แอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์ สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี

แอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์ (โปแลนด์: Elżbieta Łokietkówna) เป็นพระราชินีแห่งฮังการีจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้ากาโรยที่ 1 แห่งฮังการี และเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งโปแลนด์ระหว่าง ค.ศ. 1370–1376 ให้แก่พระเจ้าลอโยชที่ 1 แห่งฮังการี พระโอรส

แอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์
พระราชินีแอลช์บีแยตาแห่งฮังการีกับพระโอรสทั้งห้าจากเอกสารคริสต์ศตวรรษที่ 15
พระราชินีคู่สมรสแห่งฮังการี
ครองราชย์ค.ศ. 1320–1342
ประสูติค.ศ. 1305
สิ้นพระชนม์29 ธันวาคม ค.ศ. 1380 (74–75 พรรษา)
พระสวามีพระเจ้ากาโรยที่ 1 แห่งฮังการี
พระบุตรพระเจ้าลอโยชที่ 1 แห่งฮังการีและโปแลนด์
อ็อนดราช ดยุคแห่งคาลาเบรีย
อิสต์วาน ดยุคแห่งสลาโวเนีย
กาโรยแห่งฮังการี
ววาดึสวัฟแห่งฮังการี
ราชวงศ์เปียสต์
พระบิดาพระเจ้าววาดึสวัฟที่ 1 แห่งโปแลนด์
พระมารดายัดวีกาแห่งกาลิช สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการี

พระราชประวัติ

แก้
 
พิธีอภิเษกสมรสกับกษัตริย์แห่งฮังการีของแอลช์บีแยตาจากเอกสารคริสต์ศตวรรษที่ 14

แอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์เสด็จพระราชสมภพราวปี ค.ศ. 1305 เป็นพระธิดาของพระเจ้าววาดึสวัฟที่ 1 แห่งโปแลนด์กับพระราชินียัดวีกาแห่งกาลิช มีพระเชษฐภคินีหนึ่งคนคือกูแนกุนดา และมีพระอนุชาหนึ่งคนคือกาชีมีแยช พระบิดาของพระองค์ได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1320 ต่อมาในปีเดียวกันแอลช์บีแยตาแต่งงานเป็นพระมเหสีคนที่สามของพระเจ้ากาโรย (ชาร์ล) ที่ 1 แห่งฮังการี การแต่งงานดังกล่าวทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างโปแลนด์กับฮังการีแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและเป็นยุคแห่งความร่วมมือกันอันยาวนาน โดยเฉพาะในด้านการค้าและการเมือง ระหว่างสองราชอาณาจักร พระเจ้ากาโรยไม่มีพระโอรสธิดาที่มีชีวิตรอดแม้จะแต่งงานมาแล้วสองครั้ง และพระองค์ยังเป็นกษัตริย์แห่งฮังการีคนแรกของราชวงศ์อ็องฌู แอลช์บีแยตาให้กำเนิดพระโอรสห้าคน สร้างความมั่นคงให้แก่อนาคตของราชวงศ์อ็องฌูในฮังการี พระโอรสสองคนแรกของแอลช์บีแยตาสิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก แต่อีกสามคน คือ ลอโยช (หลุยส์), อ็อนดราช (อ็องเดร) และอิสต์วาน (เอเตียน) สิ้นพระชนม์หลังพระบิดา

เหตุการณ์ซาห์

แก้
 
ภาพ "ความโกรธของแฟลิตเซียน ซาห์" วาดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยโชมอ โอร์ล็อย แปตริตช์

วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1330 เกิดเหตุการณ์ที่มีชื่อว่า "เหตุการณ์ซาห์" ที่ทำให้แอลช์บีแยตากับครอบครัวเกือบเอาชีวิตไม่รอด กษัตริย์, พระราชินี และลอโยชกับอ็อนดราช สองพระโอรสที่ยังเล็กกำลังเสวยมื้อเย็นกันอยู่ที่พระราชวังวิแซกราด ในตอนนั้นเองที่แฟลิตเซียน ซาห์ อัศวินฮังการีผู้ทรงอำนาจบุกเข้ามาและพยายามจะฆ่าครอบครัวของกษัตริย์ แอลช์บีแยตาถูกโจมตีจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เสียนิ้วมือข้างขวาไปสี่นิ้ว ขณะที่พระองค์กำลังพยายามปกป้องพระโอรสทั้งสองที่ยังคงไร้ซึ่งบาดแผล องครักษ์ก็ได้สังหารซาร์ทันที

