม,พริกหลวง (ภาคเหนือ) พริกมัน พริกเหลือง (กรุงเทพฯ) พริกแจ้ว (เชียงใหม่)[2]

ลักษณะ[3]

แก้

ต้นพริกชี้ฟ้า จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 1-3 ปี มีความสูงได้ประมาณ 0.3-1.2 เมตร ลำต้นเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านหนาแน่นเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ปลูกกลางแจ้งจะดีเพราะน้ำไม่ท่วม เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี หรือปลูกบนดินรังปลวกก็จะมีอายุอยู่ได้นาน พบได้ทุกภาคในประเทศไทย แต่พบได้มากทางภาคเหนือและกรุงเทพฯ

ใบพริกชี้ฟ้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหรือออกตรงข้ามกัน บางพันธุ์ก็ออกเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจเรียว รูปวงรี รูปใบหอก หรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบนิ่ม หลังใบและท้องใบเรียบ

ดอกพริกชี้ฟ้า ออกดอกเป็นช่อหรือออกดอกเดี่ยวชี้ขึ้น โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายตัดหรือเป็นหยัก 5 หยัก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

ผลพริกชี้ฟ้า ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมยาว ปลายผลแหลม ผลอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มและสีแดง ผิวผลเป็นมัน ปลายผลชี้ตั้งขึ้น ผลมีรสเผ็ดร้อนพอประมาณ ส่วนเมล็ดมีลักษณะแบนเรียบ สีเหลืองหรือสีขาวนวล และมีจำนวนมาก สามารถติดผลได้ตลอดปี

ถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์[4]

แก้

พริกเป็นที่รู้จักนอกทวีปอเมริกาโดยคริสโตเฟอร์โคลัมบัส โดยนำไปจากแคริบเบียนจากการเดินเรือพบทวีปใหม่ครั้งแรกในปี 1492 Diego Álvarez Chanca แพทย์ซึ่งร่วมเดินทางร่วมกับโคลัมบัสในครั้งที่สองในปี 1493 เป็นผู้นำพริกชนิดแรกมาปลูกที่สเปน โดยการปลูกครั้งแรกๆนั้นเป็นการปลูกในพื้นที่สวนของโบสถ์ต่างๆทั้งในสเปนและโปรตุเกส รวมทั้งกระจายไปปลูกในหมู่ชนชั้นสูง ส่วนใหญ่ปลูกเป็นไม้ประดับและเป็นยาสมุนไพร

นักประวัติศาสตร์อาหารพบว่า กว่าพริกแพร่กระจายในยุโรปและถูกนำไปใช้เป็นอาหารอย่างแพร่หลายนั้นกินเวลานานหลังจากที่ปลูกเป็นครั้งแรกแล้ว โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากอาณาจักรออตโตมันเข้าครอบครองฮังการี พริกจึงแพร่หลายไปในยุโรปตะวันออก เมื่อผสมผสานกับการค้าระหว่างพ่อค้าชาวมุสลิม และชาวเตอร์ก ซึ่งเชื่อมโยงการค้าเครื่องเทศจากอินเดีย พริกจึงค่อยย้อนเข้าไปได้รับความนิยมในยุโรปตะวันตก เช่น การแพร่หลายของพริกในการทำอาหารเกิดขึ้นในอิตาลีประมาณปี 1526 อังกฤษในปี 1528 และเยอรมนีในปี 1542 ตัวอย่างเช่น ชื่อเรียกของพริกในเยอรมนีนั้น มีการเรียกชื่อในตอนแรกว่าเป็น “Turkish pepper” “Calicut pepper” และ “Indian pepper” เป็นต้น

พริกถูกนำเข้าสู่ทวีปเอเชียโดยชาวโปรตุเกสในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 – 16 ผ่านเส้นทางการค้า และต่อมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย

แต่ไม่มีหลักฐานที่ระบุโดยตรงว่าพริกเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อใด แต่คาดการณ์ว่าพริกน่าจะเข้ามาสู่สยามหลังสมัยพระเจ้ารามาธิบดีที่ 2 ซึ่งโปรตุเกสส่งฑูตจากมะละกามาเข้าเฝ้าในปี 1511 โดยในช่วงที่มีความสัมพันธ์ทางค้าอันดีระหว่างปี 1516-1538 นั้น มีชาวโปรตุเกสมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เฉพาะที่อยุธยา บันทึกของ Fernando Mendes Pinto ระบุว่ามีชุมชนชาวโปรตุเกสมาตั้งถิ่นฐานมากถึง 300 คน จึงเชื่อว่าการปลูกพริกและวัฒนธรรมอาหารเกี่ยวกับพริกสยามได้เริ่มต้นมาตั้งแต่นั้น

