โมร์เฆแซแฮร์ (เปอร์เซีย: مرغ سحر หรือ รูปอักษรโรมัน Morgh-e Sahar, แปลว่า "นกยามอรุณ" หรือ "นกเวลาเช้า"[1]) เป็นเพลง แทสนีฟ ที่นิยมขับร้องในการประท้วงต่อต้านความอยุติธรรม ระบอบเผด็จการ และทรราชย์ในประเทศอิหร่าน[1][2][3] และมักได้รับยกให้เป็น "เพลงสรรเสริญ" การต่อสู้เพื่ออิสรภาพในอิหร่าน[3][4][5] เพลงนี้ประพันธ์เนื้อร้องโดยโมแฮมแมดแทฆี แบฮอร์ และประพันธ์ดนตรีโดยโมร์เทซอ เนอีดอวูด ในศตวรรษที่ 20 ตอนต้น ร่วมสมัยกับการปฏิวัติรัฐธรรมนูญอิหร่าน[2] เนื้อเพลงใช้กลวิธีอุปลักษณ์โดยกล่าวถึงนกแห่งช่วงเวลารุ่งอรุณที่กำลังเศร้าหมอง ต่อมาในเนื้อเพลงจึงเรียกร้องให้นกที่ถูกขังในกรงนี้ส่งเสียงร้องและบินหนีออกไป[6] เป็นสัญลักษณ์แทนการสิ้นสุดช่วงเวลาแห่งการกดขี่ (ยามกลางคืน) และไปสู่ช่วงเวลาแห่งการปลดแอก (ยามเช้า)[7]

โมร์เฆแซแฮร์ มักได้รับการยกให้เป็นเพลง "เอกลักษณ์" ของโมแฮมแมดเรซอ แชแจรียอน (ภาพถ่ายปี 2007)

เนื้อเพลงบทแรกได้รับการบรรยายไว้ว่ามีความไพเราะในเชิงถ้อยคำมากกว่า ในขณะที่บทที่สองได้รับการบรรยายไว้ว่า "เกี่ยวกับปัญหาสังคมและการเมือง" เนื้อเพลงบทที่สองนี้ยังถูกสั่งห้ามขับร้องโดยกษัตริย์ชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ตั้งแต่ปี 1925 จนกระทั่งถูกโค่นล้มบัลลังก์ในปี 1941 ชาห์ได้สั่งห้ามเพลงนี้หลังตนได้ฟังเพลงนี้ในงานพบปะที่บ้านของรัฐมนตรีคนหนึ่ง[3] บทความในหนังสือพิมพ์ เคย์ฮอน ของอิหร่านระบุว่าเนื้อเพลงบทที่สองนี้จะ "ขับร้องกันในงานสังสรรค์ส่วนตัว ที่ซึ่งบรรยากาศอำนวยต่อการถกเถียงเรื่องการเมือง" ในขณะที่เนื้อเพลงบทแรกมักขับร้องกันในที่สาธารณะ[3]

ประวัติศาสตร์ แก้

ศิลปินอาชีพคนแรกที่ขับร้องเพลงนี้ในที่สาธารณะคือ แกแมโรลโมลูก แวซีรี เธอขับร้องเพลงนี้ในการแสดงขับร้องอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเธอในปี 1924 ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเตหะราน[3] เพลงนี้มีการอัดเสียงครั้งแรกในปี 1927 โดย Iranoddole Helen หรือทอจ เอสแฟฮอนี และหนึ่งในการอัดเสียงชุดแรก ๆ ของเพลงนี้เป็นผลงานของโมลูก แซร์รอบี[8] ต่อมาศิลปินอิหร่านอีกจำนวนมากได้นำเพลงนี้มาขับร้อง รวมถึงแกแมโรลโมลูก แวซีรี, โมแฮมแมดเรซอ แชแจรียอน, เลย์ลอ โฟรูแฮร์, โฮมอยูน แชแจรียอน, แฟร์ฮอด เมฮ์รอด, แชคีลอ, โมฮ์เซน นอมจู,[2] เรซอ ซอเดฆี และแฮงกอเม แอแฆวอน

เพลงนี้ถูกมองว่าเป็นเพลงยอดนิยมและเพลง "เอกลักษณ์" ของโมแฮมแมดเรซอ แชแจรียอน[9][10] นักร้องอาวุโสซึ่งยังเป็นบุคคลสาธารณะที่มีบทบาทเรียกร้องประชาธิปไตยในอิหร่านมายาวนาน[6] เขาจะขับร้องเพลงนี้ปิดท้ายในงานแสดงดนตรีของเขาทุกงาน[11][7] เมื่อเขาเสียชีวิตในปี 2020 ฝูงชนจำนวนมากได้มารวมตัวกันที่โรงพยาบาลแจมที่ซึ่งเขาเข้ารับการรักษา ฝูงชนได้ร่วมกันขับร้องเพลง โมร์เฆแซแฮร์ และกล่าวคำขวัญต่อต้านเผด็จการในอิหร่าน ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาใช้กำลังเพื่อสลายฝูงชน[10]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Emery (October 2020). "Iran's songs of love and liberation". Le Monde Diplomatique. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |forst= ถูกละเว้น (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 "MORḠ-E SAḤAR – Encyclopaedia Iranica". Iranicaonline.org. สืบค้นเมื่อ 2012-10-14.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Nouri, Nazanine (October 14, 2020). "Iranians Remember Master Vocalist Shajarian With His Freedom Song 'Morgh e Sahar'". Kayhan Life. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.
  4. Alexandra, Rae (August 17, 2021). "Artists In and Outside of Afghanistan Depict the Agony of the Taliban Takeover". KQED. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.
  5. Fassihi, Farnaz (October 8, 2020). "Mohammad Reza Shajarian, Iranian Master Singer and Dissident, Dies at 80". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-06-06.
  6. 6.0 6.1 Siamdoust, Nahid (May 2, 2017). "MODERN IRAN IN 8 SONGS: From classical melodies to rap, Iran's music reveals its long struggle for political freedom". Stanford University Press. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.
  7. 7.0 7.1 "Remembering Iranian singer Mohammad Reza Shajarian". NPR Music. October 9, 2020. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.
  8. "Tehran orchestra, world-renowned musicians team up to remake "Morghe Sahar"". Tehran Times. 21 June 2020. สืบค้นเมื่อ 27 June 2020.
  9. Seyyed Mostafa Mousavi Sabet (October 9, 2020). "Vocalist Mohammadreza Shajarian to lay to rest in Ferdowsi mausoleum". Tehran Times. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.
  10. 10.0 10.1 "Iran's voice of protest falls silent". Morning Star. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.
  11. Inskeep, Steve (September 27, 2010). "Mohammad Reza Shajarian: Protest Through Poetry". NPR Music. สืบค้นเมื่อ 2023-08-22.