ไม่มีใครรู้ถึงแรงบันดาลใจในการพยายามลอบสังหารของซาห์ในครั้งนี้ เรื่องเล่าส่วนใหญ่ต่างบอกว่าแอลช์บีแยตาและกาชีมีแยช พระอนุชาของพระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ซาห์ โดยเล่าว่ากาชีมีแยชได้แวะมาที่ราชสำนักฮังการีและได้ล่อลวงหรือไม่ก็ข่มขืนกลารอ บุตรสาวของซาห์ที่เป็นนางกำนัลของแอลช์บีแยตา กว่าซาห์จะทราบเรื่องกาชีมีแยชก็กลับโปแลนด์ไปแล้ว แต่ซาห์เชื่อว่าแอลช์บีแยตาช่วยพระอนุชาล่อลวงบุตรสาวของตน ด้วยความต้องการที่จะแก้แค้นให้กับเกียรติของบุตรสาวที่ถูกขโมยไป ซาห์จึงพยายามสังหารครอบครัวของกษัตริย์ทุกคนโดยมีแอลช์บีแยตาเป็นเป้าหมายหลัก หลังความพยายามล้มเหลว กษัตริย์ได้ทรมานสมาชิกในครอบครัวและญาติใกล้ชิดของซาห์ รวมถึงกลารอ จนเสียชีวิต ญาติที่อยู่ห่างออกไปถูกริบทรัพย์สินที่ดินทั้งหมด กาชีมีแยชกลายเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ในปี ค.ศ. 1333

แอลช์บีแยตากับเนเปิลส์

แก้
 
ภาพวาดการประสูติของลอโยชในพงศาวดารภาพ

ในช่วงที่พระเจ้ากาโรยแห่งฮังการียังมีชีวิตอยู่ แอลช์บีแยตาได้ปกปิดความทะเยอทะยานทางการเมืองของพระองค์ไว้ อย่างไรก็ดี พระองค์เป็นพระราชินีคู่สมรสที่มีบทบาทและเริ่มทำกิจกรรมโปรดอย่างหนึ่งของพระองค์ คือ การก่อตั้งสถานที่ทางศาสนาในช่วงที่พระสวามียังมีชีวิต โบสถ์หลายแห่งในฮังการีเปิดในช่วงที่แอลช์บีแยตามีชีวิตและติดหนี้บุญคุณพระองค์ วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1342 พระเจ้ากรอยสิ้นพระชนม์ ลอโยช พระโอรสวัย 16 พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งฮังการีคนใหม่ อิทธิพลของแอลช์บีแยตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และพระองค์จะยังคงเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ในรัชสมัยของพระโอรส ตลอดชีวิตที่เหลือ พระนางเป็นที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ที่สุดของพระเจ้าลอโยช

พระโอรสของแอลช์บีแยตาและพระเจ้ากาโรยต่างแต่งงานเพื่อผลประโยชน์ อ็อนดราช พระโอรสคนที่สองแต่งงานกับโจวันนาแห่งเนเปิลส์ที่เป็นสมาชิกราชวงศ์อ็องฌูเช่นกัน มีการวางแผนที่จะให้ลอโยชแต่งงานกับมารีอา น้องสาวของโจวันนา ทว่าหลังพระสวามีสิ้นพระชนม์ได้ไม่นาน แอลช์บีแยตาจับลอโยชแต่งงานกับมาร์กาเร็ตแห่งโบฮีเมีย อิสต์วาน พระโอรสคนเล็กแต่งงานกับมาร์กาเร็ต พระธิดาของจักรพรรดิลูทวิชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ กาโรยให้อ็อนดราชแต่งงานกับโจวันนาโดยให้เงื่อนไขว่าทั้งคู่ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ของเนเปิลส์ร่วมกัน ทว่าเมื่อพระเจ้าโรแบร์โตแห่งเนเปิลส์ พระอัยกาของโจวันนาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1343 ทรงยกเนเปิลส์ให้โจวันนาคนเดียวโดยไม่ได้กล่าวถึงอ็อนดราช โจวันนาได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งเนเปิลส์เพียงผู้เดียว เรื่องนี้ทำให้แอลช์บีแยตากับพระโอรสของพระองค์โกรธเกรี้ยวมาก