พริกชี้ฟ้า (Capsicum annuum var. annuum) มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมใน ทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ของประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพืชในสกุล Capsicum หลายชนิด ปัจจุบัน พริกชี้ฟ้าสามารถปลูกได้ทั่วโลกในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งร้อน โดยเฉพาะในประเทศที่มีการบริโภคพริกเป็นจำนวนมาก เช่น ไทย จีน อินเดีย เวียดนาม เม็กซิโก และเกาหลีใต้

การปลูก

แก้

มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุยืน 1-3 ปี ในประเทศไทยมีการนำเข้าและเพาะปลูกกันมานานแล้ว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำดีหรือปลูกบนดินรังปลวกก็จะมีอายุอยู่ได้นาน พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย มีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุในร่างกาย ลดความดันโลหิต เพราะทำให้เลือดอ่อนตัว และทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี ช่วยเร่งการย่อยสลาย ขับเหงื่อ และช่วยลดน้ำหนักได้ดี ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะ ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้พริกชี้ฟ้ามีรสชาติที่เผ็ดร้อนน้อยกว่าพริกขี้หนูมาก[5]

คุณค่าทางโภชนาการของพริกชี้ฟ้า[3]

แก้
  • พริกชี้ฟ้าเขียว 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 129 แคลอรี, น้ำ 63.8%, โปรตีน 1.5 กรัม, ไขมัน 0.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 29.8 กรัม, ใยอาหาร 2.2 กรัม, เถ้า 2.2 กรัม, วิตามินเอ 1,917 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.07 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.1 มิลลิกรัม, วิตามินซี 204 มิลลิกรัม, แคลเซียม 103 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.5 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม[3]
  • พริกชี้ฟ้าแดง 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 58 แคลอรี, น้ำ 84%, โปรตีน 2.8 กรัม, ไขมัน 2.3 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 6.6 กรัม, ใยอาหาร 3.5 กรัม, เถ้า 0.8 กรัม, วิตามินเอ 10,000 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.16 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.24 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 3.5 มิลลิกรัม, วิตามินซี 168 มิลลิกรัม, แคลเซียม 3 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม

สรรพคุณของพริกชี้ฟ้า[3]

แก้

สรรพคุณจากผล ช่วยทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุในร่างกาย  ช่วยระบบหายใจ หัวใจ และความดัน (จากสารแคปไซซิน) ลดความดันโลหิตได้ เพราะทำให้เลือดอ่อนตัว และทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี ช่วยเร่งการย่อยสลาย ขับเหงื่อ และช่วยลดน้ำหนักได้ดี ช่วยลดอาการหวัดคัดจมูก ช่วยแก้อาเจียนช่วยขับเสมหะ ช่วยทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุในร่างกาย ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยแก้ลมจุกเสียด แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อ เรอเปรี้ยว แก้แน่น ลดกรดในกระเพาะ ช่วยขับผายลม ช่วยแก้หิด กลาก เกลื้อน ช่วยยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้ ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้อาการปวดตามข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดตามบั้นเอว ฟกช้ำดำเขียว ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยแก้ตะคริว

สรรพคุณจากเมล็ด ช่วยแก้กระษัย แก้ลมจุกเสียด แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อ เรอเปรี้ยว แก้แน่น ลดกรดในกระเพาะ ช่วยขับผายลม และช่วยในการย่อยอาหาร เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้อาการปวดตามข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดตามบั้นเอว ฟกช้ำดำเขียว ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยแก้ตะคริว ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณช่วยแก้เส้นเอ็นพิการได้เช่นกัน

สรรพคุณจากใบ สามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น แก้ลมจุกเสียด แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อ เรอเปรี้ยว แก้แน่น ลดกรดในกระเพาะ ช่วยขับผายลม และช่วยในการย่อยอาหาร

สรรพคุณจากต้น  ต้นนำมาเผาให้เป็นถ่าน มีสรรพคุณใช้ขับปัสสาวะ และ ใช้เป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อย

ประโยชน์ของพริกชี้ฟ้า[1]

แก้

1. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ในพริกชี้ฟ้ามีวิตามินเอและวิตามินซีสูง ซึ่งวิตามินทั้ง 2 ชนิด เป็นสารอาหารที่จะช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยในการป้องกันไข้หวัดได้เป็นอย่างดี ในพริกชี้ฟ้ายังมีสารเบต้าแคโรทีนรวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระ จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น

2. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด จากการศึกษาพบว่า สารแคปไซซินที่อยู่ในพริกชี้ฟ้าจะช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส ซึ่งได้มีการทดลองกับกลุ่มผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 10 คน โดยให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม หลังจากนั้นจึงทำการเจาะเลือดเก็บข้อมูล ก่อนดื่มและหลังดื่ม 15 นาที กระทั่งเวลา 30 นาที และ 60 นาที ในวันต่อมา ก็ให้กลุ่มอาสาสมัครดื่มน้ำตาลกลูโคสเหมือนเดิม แต่ให้เพิ่มการทานพริกเข้าไป ซึ่งพบว่าระดับน้ำตาลในวันที่มีการทานพริกชี้ฟ้าเข้าไปด้วย มีระดับต่ำกว่าวันที่ไม่ทานพริกชี้ฟ้าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงสรุปได้ว่า การทานพริกชี้ฟ้า มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

3. ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ระบบการไหลเวียนเลือดจะทำงานดีขึ้น หากทานพริกเป็นประจำ เนื่องจากสารแคปไซซิน จะช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือด ส่งผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำหน้าที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดี ในพริกยังมีสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอสูง ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ผนังหลอดเลือดยืดหยุ่น ส่งเสริมการสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง จึงช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดหลอดเลือดอุดตันได้

4.ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ได้มีการทดลองให้ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง ทานพริกชี้ฟ้าวันละ 5 กรัม และให้ทานอาหารตามปกติในระยะเวลา 4 สัปดาห์ แล้วจึงนำผลมาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ทานพริกชี้ฟ้า จากการทดลองพบว่า ผู้ป่วยที่ทานพริกชี้ฟ้า จะมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีคงที่ แต่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ทานพริกชี้ฟ้าเลย จะมีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดสูงขึ้น ดังนั้นการทานพริกชี้ฟ้าจึงช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลที่ดี โดยที่ยังคงสามารถช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีให้คงที่ สารแคปไซซินที่อยู่ในพริกชี้ฟ้า ยังสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ทำให้มีระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ต่ำลงอีกด้วย

5. ป้องกันโรคโลหิตจาง โรคโลหิตจาง มีสาเหตุหลักเกิดจากการขาดธาตุเหล็กในร่างกาย เพราะธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในการสร้างเม็ดเลือด โดยจะช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงรวมทั้งฮีโมโกลบินให้มีปริมาณมากขึ้น ในพริกชี้ฟ้ามีธาตุเหล็กอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีทองแดง ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในพริกชี้ฟ้ายังมีกรดโฟลิกที่จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรง นอกจากนี้ พริกชี้ฟ้ายังช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้ด้วย

6. ป้องกันโรคมะเร็ง วิตามินซีที่อยู่ในพริกชี้ฟ้า มีส่วนช่วยป้องกันการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร มีส่วนช่วยสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติหยุดยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นวิตามินซีที่มีอยู่มากในพริก จึงช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ดี นอกจากนี้ ในพริกยังเต็มไปด้วยสารเบต้าแคโรทีน เรารู้จักกันดีว่าสารเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่จะช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของเซลล์ ช่วยทำลายมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งช่องปาก

7. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ เพียงแค่ทานพริกชี้ฟ้าอย่างเป็นประจำ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจได้แล้ว พริกชี้ฟ้ามีคุณสมบัติช่วยลดการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด มีส่วนช่วยละลายลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่จับตัวกันเป็นก้อน จนทำให้หลอดเลือดอุดตัน การทานพริกชี้ฟ้ายังคงช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ให้ต่ำลง และทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง

การใช้พริกชี้ฟ้าเพื่อสุขภาพ[1]

แก้

พริกชี้ฟ้าได้มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรบำบัดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้อย่างมากมาย โดยจะช่วยแก้อาการปวดเมื่อย บรรเทาอาการปวดหัว แก้พิษแมลงต่าง และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เรามาดูวิธีการใช้พริกชี้ฟ้าเพื่อสุขภาพกันเลย

1.รักษาอาการปวดเอว นำผงพริกชี้ฟ้า วาสลีนและแป้งหมี่ เติมเหล้าเหลืองลงไป แล้วคนให้เข้ากันจนกลายเป็นเนื้อครีม เสร็จแล้วนำมาทาลงบนกระดาษแก้ว เอามาปิดไว้บริเวณที่ปวด แล้วใช้พลาสเตอร์ปิดรอบ ๆ จะทำให้เหงื่อออก ทำให้เคลื่อนไหวคล่องขึ้น อาการปวดจะบรรเทาลง เนื่องจากบริเวณที่พอกจะมีความรู้สึกร้อน ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

