ไวยากรณ์ภาษาทมิฬ

ภาษาทมิฬเป็นภาษารูปคำติคต่อ ประกอบด้วยรากศัพท์และหน่วยคำเติมเข้ามาตั้งแต่หนึ่งหน่วยหรือมากกว่า หน่วยคำเติมส่วนมากเป็นปัจจัย มีทั้งปัจจัยแปลงคำซึ่งเปลี่ยนรูปแบบของคำและความหมาย กับปัจจัยผันคำ ซึ่งเป็นการบ่งบอกจำนวน บุคคล รูปแบบของกริยา กาล เป็นต้น ไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัวสำหรับความยาวหรือจำนวนของปัจจัยที่เติมทำให้สามารถสร้างคำขนาดยาวที่มีปัจจัยมากมายที่อาจแทนได้ด้วยคำหลายคำหรือเป็นประโยคในภาษาอังกฤษ

ตำราไวยากรณ์ แก้

ตำราไวยากรณ์ของภาษาทมิฬแบ่งเป็น 5 ส่วน ดังนี้

ชื่อภาษาทมิฬ ความหมาย เล่มหลัก
eḻuttu อักษร Tolkāppiyam, Nannūl
col คำ Tolkāppiyam, Nannūl
porul ความหมาย Tolkāppiyam
yāppu รูปแบบ Yāpparuṅkalakkārikai
aṇi วิธีการ Tanṭiyalaṅkāram

คำนาม แก้

คำนามและสรรพนามในภาษาทมิฬแบ่งเป็นระดับสูงสองระดับคือ นามคิดได้ (uyartinai) กับนามคิดไม่ได้ (akrinai) มนุษย์และเทพเจ้า จัดเป็นนามคิดได้ นามอื่น ๆ ได้แก่ สัตว์ สิ่งของ จัดเป็นนามคิดไม่ได้ ทั้งสองระดับนี้แบ่งได้อีกเป็นห้าระดับตามเพศ นามคิดได้ แบ่งเป็นสามระดับคือ เอกบุรุษ เอกสตรี และพหูพจน์ รูปพหูพจน์ของนามชนิดนี้อาจใช้เป็นรูปเอกพจน์ ไม่ปรากฏเพศเพื่อแสดงความนับถือได้ ส่วนนามคิดไม่ได้ มีสองระดับคือเอกพจน์ และพหูพจน์ การแสดงระดับนี้มักแสดงด้วยปัจจัย ตัวอย่างเช่น การผันศัพท์ภาษาทมิฬที่แปลว่าผู้ทำ

นามคิดได้ เอกบุรุษ นามคิดได้ เอกสตรี นามคิดได้ พหูพจน์ นามคิดไม่ได้ เอกพจน์ นามคิดไม่ได้ พหูพจน์
ceytavaṉ ceytaval ceytavar ceytatu ceytavai
เขาผู้ทำ เธอผู้ทำ พวกเขาผู้ทำ มันผู้ทำ พวกมันผู้ทำ

ปัจจัยใช้เป็นตัวบ่งชี้การกและปรบท ไวยากรณ์แบ่งเป็น 8 การกตามแบบภาษาสันสกฤต ได้แก่ การกประธาน กรรมตรง กรรมรอง ความเกี่ยวข้อง แสดงความเป็นเจ้าของ เครื่องมือ สถานที่ และแหล่งที่มา คำนามที่มาจากการเรียงคำแบบรูปคำติดต่อจะแปลได้ยาก ตัวอย่างเช่นศัพท์ภาษาทมิฬ poKamutiyatavarkalukkaKa หมายถึง “สำหรับจุดมุ่งหมายของเขาเหล่านั้นผู้ไม่สามารถไปได้” ซึ่งประกอบด้วยหน่วยคำดังนี้

poKa (ไป) - muti (ความสำเร็จ) – y- ata (ปฏิเสธ) - var (รูปประธาน) – kal (พหูพจน์) – ukku (ที่) - aKa (ชนิดของคำ)

คำนามภาษาทมิฬอาจเติมคำอุปสรรค i a u และ e ซึ่งมีการทำงานใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น vali หมายถึงทาง อาจเติมคำอุปสรรคเป็น ivvali = ทางนี้ avvali = ทางนั้น uvvali = ระหว่างทาง และ evvali = ทางนี้ นามบางคำสร้างโดยการเรียงติดต่อรูปคำ ตัวอย่างเช่น เขา-ผู้แต่ง-กริยาช่วย หรือ นั่น-สิ่งซึ่ง-จะ-มา นามเหล่านี้เรียกว่านามอนุภาค นามประกอบสร้างโดยการเชื่อมต่อคำคุณศัพท์และคำนามเช่นเชื่อมคำว่าดี และ เขา เป็น ดี-เขา หมายถึง คนดี ส่วน ดี-พวกเขา หมายถึงประชาชนที่ดี นามกริยาในภาษาทมิฬสร้างจากรากศัพท์ของคำกริยา เทียบเท่ากับคำที่เติม –ing ในภาษาอังกฤษ

คำกริยา แก้

คำกริยาสร้างด้วยการเติมปัจจัยได้เช่นเดียวกับคำนาม ซึ่งจะแสดงบุคคล จำนวน รูปแบบ กาล และการกระทำ ตัวอย่างเช่น alintukkontironten = (ฉัน) กำลังถูกทำลาย

ali (รากศัพท์ = ทำลาย) – intu (อดีต-ถูกกระทำ) – kontu (กาล-ระหว่าง) – ironta (อดีต-กำลังกระทำ) – en (บุรุษที่ 1-เอกพจน์)

บุคคลและจำนวนแสดงโดยการเติมปัจจัยของการกกรรมตรงที่สรพนามที่เกี่ยวข้อง (en ในตัวอย่างข้างต้น) ปัจจัยที่ชี้บ่งกาลและการกระทำเติมที่รากศัพท์ การกระทำในภาษาทมิฬมีสองแบบคือประธานถูกกระทำโดยกรรม หรือประธานแสดงการกระทำต่อกรรม กาลในภาษาทมิฬมีสามแบบ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งจะบ่งชี้ด้วยปัจจัยธรรมดาหรือสัมบูรณ์ซึ่งเป็นปัจจัยประกอบ

องค์ประกอบอื่น แก้

ภาษาทมิฬไม่มีคำนำหน้านาม มีการแยกสรพนามรวมและไม่รวมผู้ฟังสำหรับบุรุษที่ 1 พหูพจน์ ไม่มีการแบ่งระหว่างคำคุณศัพท์กับกริยาวิเศษณ์ เรียกว่า criccol เหมือนกัน คำสันธานเรียกว่า itaiccol

โครงสร้างประโยค แก้

นอกจากในบทกวี การเรียงคำในประโยคเป็นแบบประธาน-กรรม-กริยา ประโยคไม่จำเป็นต้องมีครบทั้งสามส่วน เป็นไปได้ที่จะมีประโยคที่มีแต่กริยา เช่น atu en uitu = คือบ้านของฉัน ไม่มีคำที่มีความหมายตรงกับ verb to be ในภาษาอังกฤษ

อ้างอิง แก้

  • A. H. Arden, A progressive grammar of the Tamil language, 5th edition, 1942.