 
ภาพการลอบปลงพระชนม์อ็อนดราช ดยุคแห่งคาลาเบรีย วาดโดยคาร์ล บรูยล์ลอฟ

เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1343 แอลช์บีแยตาเดินทางไปเนเปิลส์พร้อมกับขบวนขุนนางฮังการีเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ให้พระโอรส พระองค์พยายามติดสินบนสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อให้พระองค์อนุมัติให้อ็อนดราชได้รับการสวมมงกุฎ ทรงใช้เวลาหลายเดือนตระเวนไปทั่วอิตาลีเพื่อหาผู้สนับสนุนการราชาภิเษกของพระโอรส สุดท้ายทรงเดินทางกลับฮังการีด้วยความเชื่อว่าอ็อนดราชจะได้รับการยอมรับเป็นผู้ปกครองร่วมของพระราชินีนาถโจวันนา ทรงทิ้งอ็อนดราชไว้กับแหวนที่เชื่อว่าสามารถปกป้องพระองค์จากคมดาบและยาพิษได้ แต่ความพยายามของพระองค์สูญเปล่า อ็อนดราชถูกลอบปลงพระชนม์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1345

แม้ทุกวันนี้จะยังคงไม่รู้ว่าใครคือผู้ร้ายตัวจริงที่สังหารอ็อนดราช แต่แอลช์บีแยตากับพระเจ้าลอโยชเชื่อว่าเป็นฝีมือของพระราชินีนาถโจวันนา ทั้งคู่เรียกร้องให้ริบราชอาณาจักรมาจากพระราชินีนาถโจวันนา เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1346 แอลช์บีแยตาเขียนจดหมายถึงสมเด็จพระสันตะปาปาที่ "ดูคล้ายกับการประกาศสงคราม" พระเจ้าลอโยชบุกเนเปิลส์ในปีต่อมาเพื่อยึดเอาตำแหน่งของพระราชินีนาถโจวันนา สุดท้ายการรุกรานของพระองค์ไม่ประสบความสำเร็จ ทรงเดินทางกลับฮังการี

ที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ที่สุดของกษัตริย์

แก้

ปี ค.ศ. 1349 กาฬโรคระบาดในฮังการี สังหารมาร์กาเร็ต พระมเหสีสาวของพระเจ้าลอโยช พระเจ้าลอโยชยังไม่มีพระโอรสธิดาจึงจำเป็นต้องแต่งงานใหม่ เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1353 พระเจ้าลอโยชอภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งบอสเนีย การแต่งงานครั้งนี้อาจมาจากการจัดแจงของแอลช์บีแยตาแห่งโปแลนด์ พระสุณิสาคนใหม่ของแอลช์บีแยตาดูจะอยู่ใต้อำนาจของพระองค์อย่างเบ็ดเสร็จและไม่มีราชสำนักเป็นของตัวเอง หลาย ๆ เหตุการณ์ในเวลาต่อมาทำให้มองได้ว่าพระราชินีแอลช์บีแยตาผู้โด่งดังมีอิทธิพลต่อเอลิซาเบธอย่างมาก

อิสต์วาน พระโอรสคนเล็กของแอลช์บีแยตาตกจากหลังม้าสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1354 ในบรรดาพระโอรสธิดาห้าคนของพระองค์ มีพระเจ้าลอโยชคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าลอโยชกับแอลช์บีแยตาสนิทสนมกันมาก พระเจ้าลอโยชรีบออกตัวปกป้องพระมารดาทันทีเมื่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เรียกพระนางว่า "หญิงไร้ยางอาย" พระเจ้าลอโยชโกรธจัดและเรียกร้องให้จักรพรรดิขอโทษ แอลช์บีแยตามักทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงที่พระโอรสไม่อยู่ในราชอาณาจักร

ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งโปแลนด์

แก้

พระเจ้ากาชีมีแยชที่ 3 แห่งโปแลนด์ พระอนุชาของแอลช์บีแยตาไม่มีพระโอรสและมองว่าแอลช์บีแยตาและพระเจ้าลอโยชเป็นทายาทของตน เมื่อสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1370 โดยมีเพียงพระธิดาจากการแต่งงานครั้งที่สี่ที่ยังเล็กสองคน แต่เป็นที่คลางแคลงใจว่าทั้งคู่เป็นพระธิดาตามกฎหมายหรือไม่เนื่องจากพระมเหสีคนที่สองยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้ากาชีมีแยชยังมีพระธิดาจากการแต่งงานครั้งแรกอีกสองคนที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนพระองค์ คนหนึ่งมีบุตรทิ้งไว้ แต่พระเจ้ากาชีมีแยชเลือกลอโยช พระภาคิไนย เป็นทายาทแทนที่จะเป็นพระนัดดา ถึงแม้พระมารดาจะเป็นชาวโปแลนด์ แต่ลอโยชพูดภาษาโปแลนด์ไม่ได้และไม่ค่อยได้ไปเยือนโปแลนด์ เมื่อลอโยชได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1370 ไม่นานพระองค์ก็เดินทางกลับฮังการี แอลช์บีแยตายังคงอยูในโปแลนด์เพื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

แอลช์บีแยตาไม่ได้รับความนิยมในบ้านเกิดของพระองค์ ขุนนางโปแลนด์เรียกพระองค์ว่า "พระราชินีนิ้วกุด" เป็นการล้อเลียนบาดแผลจากเหตุการณ์ซาห์เมื่อหลายปีก่อน ทรงพาชาวฮังการีมากมายมาอยู่กับพระองค์ เป็นสาเหตุให้ชาวโปแลนด์ไม่พอใจ ขณะเดียวกันพระโอรสของพระองค์กำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกันกับพระเจ้ากาชีมีแยช พระเจ้าลอโยชยังไม่มีพระโอรสธิดา แต่สุดท้ายพระมเหสีของพระองค์ก็ให้กำเนิดพระธิดาสามคนในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1370 เนื่องจากไม่มีพระโอรส แอลช์บีแยตาจึงสำเร็จราชการในโปแลนด์เพื่อรักษาสิทธิ์ไว้ให้พระนัดดา

ในช่วงที่แอลช์บีแยตาสำเร็จราชการมีเหตุโจรกรรมและฉกชิงทรัพย์มากมายในราชอาณาจักร เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1375 พระองค์กลับไปฮังการีเพื่ออยู่ใกล้พระเจ้าลอโยชที่กำลังต่อสู้กับโรคร้ายที่ว่ากันว่าคล้ายคลึงกับโรคเรื้อน ทว่าทรงเดินทางกลับโปแลนด์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1376 แต่อยู่ได้ไม่นาน ฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น เจ้าชายลิทัวเนียบุกโปแลนด์ เผาหมู่บ้านและจับชาวบ้านเป็นนักโทษ แอลช์บีแยตาถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมฟังคำเตือนเรื่องการโจมตีครั้งนี้ วันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1376 เกิดเหตุทะเลาะวิวาทในกรากุฟระหว่างชาวโปแลนด์กับชาวฮังการีในราชสำนักของแอลช์บีแยตาอันนำไปสู่การสังหารหมู่ที่ชาวฮังการีหลายคนของแอลช์บีแยตาถูกสังหาร ด้วยความหวาดกลัวว่าชีวิตจะตกอยู่ในอันตราย แอลช์บีแยตาหนีไปฮังการีด้วยความอับอายขายหน้า

บั้นปลายชีวิต

แก้

แอลช์บีแยตาเกษียณตัวไปใช้ชีวิตในทางศาสนาหลังสิ้นสุดการสำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ดูเหมือนพระองค์จะไม่เคยรับคำปฏิญาณตนอย่างเป็นทางการ ในช่วงสี่ปีสุดท้ายพระองค์พอจะมีบทบาทในการเมืองของโปแลนด์อยู่บ้าง ทรงกลับไปโปแลนด์ครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1379 เพื่อช่วงรักษาสิทธิ์ในราชบัลลังก์โปแลนด์ให้พระนัดดา ในช่วงใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต ดูเหมือนพระองค์จะยังคงมีบทบาทอยู่ ทรงเดินทางกลับฮังการีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1380 แอลช์บีแยตาสิ้นพระชนม์ในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1380 ด้วยพระชนมายุราว 75 พรรษา นับว่าทรงอายุยืนมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของคริสต์ศตวรรษที่ 14 ร่างของพระองค์ถูกฝังในอารามนักบุญกีอาราในบูดอ หนึ่งในสถานที่ทางศาสนาที่พระองค์ก่อตั้ง พระเจ้าลอโยช พระโอรสที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1382

อ้างอิง

แก้