2.แก้ส้นเท้าแตก ให้นำพริกชี้ฟ้าทั้งต้นมาผสมกับปูนขาว ในปริมาณที่พอเหมาะ จากนั้นนำมาต้ม เอาน้ำที่ได้ มาแช่เท้าที่แตกลงไป ถ้าไม่หายให้นำต้นสลัดไดและรากหนอนตายหยาบใส่ลงไปด้วยทั้งต้น

3.ใช้แก้พิษแมลง ให้นำพริกชี้ฟ้าแห้งมาตำให้ละเอียดละลายกับน้ำมะนาว แล้วนำมาทาบริเวณที่ถูกแมลงกัด จะทำให้อาการปวดหายไปได้อย่างรวดเร็ว

4.แก้อาการปวดศีรษะ ให้นำใบพริกชี้ฟ้าสด มาตำกับดินสอพอง แล้วนำมาปิดบริเวณขมับ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะอันเนื่องมาจากไข้หวัด

ประเทศผู้ผลิตหลักในปัจจุบัน[6]

แก้

ในปัจจุบัน ประเทศผู้ผลิตพริกชี้ฟ้าหลักของโลก ได้แก่ จีน อินเดีย เม็กซิโก อินโดนีเซีย และไทย

1.     จีน: เป็นผู้ผลิตพริกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2022 ผลิตพริกได้ถึง 16.8 ล้านตัน ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1.3 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 35% ของพื้นที่เพาะปลูกพริกทั่วโลก

2.     อินเดีย: เป็นผู้ผลิตพริกแห้งรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะในรัฐอานธรประเทศและรัฐเตลังกานา

3.     เม็กซิโก: มีการผลิตพริกเขียวอย่างมาก โดยรัฐซีนาโลอา ชิวาวา และซากาเตกัส เป็นผู้ผลิตหลัก คิดเป็น 59.7% ของปริมาณการผลิตพริกเขียวของประเทศ

4.     อินโดนีเซีย: เป็นหนึ่งในผู้ผลิตพริกหลักของโลก โดยมีการปลูกพริกหลากหลายสายพันธุ์เพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก

5.     ไทย: เป็นผู้ผลิตพริกอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะพริกชี้ฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในอาหารไทยและมีการส่งออกไปยังหลายประเทศ

ข้อควรระวัง[1]

แก้

การกินพริกชี้ฟ้า มีข้อควรระวังเช่นกัน เนื่องจากพริกก็ทำให้เกิดสิวได้ เพราะมีคุณสมบัติขับของเสียออกจากร่างกาย ของเสียจะถูกขับออกมาทางผิวหนังในรูปแบบเหงื่อ หากเราทำความสะอาดผิวไม่ดีเพียงพอ อาจก่อให้เกิดการอุดตันและทำให้ผิวเกิดการอักเสบหรือเป็นสิวขึ้นได้ง่ายนั่นเอง สำหรับผู้ที่ไม่เคยทานเผ็ด ให้ระวังความเผ็ดของพริกที่มากกว่าปกติ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ไม่ควรทานพริก เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น พริกชี้ฟ้าเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายด้าน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง มีวิตามินซีสูง เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากการถูกทำลาย นอกจากนี้ พริกชี้ฟ้ายังช่วยเพิ่มรสชาติในอาหาร ช่วยทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "ประโยชน์ของพริกชี้ฟ้า ไอเดียการกินการใช้พริกชี้ฟ้าเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง | HD สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่". HonestDocs. สืบค้นเมื่อ 2025-04-16.
  2. "พืชเครื่องเทศ". www.rspg.or.th. สืบค้นเมื่อ 2025-04-19.
  3. 3.0 3.1 3.2 "ศูนย์ฯ เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนวัชรวิทยา - พริกชี้ฟ้า". sufficiency.wr.ac.th. สืบค้นเมื่อ 2025-04-19.
  4. ไบโอไทย, ฝ่ายข้อมูล (2023-01-03). "พริก แหล่งกำเนิดและการแพร่พันธุ์ - BioThai". BioThai - มูลนิธิชีววิถี-ไบโอไทย. สืบค้นเมื่อ 2025-04-19.
  5. หน้า 24 เกษตร, พริกชี้ฟ้า. "เรื่องน่ารู้". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,764: วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย
  6. "The 10 World's Largest Country Producers of Chilli". The Science Agriculture (ภาษาอินโดนีเซีย). สืบค้นเมื่อ 2025-04-19.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้