ไมตรี ลิมปิชาติ

ไมตรี ลิมปิชาติ เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๓ ด้วยการเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้น ผลงานการเขียนของไมตรี ลิมปิชาติ ได้รับการกล่าวถึงทั้งจากผู้อ่านและนักวิจารณ์วรรณกรรมอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๖ เมื่อ ไมตรี ลิมปิชาติ ได้มีผลงานรวมเล่มเรื่องสั้น เล่มแรก “ทางออกที่ถูกปิด” นักวิจารณ์วรรณกรรมได้พูดถึง เรื่องสั้น ของ ไมตรี ลิมปิชาติ ว่าเป็นงานเขียนที่มีการจบแบบ “หักมุม” ที่ผู้อ่านนึกไม่ถึง ทำให้ได้อารมณ์ในการอ่านอีกรูปแบบหนึ่ง และมีคุณค่าแทรกอยู่ทุกเรื่อง ไมตรี ลิมปิชาติ มีผลงานการเขียนเรื่องสั้นกว่า ๓๐๐ เรื่อง โดยบุคลิกที่แท้จริง ไมตรี ลิมปิชาติ เป็นคนอารมณ์ดี การเขียนหนังสือของเขาจึงมีสำนวนที่อ่านง่าย ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน ผู้อ่านที่นิยมงานเขียนของเขา มักจะพูดว่าอ่านงานเขียนของ ไมตรี ลิมปิชาติ แล้วไม่เครียด ได้สาระ และมักจะได้ยิ้มในตอนจบเสมอ โดยเฉพาะการเขียนบทความในคอลัมน์ต่างๆ จนนักวิจารณ์ วรรณกรรมบางท่านกล่าวว่า ไมตรี ลิมปิชาติ เป็นนักเขียนอารมณ์ดี ไมตรี ลิมปิชาติ ใช้ภาษาในการเขียนบทความที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย การเดินเรื่องคล้ายเรื่องสั้น ซึ่งอาจเรียกผลงานเขียนบทความเชิงหรรษาลักษณะนี้ว่าเป็นหัสคดีก็ได้ สำหรับการเขียนเรื่องท่องเที่ยว ไมตรี ลิมปิชาติ ใช้วิธีเขียนแบบบันทึก เล่าประสบการณ์ในการเที่ยวไปเรื่อยๆ ใช้ภาษาง่ายๆ เห็นอะไร คิดอย่างไร ก็เขียนอย่างนั้น ทำให้ผู้อ่านได้จินตนาการตามไปด้วย เหมือนได้ไปร่วมเที่ยวกับ ไมตรี ลิมปิชาติ ด้วยความสนุก ซึ่งมีผลให้ไมตรี ลิมปิชาติ กลายเป็นคอลัมนิสต์ด้านการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิญให้ ไมตรี ลิมปิชาติร่วมท่องเที่ยวในเส้นทางใหม่ๆ โดยคาดหวังว่า ไมตรี ลิมปิชาติ จะได้นำข้อมูลมาเขียนเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ไปท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็จะประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ ไมตรี ลิมปิชาติ มีผลงานการเขียนนวนิยายกว่ายี่สิบเรื่อง ที่เป็นที่รู้จักและเคยได้รับรางวัล เช่น ความรักของคุณฉุย ดอกเตอร์ครก กว่าจะเป็นแชมป์ ยอดหญิงนักตบ ฯลฯ การดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร หรือสถานที่ เป็นสิ่งที่สัมผัสได้จึงทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนุกและยอมรับได้กับเรื่องราวของตัวละครและสาระของนวนิยายเรื่องนั้นๆ ที่ให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะแก่เยาวชน นอกจากนี้ ไมตรี ลิมปิชาติ ยังได้เขียนหนังสือประกอบภาพสำหรับเด็ก ไว้อีกหลายเรื่อง ทุกเรื่องได้ให้แนวคิดด้านจริยธรรม ที่เด็กไทยควรได้รับการปลูกฝัง เช่น ความเชื่อถือ จากเรื่อง ฉันคือต้นไม้ การสอนให้เด็กรักความสะอาด มีวินัย ในเรื่องรับไม่อั้น การไม่รังแกสัตว์ในเรื่องคุณปู่กับแมงมุม ความซื่อสัตย์ จากเรื่องหินศักดิ์สิทธิ์ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากเรื่องพลายงามเข้ากรุง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้